ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ สอบภาษีผู้ครองที่ดินจำนวนมาก-ใช้ ปย.จริงไหม
ป.ป.ช. ออกมาตรการแก้ปัญหาทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ชง รบ.แก้ไขกฎหมาย-ตรวจสอบละเอียดถือครอง ส.ค.1-สอบภาษี-การถือครองที่ดินใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ไล่บี้ผู้มีอิทธิพล-กลุ่มทุน เอาผิดจริงจัง หน่วยงานไหนละเลยมีโทษ – อยู่ระหว่างสอบ 113 เรื่อง 5 ภาค อีสานนำโด่ง 19 จว.
ปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดิน กำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกหน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดใหญ่ ๆ หรือที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่พบว่า มีเอกชน นักธุรกิจ หรือนักการเมืองกลุ่ม ร่วมกับข้าราชการ แสวงหาผลประโยชน์ในการออกเอกสารสิทธิที่โดยมิชอบ และมีการกล่าวหาเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนแล้วหลายคดี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า ปัญหาการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ได้สร้างความเสียหายแก่ประเทศ และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวมอย่างมหาศาล เนื่องจากที่ดินของไทยมีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ไม่จำกัดของประชาชน หรือผู้มีอำนาจ และอิทธิพลบางกลุ่ม จึงส่งผลให้เกิดการร่วมกันทุจริตโดยผู้ขอ ผู้สนับสนุน และเจ้าหน้าทีรัฐที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการขั้นตอนของการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินนั้น พื้นที่ที่มีปัญหารุนแรงส่วนใหญ่เป็นที่ดินมีมูลค่าสูง ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเป็นพื้นที่มีความสวยงาม
สำนักงาน ป.ป.ช. ยังอ้างอิงข้อมูลจากที่สื่อมวลชนรายงานข่าวถึงกลุ่มตระกูลดัง เศรษฐี กลุ่มธุรกิจ นายทุน ที่ถือครองที่ดินแปลงเล็ก แปลงใหญ่ กว่า 958,400 ไร่ ซึ่งกระจายอยู่หลายพื้นที่ทั้ง กทม. และต่างจังหวัด จึงนำไปสู่การบุกรุกที่ดินของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
สรุปข้อมูลเบื้องต้น พบว่า การร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตในการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ ระหว่างปี 2543-2560 โดยใช้ข้อมูลจนถึงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2559 รวมทั้งสิ้น 131 เรื่อง แบ่งเป็น ดำเนินการแล้วเสร็จ 80 เรื่อง อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง 7 เรื่อง และอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 44 เรื่อง มีพฤติการณ์ถูกกล่าวหาโดยสรุป คือ 1.เรียกรับเงินเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ 2.ออกเอกสารสิทธิ์โดยการสวมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น 3.ออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ป่าสงวน/ที่สาธารณะ/ที่ของบุคคลอื่น 4.ออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ที่ไม่สามารถออกได้ (พื้นที่ภูเขา/ลาดชัน)
มีพื้นที่ถูกร้องเรียน แบ่งเป็น 1.ภาคกลาง 14 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นนทบุรี นครสวรรค์ นครปฐม ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม 2.ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ปัตตานี ภูเก็ต พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา 3.ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พะเยา เพชรบูรณ์ พิษณุโลก แพร่ เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย และอุตรดิตถ์
4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม บึงกาฬ บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สุรินทร์ ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และอุดรธานี 5.ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี และระยอง
ข้อเสนอของสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการทางภาษี และมาตรการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเคร่งครัดกับผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก โดยให้นำมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และให้รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้ใช้อิทธิพลในการออกเอกสารสิทธิ มีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และจัดให้มีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ในพื้นที่เศรษฐกิจที่ดินมีราคาสูง เช่น จ.ภูเก็ต จ.เชียงราย เป็นต้น การออกเอกสารสิทธิ์ กรมที่ดินควรมีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ ให้การออกเอกสารสิทธิ์เป็นไปโดยถูกต้อง
นอกจากนี้เห็นควรให้ยกเลิกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) โดยแก้ไขมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 กำหนดให้ผู้มีหลักฐานถือครอง ส.ค.1 และกรมที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน มายื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ภายใน 180 วัน เพื่อตรวจสอบ และพิสูจน์การครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดิน หากไม่มายื่นคำร้องในเวลากำหนด ให้ถือว่าไม่ประสงค์ถือครอง และถือว่ายกเลิกแบบแจ้งการครอบครอง ส.ค.1
รัฐบาลควรกำหนดนโยบายดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้โดยกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ และรัฐบาลที่เข้ามาบริหารต่อเนื่องไม่ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ รวมถึงให้จัดทำฐานข้อมูลสารบบการบริหารงานที่ดินบนฐานข้อมูลเดียว เผยแพร่ในระบบออนไลน์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ ด้วย
สำนักงาน ป.ป.ช. เน้นย้ำว่า หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยมิชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ หากพบหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ให้ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และมีความผิดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
หมายเหตุ : ภาพประกอบสำนักงาน ป.ป.ช. จาก thairath