กรมอุทยานฯปูด จนท.อุ้มนายทุนดองคดีรุกที่รัฐ-กรมที่ดินยันไม่เคยเพิกเฉย
กรมอุทยานฯปูดมี จนท.รัฐ ชี้โพรงให้นายทุน หากขึ้นศาลปมรุกที่รัฐ จะประวิงเวลารอหมดอายุความ ค่อยเข้าไปก่อสร้าง ขอให้ยกเครื่องการเพิกถอนใน กม.ที่ดิน ให้หน่วยงานอื่นไปคานอำนาจ ป้องล็อบบี้ ด้านกรมที่ดินยันไม่เคยเพิกเฉย แต่ต้องตรวจสอบให้ชัด กันถูกฟ้องกลับ วอนทุกภาคส่วนมาช่วย ไม่ใช่มีปัญหาโยนให้รับอย่างเดียว
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ เบื้องต้นอยู่ระหว่างเตรียมสรุปเนื้อหานำเสนอแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อบังคับใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีข้อมูลระบุจากสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ปัญหาหลักของเรื่องนี้คือมีช่องโหว่ของกฎหมายไม่จำกัดการถือครองที่ดิน เช่น มี 2 ตระกูลชื่อดังถือครองที่ดินรวม 8.3 แสนไร่ คิดเป็นพื้นที่ใหญ่เท่า จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสงคราม ขณะเดียวกันเอกสาร ส.ค.1 คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การบุกรุกที่ดินของรัฐนั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.พบช่องโหว่ กม.ออกเอกสารสิทธิมิชอบ-2ตระกูลดังมีที่ดิน8.3แสนไร่ใหญ่เท่า2จว.)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในที่ประชุมร่วมระหว่างตัวแทนสำนักงาน ป.ป.ช. และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือกันถึงการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ โดยผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกรมที่ดิน ในความล่าช้าจากการขอเอกสารที่ดิน และเห็นควรให้หน่วยงานอื่นเข้าไปคานอำนาจ นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า มีกระบวนการให้เจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์นายทุน ประวิงเวลาให้อายุความหมดด้วย
ในที่ประชุมดังกล่าว ตัวแทนกรมอุทยานฯ ระบุถึงมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ว่า การเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต้องมีความรวดเร็ว หากมีการเพิกถอนช้า จะส่งผลต่อการทำงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอย่างมหาศาล และอาจต้องมีหน่วยงานเพิ่มเติมเพื่อเป็นการคานอำนาจ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงาน ป.ป.ช. อัยการ เข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย รวมถึงต้องรับฟังคำคัดค้าน พร้อมทั้งแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เกิดการล็อบบี้กัน เพราะผลประโยชน์มีราคาที่ค่อนข้างสูง
ตัวแทนกรมอุทยานฯ ระบุอีกว่า ต้องเกิดความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงเนื่องจากกรมอุทยานฯลงพื้นที่ไปตรวจสอบอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ได้ทำหนังสือไปยังกรมที่ดินจำนวน 16 ฉบับ บางแปลงในปัจจุบันยังได้ไม่ครบ และที่สำคัญกว่าคือ ได้ทำหนังสือไปยังกรมที่ดินเพื่อขอทะเบียนการครอบครองเพื่อทำการตรวจสอบว่ามีการแก้ไขพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถฯหรือไม่ ก็ยังไม่ได้รับ
“นอกจากนี้ควรกำหนดกรอบระยะเวลาในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจน เนื่องจากพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเอื้อประโยชน์ หรือประพฤติมิชอบเกี่ยวกับอายุความของคดี มีกระบวนการตกลงกับนายทุนว่า รอให้พ้นระยะเวลา 10 ปีก่อน จะได้หมดอายุความ แล้วค่อยเข้าไปก่อสร้างหรือทำประโยชน์” ตัวแทนกรมอุทยานฯ ระบุ
ส่วนผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ทุกแห่งของประเทศ มีประชาชนเข้าบุกรุกจำนวนมาก เช่น ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นภูเขาหัวโล้นเกือบทั้งสิ้น และจากข้อเท็จจริงพบว่า พื้นที่ของประเทศไทย มีประมาณ 320.7 ล้านไร่ หรือกว่า 5 แสนตารางกิโลเมตร มีการออกโฉนดที่ดินไปแล้วประมาณ 30-40% นอกจากนี้ประกอบไปด้วยที่ดินของรัฐในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาพื้นที่ของรัฐ
ขณะที่ตัวแทนกรมที่ดิน ระบุว่า กรมที่ดินไม่เคยละเลยหรือเพิกเฉยที่จะไม่เพิกถอนการออกเอกสารสิทธิโดยมิอชตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ เห็นควรให้เพิกถอน แต่กรมที่ดินต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง เพราะกลัวถูกฟ้อง กรมที่ดินต้องทบทวน และตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่จะมีคำสั่งเพิกถอน ถ้าเป็นลักษณะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน กรมที่ดินก็จะไม่เสี่ยงตัดสินว่าเพิกถอน เพราะปัจจุบันกรมที่ดินได้สูญเสียงบประมาณจำนวนมากที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้นในปี 2559 มีศาลสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น และรู้ข้อเท็จจริง ศาลจึงได้เริ่มเปลี่ยนแนวการตัดสิน และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการมากยิ่งขึ้น นั่นคือกรมที่ดินไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อ เพราะผู้ซื้อไปซื้อที่ดินมาโดยรู้ทั้งรู้ว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้
สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหานั้น ตัวแทนสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า ต้องใช้การขับเคลื่อนว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) การบังคับใช้กฎหมายกับผู้บุกรุกอย่างเคร่งครัดและเสมอภาค การใช้มาตรการทางภาษี และมาตรการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเคร่งครัดกับผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก การจัดทำป้ายประกาศเปิดเผยให้สาธารณชนได้เห็น เพื่อให้มีโอกาสคัดค้านเมื่อมีการยื่นคำขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ และการอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐด้วย ทั้งนี้ภาครัฐต้องไม่ส่งเสริม สนับสนุนบุคคลผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ โดยการให้สาธารณูปโภค และอื่น ๆ เช่น การอุดหนุนสินค้าเกษตรที่บุกรุกเข้าไปปลูกในที่ดินของรัฐ เป็นต้น
ส่วนตัวแทนกรมที่ดิน ระบุว่า รัฐต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน และมองไปยังอนาคตว่าจะมีผลกระทบอะไร ถ้าปฏิบัติตามนโยบาย เช่น การแก้ไขกฎหมาย 2 ครั้ง ในปี 2502 และปี 2515 แต่ที่เป็นปัญหามากสุดคือปี 2502 เป็นการแก้กฎหมายที่เปิดช่องโหว่เกี่ยวกับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) รวมถึงการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานทุกภาคส่วน เพราะการแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขทั้งระบบ เนื่องจากในทุก ๆ ครั้งที่มีการประชุม หรือสัมมนาแต่ละหน่วยงาน จะมีขอบเขตการปฏิบัติของตนเอง ไม่คำนึงถึงการบูรณาการ หรือแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง พอเกิดปัญหาจะมีการหลีกเลี่ยงให้กรมที่ดินต้องเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ขณะเดียวกันการปลูกจิตสำนึกให้แก่เจ้าหน้าที่และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะประเทศไทยไม่ว่าจะมีการบัญญัติกฎหมาย หรือแก้ไขอย่างไรก็ตาม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องมีการปลูกจิตสำนึก ถ้าจิตสำนึกดี ปัญหาก็ไม่เกิด
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ สอบภาษีผู้ครองที่ดินจำนวนมาก-ใช้ ปย.จริงไหม
อย่าดูแค่เจ้าของ-ถ้าทิ้งร้างบี้เก็บภาษี!กรมที่ดินเสนอ ป.ป.ช.แก้ปมออกเอกสารสิทธิมิชอบ
กม.ซ้ำ-ทำงานซ้อน!กรมที่ดินชงให้อำนาจเต็ม ป.ป.ช.เพิกถอนที่ดินออกเอกสารสิทธิมิชอบ
พลิกคดี จนท.รัฐร่วมนายทุนออกสารสิทธิมิชอบ ป.ป.ช.เชือดกราวรูดก่อนชง รบ.แก้ด่วน