จนท.รัฐสนองนายทุน-นักการเมือง!ข้อเท็จจริงปมออกเอกสารสิทธิมิชอบฉบับกรมอุทยานฯ
“…นี่คือข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาที่กรมอุทยานฯต้องเผชิญ ในการสืบค้น-ลงพื้นที่ตรวจสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หรือกรณีการบุกรุกที่ดินของรัฐ ในช่วงปี 2556 เป็นต้นมา ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า แทบทุกกระบวนการ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล เพื่อออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ แทบทั้งสิ้น…”
ปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ กำลังเป็นประเด็นร้อน ที่ถูกหน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบหลายพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กำลังไต่สวน-แสวงหาข้อเท็จจริง กรณีมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกับนายทุนออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ จำนวนหลายสิบคดีเช่นกัน
เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. จัดทำมาตรการแก้ไขทุจริตการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาหารือเพื่อแก้ไข นำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติ เบื้องต้นมีข้อสรุปสำคัญ ๆ คือ ต้องการให้กรมที่ดินยกเลิกการถือครองที่ดินแบบ ส.ค.1 และให้รัฐบาลมีมาตรการไล่บี้ทางภาษีกับบุคคล-นิติบุคคลที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ (อ่านประกอบ : กรมอุทยานฯปูด จนท.อุ้มนายทุนดองคดีรุกที่รัฐ-กรมที่ดินยันไม่เคยเพิกเฉย, ป.ป.ช.พบช่องโหว่ กม.ออกเอกสารสิทธิมิชอบ-2ตระกูลดังมีที่ดิน8.3แสนไร่ใหญ่เท่า2จว., ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ สอบภาษีผู้ครองที่ดินจำนวนมาก-ใช้ ปย.จริงไหม )
ในการหารือดังกล่าว กรมอุทยานฯ ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา เมื่อครั้งเข้าไปตรวจสอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายแห่งทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลเมื่อปี 2556 โดยมีการจัดตั้งสำนักงานตรวจพิสูจน์การถือครองหนังสือแสดงสิทธิที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ขณะเดียวกันพบข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาสำคัญในการออกเอกสารสิทธิมิชอบ และการบุกรุกพื้นที่ของรัฐ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปได้ 5 กรณี ดังนี้
การตรวจสอบของกรมอุทยานฯ ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ พบว่ามีการออกโฉนดที่ดิน จำนวน 473 แปลง น.ส. 3 จำนวน 286 แปลง น.ส. 3 ก จำนวน 924 แปลง และ ส.ค.1 จำนวน 1473 แปลง และเอกสารสิทธิอื่น ๆ จำนวน 2,161 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 65,000 กว่าไร่
หนึ่ง พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ที่มีผลตอบแทนสู. จึงเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการสูง การลงทุนซื้อพื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์ ต้องยอมรับเลยว่ามีจริง และทำเป็นกระบวนการตั้งแต่ไปขอซื้อจากชาวบ้านในราคาที่ต่ำ เพราะชาวบ้านรู้ว่าอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ จึงขายให้นายทุน ต่อจากนั้นนำไปออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ
สอง พบการใช้ ส.ค.1 เป็นหลักฐาน แต่เมื่อกรมอุทยานฯตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าเป็น ส.ค.1 ที่ไม่ตรงแปลง จึงขอความร่วมมือจากกรมที่ดินในเรื่องทะเบียนครอบครองของบริเวณดังกล่าวว่ามี ส.ค.1 จำนวนกี่ใบ และขอความร่วมมือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวกับกฎหมายเรียกพยานมาให้ถ้อยคำ มีการสอบสวนเบื้อลึกว่า มีการออก ส.ค.1 เกินขอบเขต และนำ ส.ค.1 จากพื้นที่อื่นมาสวมทับ
ยกตัวอย่างมกระบวนการคือ หาก ส.ค.1 ที่นำมาอ้างมีพื้นที่จำนวน 20 ไร่ มีการนำไปออก น.ส. 3 มีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 5 แปลง และจาก น.ส. 3 ไปออกเป็นโฉนดที่ดินมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 10 แปลง นั่นคือความเป็นมาของกระบวนการการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ นอกจากการมีพื้นที่เพิ่มขึ้น ยังพบว่า มีการแบ่งแยกพื้นที่แล้วรวม หรือรวมแล้วนำมาแบ่งแยกเพื่อให้มีการตรวจสอบที่ยากขึ้น
สาม ปัญหาเรื่องแผนที่ กล่าวคือ โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในอดีตไม่มีการขีดพื้นที่แนวเขตป่า ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐเดินสำรวจไปในเขตป่า และในเวลาต่อมาได้มีการขีดแนวเขตป่า แต่ในบางพื้นที่ไม่ชัดเจน ดังนั้นกรมป่าไม้ มีโครงการลงพื้นที่สำรวจแนวเขตป่า ปรากฏว่า แนวเขตป่าในแผนที่ไม่ตรงกัน จึงทราบสาเหตุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติมีเทคนิควิธีการต่างกัน ไม่มีความรู้เรื่องแผนที่
สี่ เจตนาของเจ้าหน้าที่รัฐไม่บริสุทธิ์ กล่าวคือ โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน แท้จริงปรากฏว่า ประชาชนไม่ได้ทำประโยชน์จริง หรือมีการทำประโยชน์เพียง 10% แต่เจ้าหน้าที่รัฐออกเอกสารสิทธิให้ประชาชน เนื่องจากมีการติดสินบน ทั้งนี้ภาพถ่ายของกรมอุทยานฯ พบว่า ในปีที่มีการเดินสำรวจออกโฉฯดที่ดิน ยังเป็นพื้นที่ป่าไม้ไม่มีการทำประโยชน์ เพราะกรมอุทยานฯมีข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศหลายช่วงปี รวมถึงภาพถ่ายทางอากาศทั่วประเทศ ตามโครงการ WorldWide Surway ในปี 2496-2498 จากข้อมูลที่ได้ซื้อมาจากบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกามาเก็บไว้
ห้า มีการออกโฉนดที่ดินโดยการแบ่งแยกและรวม หรือรวมแล้วแบ่งแยก อาจมีสาเหตุได้หลายกรณี ได้แก่
- เจ้าหน้าที่รัฐขาดความรอบคอบ คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ขาดความรอบคอบ และไม่มีการคัดค้าน หรือการตรวจสอบที่ให้เกิดความถูกต้อง เช่น คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับการแต่งตั้ง ตัดสินเพียงแค่ว่า “เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินยืนยันว่า ตรงแปลง และออกเอกสารสิทธิโดยถูกต้อง” ไม่มีการคัดค้าน ไม่มีการตรวจสอบว่า ทำประโยชน์จริงหรือไม่ อยู่ในเขตป่า หรือพื้นที่ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิหรือไม่
- ความล่าข้าในการเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ค่อนข้างใช้เวลานานถึง 10 ปี ตัวอย่าง freedom beach จ.ภูเก็ต ใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีการเพิกถอน
- คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อาจมีส่วนได้เสีย เพราะกระบวนการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้มีการติดสินบนคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ด้วย แท้จริงแล้วกรรมการบางรายมีความคิดเห็นเป็นเพียงมติเท่านั้น กลุ่มเอกชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีความผิดอะไร หรือถ้าผิดก็ผิดแค่ระเบียบ ไม่ถือเป็นการทุจริต ดังนั้นทำไมถึงไม่ดำเนินคดีกับคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ ดังกล่าวด้วย
- เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ในกระบวนการออกเอกสารสิทธิ เนื่องจากมีผลตอบแทนสูง เช่น freedom beach จ.ภูเก็ต มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ โดยข้าราชการในพื้นที่มุ่งหวังตำแหน่งทำงานสนองนโยบายนักการเมือง รวมถึงความเกรงกลัวต่อผู้มีอิทธิพล อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีการเพิกถอนที่ดินดังกล่าวหมดแล้ว
นี่คือข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาที่กรมอุทยานฯต้องเผชิญ ในการสืบค้น-ลงพื้นที่ตรวจสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หรือกรณีการบุกรุกที่ดินของรัฐ ในช่วงปี 2556 เป็นต้นมา ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น
จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า แทบทุกกระบวนการ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล เพื่อออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ แทบทั้งสิ้น
ดังนั้นสิ่งที่ต้องรอดูต่อไปคือ หากมาตรการแก้ไขปัญหาทุจริตการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. นำเสนอถึงรัฐบาลชุดนี้ ที่อ้างว่ามาเพื่อ ‘ปราบโกง’ แล้ว จะบังคับใช้มาตรการนี้อย่างเข้มข้น-จริงจัง เหมือนอย่างที่เคยบอกผ่านสื่อตลอดเวลาหรือไม่
ต้องติดตามผลกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
เจาะช่องโหว่การออกเอกสารสิทธิมิชอบ-รุกที่ดินรัฐฉบับ ป.ป.ช.-ทำไมต้องยกเลิก ส.ค.1
กรมอุทยานฯปูด จนท.อุ้มนายทุนดองคดีรุกที่รัฐ-กรมที่ดินยันไม่เคยเพิกเฉย
ป.ป.ช.พบช่องโหว่ กม.ออกเอกสารสิทธิมิชอบ-2ตระกูลดังมีที่ดิน8.3แสนไร่ใหญ่เท่า2จว.
ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ สอบภาษีผู้ครองที่ดินจำนวนมาก-ใช้ ปย.จริงไหม
อย่าดูแค่เจ้าของ-ถ้าทิ้งร้างบี้เก็บภาษี!กรมที่ดินเสนอ ป.ป.ช.แก้ปมออกเอกสารสิทธิมิชอบ
กม.ซ้ำ-ทำงานซ้อน!กรมที่ดินชงให้อำนาจเต็ม ป.ป.ช.เพิกถอนที่ดินออกเอกสารสิทธิมิชอบ
พลิกคดี จนท.รัฐร่วมนายทุนออกสารสิทธิมิชอบ ป.ป.ช.เชือดกราวรูดก่อนชง รบ.แก้ด่วน
หมายเหตุ : ภาพประกอบโฉนดที่ดินจาก www.egov.go.th