เจาะช่องโหว่การออกเอกสารสิทธิมิชอบ-รุกที่ดินรัฐฉบับ ป.ป.ช.-ทำไมต้องยกเลิก ส.ค.1
“…ประเด็นอยู่ที่ หากทิศข้างเคียงหาย สามารถมาสร้างใหม่ได้ สามารถเอาไปลงตรงไหนก็ได้ ถ้าแจ้ง ส.ค.1 หาย และทำ ส.ค.1 ขึ้นมาแทน เนื้อที่กับชื่อเหมือนเดิม แต่ข้างเคียงสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ จะเป็นอันตรายสำหรับพื้นที่ในอุทยาน เป็นจุดล่อแหลมที่จะมาออกในพื้นที่เขตป่าไม้ ขณะเดินสำรวจ การออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เจ้าของที่ดินที่มี ส.ค.1 จะไม่มาแจ้งว่าตนเองมีหลักฐาน ส.ค.1 กับเจ้าหน้าที่ หรือผู้เดินสำรวจ เนื่องจากสามารถออกได้โดยต้องสลักหลังห้ามโอน 10 ปี ทำให้ไม่ต้องแจ้ง ส.ค.1 ทั้ง ๆ ที่ที่ดินแปลงนั้นเป็น ส.ค.1…”
ปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ เป็นที่สนใจจากประชาชนมาทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากปัญหานี้ ‘คาราคาซัง’ และไม่สามารถแก้ได้สมบูรณ์ เห็นได้จากมีหน่วยงานตรวจสอบ เข้าไปดำเนินการบุกจับกุมผู้กระทำความผิด ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทุน ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ-บุกรุกป่า อย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลหลายสมัย มีความพยายามตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากต้นตอของเรื่องนี้อยู่ที่ หลักฐานการแจ้งการครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่ถูกมองว่าทำให้เกิดการบุกรุกที่ของรัฐ และการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หน่วยงานตรวจสอบหลักของประเทศไทย พยายามค้นคว้าหามาตรการป้องกันการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ กระทั่งช่วงเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา จึงสรุปผลมาตรการดังกล่าว โดยอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบข้อเท็จจริงว่า ปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ เกิดขึ้นเพราะการได้มาซึ่ง ส.ค.1 เรียบเรียงได้ ดังนี้
หนึ่ง กลุ่มนายทุนที่ต้องการที่ดิน โดยมี ส.ค.1 เป็นเครื่องมือ จึงพบปัญหาในเขตอุทยานแห่งชาติ เนื่องจาก ส.ค.1 สามารถออกได้ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่เคยไปตรวจสอบบางที่ ถึงขนาดแจ้งว่า ส.ค.1 หาย และสร้าง ส.ค.1 ขึ้นมาใหม่ โดยในตัว ส.ค.1 จะบอกแค่ชื่อเจ้าของ สภาพการทำประโยชน์ เนื้อที่ และทิศข้างเคียง
ประเด็นอยู่ที่ หากทิศข้างเคียงหาย สามารถมาสร้างใหม่ได้ สามารถเอาไปลงตรงไหนก็ได้ ถ้าแจ้ง ส.ค.1 หาย และทำ ส.ค.1 ขึ้นมาแทน เนื้อที่กับชื่อเหมือนเดิม แต่ข้างเคียงสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ จะเป็นอันตรายสำหรับพื้นที่ในอุทยาน เป็นจุดล่อแหลมที่จะมาออกในพื้นที่เขตป่าไม้ ขณะเดินสำรวจ การออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เจ้าของที่ดินที่มี ส.ค.1 จะไม่มาแจ้งว่าตนเองมีหลักฐาน ส.ค.1 กับเจ้าหน้าที่ หรือผู้เดินสำรวจ เนื่องจากสามารถออกได้โดยต้องสลักหลังห้ามโอน 10 ปี ทำให้ไม่ต้องแจ้ง ส.ค.1 ทั้ง ๆ ที่ที่ดินแปลงนั้นเป็น ส.ค.1
จึงเป็นสาเหตุหนึ่งว่า ส.ค.1 ไม่ได้ถูกหมายเหตุไปในระบบ ทำให้ ส.ค.1 ตกค้าง แต่จริง ๆ หากไม่สามารถยกเลิก ส.ค.1 ส่วนที่เหลือ จะมีพื้นที่ที่ถูกออก ส.ค.1 ไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้มองว่า ตามมาตรา 8 วรรค 4 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ระบุว่า ให้ผู้ขอรับรองสิทธิ ส.ค.1 ไปยื่นต่อศาล และให้เจ้าหน้าที่ที่ดินทำความเห็นเสนอศาลนั้น กรมอุทยานฯ เห็นควรตั้งผู้แทนของกรมอุทยานฯ ไปร่วมเสนอความเห็นในมาตรา 8 วรรค 4 ด้วย เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีส่วนร่วมในการทำความเห็นเสนอต่อศาล ในกรณี ส.ค.1 ดังกล่าวไม่สามารถยกเลิกได้โดยทันที
สอง ในข้อกฎหมาย ที่สาธารณะทางน้ำ แม่น้ำลำคลอง หรือแม้แต่ชายทะเล เป็นความดูแลของกรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ในประเด็นข้อเท็จจริงจะไปเกี่ยวกับที่ดินทุกแปลงที่มีลำน้ำติดอยู่
หากตั้งคำถามว่า การยกเลิกการเดินสำรวจสามารถทำได้หรือไม่ เพราะหากมีการเดินสำรวจ ที่ดินติดฝั่งแม่น้ำล้ำคลองจะถูกนำมาออกเอกสารสิทธิหมด ปัญหาการดำเนินสำรวจเพื่ออกเอกสารสิทธิคือ กรมเจ้าท่า ไม่ได้เป็นกรรมการในการพิสูจน์ ดังนั้นเห็นควรจะยกเลิก ส.ค.1
สาม การขีดเขตในสมัยก่อนที่เทคโนโลยียังไม่มีความทันสมัย เมื่อเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ไม่ได้ทำการขีดเขต และกรมที่ดินได้ลงนามกำกับ และได้นำที่ดินดังกล่าวไปออกเอกสารสิทธิ ปัจจุบันหากใช้เทคโนโลยี GPS ตรวจสอบ จะพบว่า การออกเอกสารสิทธิรุกล้ำพื้นที่ภูเขาไปมาก ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวเกิดจากปัญหาแนวเขตที่ดินไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลเขตพื้นที่อุทยาน และป่าสงวน มีความเห็น 3 ประการ ได้แก่
1.การเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต้องมีความรวดเร็ว หากมีการเพิกถอนช้า จะส่งผลต่อการทำงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอย่างมหาศาล และอาจต้องมีหน่วยงานเพิ่มเติมเพื่อเป็นการคานอำนาจ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงาน ป.ป.ช. อัยการ เข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย รวมถึงต้องรับฟังคำคัดค้าน พร้อมทั้งแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เกิดการล็อบบี้กัน เพราะผลประโยชน์มีราคาที่ค่อนข้างสูง
2.ต้องเกิดความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงเนื่องจากกรมอุทยานฯลงพื้นที่ไปตรวจสอบอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ได้ทำหนังสือไปยังกรมที่ดินจำนวน 16 ฉบับ บางแปลงในปัจจุบันยังได้ไม่ครบ และที่สำคัญกว่าคือ ได้ทำหนังสือไปยังกรมที่ดินเพื่อขอทะเบียนการครอบครองเพื่อทำการตรวจสอบว่ามีการแก้ไขพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถฯหรือไม่ ก็ยังไม่ได้รับ
3.ควรกำหนดกรอบระยะเวลาในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจน เนื่องจากพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเอื้อประโยชน์ หรือประพฤติมิชอบเกี่ยวกับอายุความของคดี มีกระบวนการตกลงกับนายทุนว่า รอให้พ้นระยะเวลา 10 ปีก่อน จะได้หมดอายุความ แล้วค่อยเข้าไปก่อสร้างหรือทำประโยชน์ (อ่านประกอบ : กรมอุทยานฯปูด จนท.อุ้มนายทุนดองคดีรุกที่รัฐ-กรมที่ดินยันไม่เคยเพิกเฉย)
ทั้งหมดคือเงื่อนปมที่ว่า ทำไมถึงมีความจำเป็นต้องยกเลิก ส.ค.1 เพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ และเตรียมเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ผลักดันให้เกิดการบังคับใช้แล้ว
ท้ายสุดหากยกเลิก ส.ค.1 แล้ว จะแก้ได้มาก-น้อยขนาดไหน คงต้องรอติดตามผลกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.พบช่องโหว่ กม.ออกเอกสารสิทธิมิชอบ-2ตระกูลดังมีที่ดิน8.3แสนไร่ใหญ่เท่า2จว.
ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ สอบภาษีผู้ครองที่ดินจำนวนมาก-ใช้ ปย.จริงไหม
อย่าดูแค่เจ้าของ-ถ้าทิ้งร้างบี้เก็บภาษี!กรมที่ดินเสนอ ป.ป.ช.แก้ปมออกเอกสารสิทธิมิชอบ
กม.ซ้ำ-ทำงานซ้อน!กรมที่ดินชงให้อำนาจเต็ม ป.ป.ช.เพิกถอนที่ดินออกเอกสารสิทธิมิชอบ
พลิกคดี จนท.รัฐร่วมนายทุนออกสารสิทธิมิชอบ ป.ป.ช.เชือดกราวรูดก่อนชง รบ.แก้ด่วน
หมายเหตุ : ภาพประกอบโฉนดที่ดินจาก pantip