คลี่กฎหมาย-ช่องโหว่ปมออกเอกสารสิทธิมิชอบ เหตุผลสำคัญ ป.ป.ช.ชงเลิก ส.ค.1
“…ปัจจุบันที่ดินมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ส่งผลให้เกิดความต้องการมากขึ้น และบางพื้นที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้ หากไม่มีหลักฐาน ส.ค.1 จึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการต่าง ๆ ตามที่มีรายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษา หรือผลการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ โดยเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และออกผลบังคับใช้แก่หน่วยงานรัฐ
เบื้องต้นประเด็นปัญหาหลักของเรื่องคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่างให้ข้อมูลกับสำนักงาน ป.ป.ช. ตรงกันว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบางราย ‘หัวใส’ ร่วมมือกับกลุ่มทุน-นักการเมือง-ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ‘คอร์รัปชั่น’ โดยการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ และมีการรับสินบนเป็นผลประโยชน์ตอบแทน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐประเภท ‘ตงฉิน’ อยู่ไม่ได้ และไม่กล้ามีปากมีเสียง ในส่วนนี้ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการคุ้มครองให้รัดกุมมากขึ้นไปแล้ว
ขณะเดียวกันกรมที่ดิน หน่วยงานสำคัญภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า ได้พยายามสอดส่องอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนกรณีเพิกถอนที่ดินล่าช้านั้น เป็นเรื่องของการตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้แน่ชัด ป้องกันการถูกฟ้องกลับทีหลัง ?
ส่วนที่ดินต่าง ๆ ที่ถูกออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ เช่น โฉนดที่ดินปกติ ที่ดินประเภท น.ส. 3 น.ส. 3 ก และ ส.ค.1 พบว่า ประเภท ส.ค.1 คือเอกสารสิทธิที่ถูกนำไปออกโฉนดโดยมิชอบมากที่สุด เนื่องจากเป็นเอกสารที่ ‘คลุมเครือ’ เป็นอย่างมาก เพราะสามารถ ‘ทำซ้ำ’ ได้ หากอ้างว่าเอกสารหาย และในขั้นตอนการทำซ้ำนี่เอง ที่เปิดช่องให้มีการขีดเพิ่มแนวเขตที่ดินรุกเข้าไปในพื้นที่ของรัฐ อุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวนต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือแหล่งท่องเที่ยว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อสรุปของสำนักงาน ป.ป.ช. เกี่ยวกับปัญหาการออกเอกสารสิทธิ ส.ค.1 ดังนี้
ปัญหาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)
@ที่มา-ข้อกฎหมาย
แบบแจ้ง ส.ค.1 เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในมาตรา 5 ระบุว่า ให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาใช้บังคับ สำหรับผู้ที่มิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดกฎหมาย ถือว่าผู้นั้นมีเจตนาสละสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานโดยเด็ดขาด และรัฐมีอำนาจจัดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีคำสั่งผ่อนผันให้เป็นการเฉพาะรายการ ตามมาตรา 5 วรรคสอง
ต่อมาในปี 2515 ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2515 มีการยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 เป็นการยกเลิกในเรื่องการผ่อนผันการแจ้งครอบครองที่ดินของผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการออกแบบแจ้ง ส.ค.1
ต่อมากรมที่ดินได้ดำเนินการขอยกเลิกแบบแจ้ง ส.ค.1 ในปี 2551 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการนำหลักฐานแบบแจ้ง ส.ค.1 มาขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การยกเลิกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรี และ สนช. พิจารณาร่างแก้ไขฉบับดังกล่าว โดยเปลี่ยนเป็น ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์) และได้ประกาศใช้บังคับเป็น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551
ภายหลังกฎหมายมีผลใช้บังคับ การออกโฉนดที่ดิน และหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากหลักฐานแบบแจ้ง ส.ค.1 นั้น ในมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยมีหลักฐานการแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และยังมิได้ยื่นคำขออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นำหลักฐานการแจ้งครอบครองที่ดินนั้นมายื่นคำขอเพื่อออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ (โดยสิ้นสุดวันที่ 8 ก.พ. 2553)
หากพ้นกำหนดเวลาตามที่กำหนด หากมีผู้นำหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้ต่อเมื่อ ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดว่า ผู้นั้นเป็นผู้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ
@เงื่อนปมปัญหา-ช่องโหว่การทุจริต
สำหรับแบบแจ้ง ส.ค.1 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2497 จนถึงปัจจุบัน นับว่ามีการถือครองมาเป็นเวลากว่า 63 ปี กระทั่งปัจจุบันยังคงมีเหลืออยู่ และไม่สามารถนำหลักฐาน ส.ค.1 มาออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้หมดไปได้ ประกอบกับปัจจุบันที่ดินมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ส่งผลให้เกิดความต้องการมากขึ้น และบางพื้นที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้ หากไม่มีหลักฐาน ส.ค.1
จึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการต่าง ๆ ตามที่มีรายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษา หรือผลการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข
แม้ว่าการยื่นหลักฐาน ส.ค.1 เพื่อขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินภายหลังวันที่ 8 ก.พ. 2553 กฎหมายจะกำหนดให้ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม เพื่อให้มีคำพิพากษาก่อนจึงจะสามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้ได้ แต่เนื่องด้วยกระบวนการตามกฎหมายกำหนดให้เพียงกรมที่ดินเพียงหน่วยงานเดียวที่จะดำเนินตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา กรมที่ดินได้ออกระเบียบมาเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย
แต่เนื่องจากปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐยังไม่มีความชัดเจน และโดยสภาพของหลักฐาน ส.ค.1 เป็นเพียงการแจ้งระยะและแนวเขตโดยประมาณ ทำให้เกิดปัญหาหน่วยงานรัฐหรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้ามาร่วมให้ข้อมูลระหว่างการพิจารณาหรือตรวจสอบของศาลโดยถูกต้องครบถ้วนได้
@ชงเลิกแบบแจ้ง ส.ค.1
ดังนั้นควรมีการตรากฎหมายเพื่อขอยกเลิกแบบแจ้ง ส.ค.1 ที่ออกมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยมิให้กระทบกับสิทธิของผู้มีสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกำหนดช่วงระยะเวลาในการขึ้นทะเบียน และนำเข้าสู่กระบวนการออกเอกสารสิทธิในที่ดินต่อไป ต้องดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลการขึ้นทะเบียน และผลการดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ประชาชนหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบได้
เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ การรับรู้หรือเข้าถึงข่าวสารสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว หากประชาชนไม่มาขึ้นทะเบียนให้ถือว่าสละสิทธิ และไม่สามารถนำหลักฐาน ส.ค.1 มาขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้อีกต่อไป อันจะเป็นการยุติปัญหาการนำหลักฐาน ส.ค.1 มาออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ เป็นการลดภาระการพิจารณาของศาล อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกต่อประชาชนผู้มีสิทธิในที่ดิน และต้องการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้สามารถได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ทั้งหมดคือที่มาที่ไป เงื่อนปมปัญหา เปิดช่องไปสู่การทุจริตระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และนายทุน-นักการเมือง-ผู้มีอิทธิพล ของการครอบครองสิทธิ ส.ค.1 ที่ ป.ป.ช. ยืนยันว่า ต้องการให้ยกเลิก เพื่อลดช่องโหว่ในการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ และลดภาระของหน่วยงานตรวจสอบ และศาลด้วย
ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ ประการใด คงต้องรอให้เรื่องถึงรัฐบาลชุดนี้ก่อน !
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ชงมาตรการคุ้มครอง จนท.ตงฉิน ปมบิ๊ก ขรก.ร่วมนายทุนทุจริตออกเอกสารสิทธิ
จนท.ร่วมกลุ่มทุน-คนไม่กี่กลุ่มครองอาณาจักรที่ดิน!ป.ป.ช.สรุปปมทุจริตออกเอกสารสิทธิ
ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ สอบภาษีผู้ครองที่ดินจำนวนมาก-ใช้ ปย.จริงไหม
ป.ป.ช.พบช่องโหว่ กม.ออกเอกสารสิทธิมิชอบ-2ตระกูลดังมีที่ดิน8.3แสนไร่ใหญ่เท่า2จว.
จนท.รัฐสนองนายทุน-นักการเมือง!ข้อเท็จจริงปมออกเอกสารสิทธิมิชอบฉบับกรมอุทยานฯ
เจาะช่องโหว่การออกเอกสารสิทธิมิชอบ-รุกที่ดินรัฐฉบับ ป.ป.ช.-ทำไมต้องยกเลิก ส.ค.1
กรมอุทยานฯปูด จนท.อุ้มนายทุนดองคดีรุกที่รัฐ-กรมที่ดินยันไม่เคยเพิกเฉย
ป.ป.ช.พบช่องโหว่ กม.ออกเอกสารสิทธิมิชอบ-2ตระกูลดังมีที่ดิน8.3แสนไร่ใหญ่เท่า2จว.
ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ สอบภาษีผู้ครองที่ดินจำนวนมาก-ใช้ ปย.จริงไหม
อย่าดูแค่เจ้าของ-ถ้าทิ้งร้างบี้เก็บภาษี!กรมที่ดินเสนอ ป.ป.ช.แก้ปมออกเอกสารสิทธิมิชอบ
กม.ซ้ำ-ทำงานซ้อน!กรมที่ดินชงให้อำนาจเต็ม ป.ป.ช.เพิกถอนที่ดินออกเอกสารสิทธิมิชอบ
พลิกคดี จนท.รัฐร่วมนายทุนออกสารสิทธิมิชอบ ป.ป.ช.เชือดกราวรูดก่อนชง รบ.แก้ด่วน