เบื้องหลังจ่าย 3 ล.! คำให้การ ซี 8 “นายให้นโยบายต้องจัดส่งค่าบริหารงาน 1%”
เปิดเบื้องหลังโอนเงินให้ ‘เสี่ย ป.’! คำให้การ ซี 8 อดีต รพช. “นายโทร.มาถาม อยากทำงานที่ขอนแก่นหรือไม่” หิ้วเงินไปให้ 5 แสน จ่ายรวม 3 ล้าน ผู้รับเหมาช่วย -ซัดนายให้นโยบายต้องจัดส่งค่าบริหารงาน 1%ของงบประมาณโครงการ
กรณีเรียกรับสินบนในสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ที่มีข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง
1.นายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น ที่อ้างถูกเรียกรับเงินในช่วงปี 2538-2540 จำนวน 8 ครั้ง ประมาณ 28 ล้านบาท 1 ใน 8 ครั้ง คือ ให้ นายจั่ว หาญห้าว ลูกน้องนายประสิทธิ์ โอนเงินจาก ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนประชาสโมสร จ.ขอนแก่น จำนวน 3 ล้านบาท เข้าบัญชีเงินฝากของนักธุรกิจขายเครื่องจักรกลชื่อ 'ป.' หรือ 'เสี่ย ป.' (ขอปิดชื่อ) ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนมหาไชย เลขที่ 037-2-048xxx จากนั้น เจ้าของบัญชีผู้รับโอนจะไปส่งต่อให้ข้าราชการระดับสูงอีกทอด
2.นายบุญส่ง วิจักษณบุญ อดีตเจ้าหน้าที่ รพช.นครพนม โอนเงินจำนวน 2,500,000 บาท โดยมีหลักฐานเป็นใบโอนเงิน (MONEY TRANSFER) 2 ใบ รวม 2,500,000 บาท ทั้ง 2 ใบโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนักธุรกิจขายเครื่องจักรกลชื่อ 'ป.' หรือ 'เสี่ย ป.' ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนมหาไชย เลขที่ 037-2-048xxx (บัญชีเดียวกับนายจั่ว)
3.นายวีระพงษ์ แสงศิลา เจ้าหน้าที่สำนักงาน รพช. จ.หนองคาย โอนเงินจาก ธนาคารกสิกรไทย สาขาหนองคาย เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2540 จำนวน 500,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของ 'นาย ป.' หรือ 'เสี่ย ป.' เช่นเดียวกัน (อ่านประกอบ : พบอีก 2 ขรก. โผล่โอนเงินเข้าบัญชี'เสี่ย ป.'ใกล้ชิดบิ๊ก รพช. 3 ล. 'ไม่รู้ค่าอะไร')
ครานี้มาดูราย นายวรพจน์ อดีต เจ้าหน้าที่ รพช. อีกคนกันบ้าง
นายวรพจน์ ให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. 2 ครั้ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ครั้งแรกวันที่ 10 ก.ย. 2545 สรุปสาระสำคัญว่า รับราชการครั้งแรก ปี 2508 นายช่างตรีกรมอนามัย ต่อมา ปี 2516 โอนมาทำงานที่ศูนย์ รพช.ขอนแก่น
เคยถูกผู้บังคับบัญชาเรียกรับเงิน เพื่อการโยกย้ายตำแหน่ง 2 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อปี 2538 ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง รพช. จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน (ระดับ 8) ประมาณกลางปี 2538 นาย...(ขอปิดชื่อและตำแหน่ง) ผู้บริหารระดับสูงได้โทรศัพท์มาหานอกเวลาราชการ จากสำนักงาน รพช.
“นาย…(ผู้บริหารระดับสูง) ซึ่งข้าฯ ไม่เคยรู้จักสนิทสนมกันมาก่อน เพียงแต่ว่า เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าฯ ได้ถามข้าฯ ว่า อยากจะกลับมาทำงานที่ขอนแก่นหรือไม่ ข้าฯ ได้ตอบไปว่า อยากจะมาทำงานที่ขอนแก่น และนายฯ รับปากว่าจะช่วยให้ หลังจากนั้น อีกประมาณ 1 เดือนได้มีคำสั่ง เปลี่ยนตำแหน่ง รพช. จ. (ที่นายวรพจน์ดำรงตำแหน่งอยู่) กับ รพช. จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นคำสั่งนอกฤดูกาลโยกย้าย”
นายวรพจน์ให้การว่า ต่อมา เมื่อได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ รพช.ขอนแก่น แล้ว ได้เข้าไปรายงานตัวกับนาย…เพื่อขอบคุณ และได้พบกับนาย…(ข้าราชการระดับ ผอ.อีกคน-ขอปิดชื่อ) ที่ห้องทำงาน ข้าราชการคนดังกล่าว บอกว่า
“นาย…(ผู้บริหารระดับสูง) ไม่มีเงิน…ข้าฯ จะช่วยเหลือได้เท่าใด แต่ไม่ได้บังคับว่าจะช่วยเหลือเท่าใด ซึ่งข้าฯ ก็รับปากว่าจะช่วย หลังจากนั้น อีกประมาณ 1 เดือน ข้าฯ ได้นำเงินสดส่วนตัวของข้าฯ จำนวน 500,000 บาท ไปมอบให้นาย…(ผู้บริหารระดับสูง) ที่ห้องทำงานของสำนักงาน รพช. เมื่อนาย……(ผู้บริหารระดับสูง) ได้ทราบจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว ได้สั่งให้ข้าฯ นำเงินจำนวน 500,000 บาท ไปให้กับนาย..(ข้าราชการ ผอ.คนเดิม) นาย...(ผอ.คนเดิม) ได้รับเงินแล้วก็ไม่ได้พูดว่าอะไร หลังจากนั้น ก็เดินทางกลับ จ.ขอนแก่น
ครั้งที่สอง เมื่อปี 2539 นาย…(ผู้บริหารระดับสูง) ได้ให้นโยบายแก่ รพช.จังหวัด ว่า ต้องจัดส่งค่าบริหารงานจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับในปีงบประมาณนั้น ๆ ให้แก่ส่วนกลาง ซึ่งนโยบายดังกล่าวมิได้เป็นคำสั่งหรือลายลักษณ์อักษร แต่เป็นที่รู้กันในหมู่ รพช.จังหวัดต่าง ๆ แต่ข้าฯ ไม่ได้จัดส่งเงินดังกล่าวให้ จนกระทั่ง มีข่าวจากส่วนกลางออกมาว่า ข้าฯ ยังไม่จัดส่งให้ตามนโยบาย
ต่อมา เดือนกันยายน 2539 ข้าฯ จึงได้รับโทรศัพท์จากนาย…(ผอ.คนเดิม) ให้โอนเงินค่าบริหารดังกล่าวเข้าบัญชีเลขที่ธนาคาร แต่ข้าฯ จำไม่ได้ว่าเป็นบัญชีเลขที่ใด ของผู้ใด และธนาคารอะไร จำได้ว่า ธนาคารอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ข้าฯ จึงนำเงินสดจำนวน 3 ล้านบาทเศษ มาโอนที่ธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนประชาสโมสร อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่ข้าฯ จำไม่ได้ว่าเป็นธนาคารอะไร”
นายวรพจน์ให้การอีกว่า “หลังจากโอนเงินตามที่นาย..(ผอ.คนเดิม) บอกแล้ว ได้โทรศัพท์ไปบอก ข้าราชการระดับสูงนั้น ว่า ได้โอนเงินให้แล้ว และนาย..(ผอ.คนเดิม) ได้ตรวจสอบเลขที่บัญชีที่ข้าฯ โอนแล้วบอกว่า ถูกต้อง หลังจากนั้นข้าฯ ได้นำใบโอนเงินดังกล่าวไปให้นาย..(ผอ.คนเดิม) ที่กรุงเทพฯ และข้าฯ ไม่ได้ถ่ายสำเนาไว้ จึงไม่มีหลักฐานยืนยันกับคณะอนุกรรมการไต่สวน
หลังจากนั้น ได้มีคำสั่งย้ายข้าฯ ไปดำรงตำแหน่ง รพช. จ.ตราด ซึ่งเมื่อข้าฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า คำสั่งย้ายข้าฯ ได้ออกก่อนที่ข้าฯ จะได้โอนเงินดังกล่าว ซึ่งข้าฯ ได้ทราบภายหลังว่า เงินตามนโยบายดังกล่าวต้องทะยอยส่งทั้งปี มิใช่มาส่งปลายปีงบประมาณ เลยทำให้ข้าฯ ต้องถูกย้ายแม้จะส่งเงินให้ก็ตาม เพราะตามนโยบายดังกล่าว หากผู้ใดทำไม่ได้ คนอื่นซึ่งทำได้จะมาทำแทน”
นายวรพจน์ให้การอีกว่า ไม่ทราบชื่อเจ้าของบัญชีที่โอนเงินให้ เงินที่โอนจำนวน 3 ล้านบาทเศษ มาจากเงินส่วนตัว และเงินที่ผู้รับเหมาใน จ.ขอนแก่น ได้ออกให้ เนื่องจากไปขอความช่วยเหลือ
นายวรพจน์ให้การอีกว่า ไม่เคยโกรธเคืองกับข้าราชการระดับสูงทั้งสองคน “กับนาย…ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่”
วันที่ 21 พ.ค. 2546 นายวรพจน์ให้การต่อ คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่สอง ยืนยันในคำให้การเดิม โดยชี้แจงเพิ่มเติมว่า เงินจำนวน 500,000 บาท ที่นำไปให้ข้าราชการระดับสูงเมื่อประมาณกลางปี 2538 ตามที่ให้การไว้ นั้น เป็นเงินสดส่วนตัว
ส่วน การโอนเงินจำนวน 3,000,000 บาทเศษ นายวรพจน์ให้การเพิ่มเติมว่า โอนเข้าบัญชีเลขที่ 037-2-048XXX ที่ ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนมหาไชย ซึ่งมาทราบภายหลังว่า เป็นบัญชีของ ‘นาย ป.’ (ขอปิดชื่อ) ซึ่งไม่เคยรู้จักกับ นาย ป. มาก่อน แต่อย่างใด
นายวรพจน์อ้างว่า เหตุที่ทราบว่าเป็นบัญชีของ ‘นาย ป.’ เนื่องจากหลังได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวแล้วได้โทรศัทพ์สอบถาม ผอ.คนดังกล่าวว่า ได้รับเงินหรือยัง และได้รับคำตอบว่า ได้รับเงินดังกล่าวแล้ว และได้สอบถามเพิ่มเติมว่า บัญชีดังกล่าวเป็นของผู้ใด ได้รับคำตอบว่า เป็นบัญชีของ ‘นาย ป.’
“สำหรับเงินจำนวน 3,000,000 บาทเศษ ที่ข้าฯ ได้นำมาโอนเข้าบัญชีของ ‘นาย ป.’ เป็นเงินที่ข้าฯ ได้ขอรับการสนับสนุนจากผู้รับเหมางานของ รพช. จ.ขอนแก่น เพื่อส่งให้กับส่วนกลางตามนโยบายที่ผู้บังคับบัญชาได้ให้ไว้”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า 'นาย ป.' หรือ 'เสี่ย ป.' คือ บุคคลคนเดียวกับที่ นายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ,นายบุญส่ง วิจักษณบุญ และ นายวีระพงษ์ แสงศิลา ให้การอ้างว่า ได้โอนเงินเข้าบัญชีหลายบาทข้างต้น
เมื่อเวลาประมาณ 16.55 น. วันที่ 25 พ.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวได้โทรศัทพ์ติดต่อไปยังนายวรพจน์ ตามหมายเลข 042-237-314 ที่ระบุในบันทึกคำให้การต่อ ป.ป.ช. ปลายสายแจ้งว่า "เลขหมายที่ท่านเรียกยังไม่เปิดให้บริการ"
ล่าสุดเมื่อเวลา 19.59 น.วันที่ 25 พ.ย.2559 สำนักข่าวอิศราได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังนายบุญส่ง วิจักษณบุญ ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุในบันทึกคำให้การต่อ ป.ป.ช. หมายเลข 042 7146XX มีผู้รับสายยืนยันว่าเป็นนายบุญส่ง วิจักษณบุญ อดีตทำงานที่สำนักงาน รพช.นครพนม ผู้สื่อข่าวแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทราบว่า ทราบข่าวเรื่องศาลพิพากษาคดีซื้อขายตำแหน่งหรือไม่ นายบุญส่งแจ้งว่าไม่ทราบ ผู้สื่อข่าวแจ้งว่านายบุญส่งเคยไปให้การต่อ ป.ป.ช.ว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีนาย ป. โดยนายมนัส ซึ่งเจริญยิ่ง เป็นผู้ให้โอน เจ้าตัวแจ้งว่าจำเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้แล้ว เพราะเกิดขึ้นมานานมาก ตอนนี้เกษียณอายุราชการแล้ว และไม่ได้ติดต่อใครเลย
อ่านประกอบ :
พบอีก 2 ขรก. โผล่โอนเงินเข้าบัญชี'เสี่ย ป.'ใกล้ชิดบิ๊ก รพช. 3 ล. 'ไม่รู้ค่าอะไร'
เปิดใบโอนเงิน 3 ล้าน คดีสินบน รพช.
คำให้การลึก! คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช. คนเดียวจ่ายยิบให้ ‘บิ๊ก’ 8 ครั้ง 28 ล้าน
เปิดพฤติการณ์คดีสินบน 3 ล. ซี 9 รพช. เบิกเงินสดจากแบงก์ไปจ่ายถึงห้องทำงาน
ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย