กม.ซ้ำ-ทำงานซ้อน!กรมที่ดินชงให้อำนาจเต็ม ป.ป.ช.เพิกถอนที่ดินออกเอกสารสิทธิมิชอบ
กฎหมาย-การทำงานซ้ำซ้อนกัน! ตัวแทนกรมที่ดินชงแก้ไข ให้อำนาจ ป.ปช. เต็มที่พิจารณาเพิกถอนที่ดินออกเอกสารสิทธิมิชอบ หรือไม่ก็ฟ้องเอง ไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่อีก ช่วยให้การดำเนินงานไม่ล่าช้า
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ โดยอยู่ระหว่างเตรียมสรุปเนื้อหานำเสนอแก่คณะรัฐฒนตรี เพื่อบังคับใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วนนั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ สอบภาษีผู้ครองที่ดินจำนวนมาก-ใช้ ปย.จริงไหม)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในการประชุมร่วมหารือกันระหว่างตัวแทนกรมที่ดิน และตัวแทนสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกเหนือจากกรณีการครอบครองที่ดินของกลุ่มนายทุนที่ครอบครองที่ดินปริมาณมากแล้วนั้น (อ่านประกอบ : อย่าดูแค่เจ้าของ-ถ้าทิ้งร้างบี้เก็บภาษี!กรมที่ดินเสนอ ป.ป.ช.แก้ปมออกเอกสารสิทธิมิชอบ)
ตัวแทนกรมที่ดิน ยังตอบข้อหารือของตัวแทนสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนที่ร่วมกันกระทำความผิด กรณีออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ และส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนตาม มาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ด้วย สรุปได้ดังนี้
กรณีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. นั้น ตัวแทนกรมที่ดิน ระบุว่า การปฏิบัติงานที่ผ่านมา เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินตาม มาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. กรมที่ดินดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด
แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า กระบวนการเพิกถอนกรมที่ดินมีอำนาจดำเนินการได้ตามนัยมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจอธิบดีกรมที่ดิน ต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนต้องดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิต่อไป อธิบดีกรมที่ดินต้องรับผิดชอบในกรณีนี้อยู่แล้ว เหตุใดสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องใช้ช่องทางตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ด้วย
ตัวแทนกรมที่ดิน ยกตัวอย่างคดีในชั้นศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ร้องให้เพิกถอน น.ส. 3 จำนวน 11 แปลง ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ดีกรมที่ดินตรวจสอบแล้วว่าที่ดินดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลมีคำพิพากษาว่า น.ส. 3 ดังกล่าว ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนที่ดิน น.ส. 3 ดังกล่าวอีก โดยใช้ตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน
ตัวแทนกรมที่ดิน ระบุว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจยกตัวอย่างเทียบเคียงกรณีสำนักงาน ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติชี้มูลว่า ข้าราชการกระทำความผิดทางวินัย โดยให้ยึดถือสำนวนของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นสำนวนลงโทษทางวินัย โดยต้นสังกัดไม่ต้องตรวจสอบอีก ดังนั้นกรณีมีการกำหนดเป็นบทบัญญัติกฎหมายชัดเจน หากสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ กรมที่ดินไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่อีก โดยดำเนินการเพิกถอนตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องมา หรืออีกวิธีคือสำนักงาน ป.ป.ช. สามารถฟ้องศาลได้เองแทนการส่งมาให้กรมที่ดินฟ้องต่อศาล เพราะจะทำให้กระบวนการดำเนินงานไม่ซ้ำซ้อน และความเห็นของหน่วยงานได้ไม่มีความแตกต่างกัน
ส่วนกรณีปัญหาการดำเนินงานล่าช้า ตัวแทนกรมที่ดิน ระบุว่า เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาให้กรมที่ดินตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. กรมที่ดินเชื่อในข้อเท็จจริง แต่การเพิกถอนต้องหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องรวมเข้าไปด้วย เนื่องจากการตรวจสอบต้องลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยงานในพื้นที่ด้วย และบางพื้นที่มีปัญหาในการหาขอบเขตพื้นที่ เช่น พื้นที่สาธารณะ มีแค่ทะเบียนสาธารณะเท่านั้น ทำให้การหาขอบเขตพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก หน่วยงานที่รับผิดชอบบางครั้งไม่ทราบขอบเขตที่แน่ชัด ทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจสอบ เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีการดำเนินโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) อาจทำให้แนวเขตที่ดินของรัฐมีความชัดเจนขึ้นได้
อ่านประกอบ : พลิกคดี จนท.รัฐร่วมนายทุนออกสารสิทธิมิชอบ ป.ป.ช.เชือดกราวรูดก่อนชง รบ.แก้ด่วน