- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- เปิดพฤติการณ์คดีสินบน 3 ล. ซี 9 รพช. เบิกเงินสดจากแบงก์ไปจ่ายถึงห้องทำงาน
เปิดพฤติการณ์คดีสินบน 3 ล. ซี 9 รพช. เบิกเงินสดจากแบงก์ไปจ่ายถึงห้องทำงาน
ละเอียดยิบ!คำพิพากษาคดีค่าสมนาคุณ 3 ล. ใน รพช. แลกไม่ให้ถูกย้ายเข้ากรุ ข้อเท็จจริง-ข้อกม. หลักฐาน พยาน ผู้เสียหายมัดขับรถจาก จ.ขอนแก่น เปิด ร.ร. รุ่งขึ้นเบิกเงินสดจากแบงก์ ไปจ่ายถึงห้องทำงาน ก่อนจำคุก 6 ปี ซี 9
กรณีศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี นายทวี ทวีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ (ระดับ 9) สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กรณีรับเงิน 3 ล้านบาทจากนายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น เพื่อช่วยเหลือมิให้นายประสิทธิ์ถูกโยกย้ายมารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ระดับ 8 ในส่วนกลาง (คดีหมายเลขแดงที่ อ.3545/2558) ตามข่าวก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ: ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญในคำพิพากษามาเสนอดังนี้
@ความเป็นมา : ค่าสมนาคุณ ไม่ต้องถูกย้ายออกจากขอนแก่น
ขณะเกิดเหตุ นายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ผู้เสียหายดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น นายทวี ทวีวงศ์ จำเลย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ สำนักงาน รพช. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับอัตรากำลังทั้งหมดของสำนักงาน เกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้ง การเก็บทะเบียนประวัติ และเรื่องวินัยข้าราชการ รวมทั้งยังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลข้าราชการเพื่อเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนระดับข้าราชการทั้งหมด
ในวันเกิดเหตุ วันที่ 18 มี.ค.2540 มีการเบิกเงินจากบัญชีสะพัดของผู้เสียหาย เลขที่บัญชี 025-3-02272 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์ จำนวน 3 ล้านบาท ภายหลังเกิดเหตุวันที่ 22 เม.ย.2540 ผู้เสียหายถูกย้ายไปยังศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร ต่อมาผู้เสียหายร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ว่านายทวี ทวีวงศ์ เรียกรับเงินจากผู้เสียหาย เพื่อเป็นค่าสมนาคุณที่ผู้เสียหายไม่ต้องย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น ในชั้นไต่สวนจำเลยให้การปฏิเสธ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จากนั้นส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งให้ยื่นฟ้องจำเลย
@คำวินิจฉัยต่อกระบวนไต่สวนของ ป.ป.ช.
จำเลยต่อสู้ว่ากระบวนการการไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิด เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2540 ซึ่งเป็นเวลาก่อน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 บังคับใช้ จึงเป็นกฏหมายที่บังคับใช้ย้อนหลัง
ศาลวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2542 ซึ่งแม้เป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุในคดีนี้ แต่ในขณะที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินคดีกับจำเลย เป็นเวลาภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้แล้ว โดยมาตรา 19 ของ กฎหมาย ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ หรือกฎหมายวิธีพิจาณาความ จึงมิใช่กฎหมายที่บัญญัติความผิดและกำหนดโทษไว้ที่จะต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ตามที่จำเลยต่อสู้
เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ บัญญัติเป็นความผิดอยู่แล้วก่อนเกิดเหตุ อีกทั้งขณะเกิดเหตุและในขณะผู้เสียหายร้องทุกข์ จำเลยยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงชอบด้วยกฎหมาย
@ ถอนเงินแบงก์ไทยพาณิชย์ สาขาวิสุทธิกษัตริย์
จากการไต่สวนได้ความจากผู้เสียหาย เบิกความประกอบคำให้การในชั้นไต่สวนว่า ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายนำเงินจำนวน 3 ล้านบาท ไปให้จำเลยที่ห้องทำงานจำเลย กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงาน รพช. เป็นค่าสมนาคุณที่จะไม่ต้องย้ายออกไปจากจังหวัดขอนแก่น หากไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลย จะมีผลให้ถูกย้าย เพราะผู้เสียหายทราบว่าถูกย้ายมารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการระดับ 8 ในส่วนกลาง แต่ยังไม่เห็นคำสั่ง เพราะถ้าคำสั่งออกแล้ว แต่ยังไม่เวียน สามารถยกเลิกคำสั่งได้
วันดังกล่าวมีนายไพฑูรย์ ศรีอรรคจันทร์ และนายไพรินทร์ ปิตะโพธิ์ โดยผู้เสียหายนำเช็คของผู้เสียหายไปเบิกเงินสดจำนวน 3 ล้านบาท จากบัญชีเลขที่ 025-3-02272 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิสุทธิกษัตริย์ เมื่อไปถึงที่ทำงานของจำเลย ผู้เสียหายและนายไพฑูรย์ได้ไปที่ห้องจำเลย ส่วนบุคคลอื่นรออยู่ชั้นล่าง นายไพฑูรย์เป็นคนถือถุงเงินจำนวน 3 ล้านบาท เมื่อถึงหน้าห้องจำเลย นายไพฑูรย์รออยู่หน้าห้อง และนายไพฑูรย์ส่งมอบถุงเงินให้ผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายถือถุงเงินเขาไปในห้องจำเลยผู้เดียว เมื่อผู้เสียหายเข้าไปในห้องพบจำเลยอยู่ในห้องคนเดียวตามที่นัดหมาย แล้วผู้เสียหายมอบถุงเงินจำนวน 3 ล้าน บาท ให้แก่จำเลย
และได้ความจากนายไพรินทร์ ปิตะโพธิ์ พยานโจทก์เบิกความประกอบคำการให้ในชั้นไต่สวนว่า ในวันเกิดเหตุพยานเดินทางจากจังหวัดขอนแก่นไปสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กรุงเทพมหานคร พร้อมผู้เสียหายกับคนอื่นอีกหลายคน เมื่อไปถึงสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จะมีใครขึ้นไปบนสำนักงานบ้างจำไม่ได้ พยานไม่ได้ขึ้นไปด้วย พยานทราบจากผู้เสียหายว่าเงินจำนวน 3 ล้านบาท ได้นำไปให้จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้อง เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายต้องถูกย้ายไปที่อื่น
@ ผู้เสียหาย-พวก 3 คนร่วมหิ้ว 3 ล้านจ่ายที่ห้องทำงาน
เห็นว่าผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า ผู้เสียหายเดินทางไปเบิกเงินจำนวน 3 ล้านบาท ที่ธนาคารพร้อมกับนายไพฑูรย์และนายไพรินทร์ แล้วนำไปมอบให้จำเลยที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท เพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสียหายไม่ต้องย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น เมื่อไปถึงสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ผู้เสียหายกับนายไพฑูรย์ขึ้นไปยังห้องทำงานของจำเลยพร้อมเงินจำนวน 3 ล้านบาท
แม้นายไพรินทร์จะเบิกความว่าจะมีใครขึ้นไปบนสำนักงานบ้างจำไม่ได้ พยานไม่ได้ขึ้นไปด้วย แต่ในคำให้การชั้นไต่สวน นายไพรินทร์ได้ให้การว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2540 ผู้เสียหายชวนพยานเดินทางไปพร้อมกับนายไพฑูรย์ เพื่อเบิกเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิสุทธิกษัตริย์ เป็นเงินสดจำนวน 3 ล้านบาท แล้วเดินทางต่อไปยังสำนักงาน รพช.(กรุงเทพ) เมื่อไปถึงสำนักงาน ผู้เสียหายและนายไพฑูรย์ เดินทางขึ้นไปที่อาคารสำนักงาน รพช. โดยนายไพฑูรย์ เป็นผู้ถือกล่องกระดาษใส่เงินที่เบิกจากธนาคาร ส่วนพยานรออยู่ที่รถ สอดคล้องกับใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดที่ระบุว่ามีการถอนเงินจำนวน 3 ล้าน บาท จากบัญชีเดินสะพัดของผู้เสียหาย ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์ ในวันที่ 18 มีนาคม 2540
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับคำให้การในชั้นไต่สวนของนายไพฑูรย์ ที่ให้การว่า นายไพฑูรย์และผู้เสียหายเคยไปเบิกเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์ กรุงเทพมหานคร ประมาณต้นปี 2540 จำนวน 3 ล้านบาท แล้วนำเงินใส่กล่องกระดาษและเดินทางไปยังสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท เมื่อไปถึงผู้เสียหายให้นายไพฑูรย์อุ้มกล่องบรรจุเงินดังกล่าวแล้วเดินไปยังห้องทำงานของจำเลย เมื่อไปถึงห้องทำงานจำเลย นายไพฑูรย์มอบกล่องใส่เงินให้ผู้เสียหาย
แม้คำให้การนายไพฑูรย์ดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เนื่องจากนายไพฑูรย์มีอาการป่วยจนไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลได้ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นและสมควรที่ศาลจะรับฟังคำให้การดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ ซึ่งแม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่าเงินจำนวน 3 ล้านบาท ดังกล่าวใส่ในถุง แต่ชั้นไต่สวนผู้เสียหายให้การว่าเงินใส่อยู่กล่องกระดาษ กรณีดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ประกอบกับเหตุเกิดนานแล้ว ผู้เสียหายอาจจดจำคลาดเคลื่อนได้
คดีคงได้ความในสาระสำคัญคือผู้เสียหายนำเงินจำนวน 3 ล้านบาท ไปมอบให้จำเลย เมื่อพยานโจทย์ดังกล่าวเบิกความประกอบคำให้การและพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนสอดคล้องกันเป็นลำดับตั้งแต่เดินทางไปเบิกเงินจากธนาคารแล้วนำไปให้กับจำเลยโดยไม่มีพิรุธ และไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยให้ต้องรับโทษโดยไม่มีมูลความจริง เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามข้อเท็จจริงที่รู้เห็นมา อันเป็นการสอดคล้องเชื่อมโยงกันสมเหตุผล พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังว่าในวันเกิดเหตุผู้เสียหายได้นำเงินจำนวน 3 ล้านบาท ไปมอบให้จำเลยที่ห้องทำงานของจำเลย กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท เพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสียหายไม่ต้องย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น อันเป็นการรับทรัพย์สินสำหรับตนเอง เพื่อกระทำการช่วยเหลือผู้เสียหายตามอำนาจหน้าที่ของรักษาการผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ที่ตนดำรงตำแหน่ง
@จำเลยอ้างพยาน 2 คนในศาล แต่ไม่อ้างใน ป.ป.ช.
ที่จำเลยต่อสู้ว่า นางสาวสุมาลี ประกอบไวยกิจ และนางสาวกาญจนา ธรรมนิตยางกรู พยานจำเลย ซึ่งเป็นข้าราชการ ปฏิบัติงานที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ไม่เคยเห็นผู้เสียหายมาพบจำเลย ที่ห้องผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่นั้น
โดยปกติแล้วในสถานที่ราชการจะมีผู้มาติดต่อราชการในแต่ละวันจำนวนมาก ประกอบกับเหตุเกิดนานแล้ว จึงเป็นการไม่แน่ว่าพยานจำเลยจะจดจำเหตุการณ์ในวันเกิดได้ อีกทั้งพยานจำเลยไม่เคยให้การไว้ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และจำเลยก็ไม่ได้อ้างพยานทั้งสองปากเป็นพยานในชั้นไต่สวน ซึ่งการจะนำพยานปากใดมาไต่สวนเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่พิจารณาว่าพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยแล้วหรือไม่
การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ไต่สวนพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงไม่ทำให้พยานฐาน ในการไต่สวนไม่มีน้ำหนักรับฟัง การที่พยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่าไม่เคยเห็นผู้เสียหายมาหาจำเลย ที่ห้องผู้อำนวยการจึงไม่ทำให้พยานโจทก์มีข้อพิรุธแต่อย่างใด
@ขับรถจากขอนแก่น เข้าพักโรงแรม รุ่งขึ้นไปจ่ายเงิน
ที่จำเลยต่อสู้ว่า นายไพฑูรย์ให้การในชั้นไต่สวนว่านายประเสริฐเป็นคนขับรถไปธนาคารเพื่อเบิกเงิน แต่นายไพฑูรย์ให้การภายหลังว่านายจักรกฤษเป็นคนขับรถไปธนาคาร แต่นายประเสริฐและนายจักรกฤษให้การในชั้นไต่สวนว่าไม่เคยขับรถไปธนาคาร เพียงแต่ขับรถไปกรุงเทพฯนั้น แม้นายประเสริฐ ดิษดำ และนายจักรกฤษ สถิตรัชตสถาพร ให้การในชั้นไต่สวน ในทำนองเดียวกันว่าไม่เคยไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิสุทธิกษัตริย์ แต่นายประเสริฐและนายจักรกฤษให้การทำนองเดียวกันว่า เมื่อปี 2540 เคยขับรถไปกรุงเทพฯ โดยเข้าพักที่โรงแรมโกลเด้นฮอสแล้วเดินทางต่อไปยังสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท สอดคล้องกับผู้เสียหายที่เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเดินทางจากขอนแก่นมากรุงเทพฯ พักค้างคืนอยู่โรงแรมโกลเด้นฮอส ซึ่งการเดินทางไปธนาคารด้วยหรือไม่ เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่พอฟังว่าพยานหลักฐานโจทก์มีข้อพิรุธ
@ความผิดสำเร็จ รับเงิน 3 ล้าน
และที่จำเลยต่อสู้ว่า ภายหลังเกิดเหตุ วันที่ 22 เม.ย.2540 ผู้เสียหายถูกย้ายไปอยู่ศูนย์ รพช.สกลนคร จึงไม่น่าเชื่อว่าได้มีการจ่ายเงินแล้วจะไม่ถูกย้ายนั้น
เมื่อรับฟังว่าในวันเกิดเหตุจำเลยรับเงินจากผู้เสียหายตามฟ้องแล้ว แม้ภายหลังเกิดเหตุในเดือน เม.ย. 2540 ผู้เสียหายจะถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น ก็ไม่ได้ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วไม่เป็นความผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลข้าราชการ เพื่อเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ได้รับเงินจากผู้เสียหายจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสียหายไม่ต้องย้ายออกจากศูนย์ รพช.ขอนแก่น ตามอำนาจหน้าที่ของตน ในตำแหน่ง รักษาการผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองเพื่อกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดอย่างใดในตำแหน่งตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาว่าจำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำคุก 6 ปี