ไบโอไทยฉะ สมาพันธ์เกษตรฯ องค์กรบังหน้าบรรษัทขายยาฆ่าหญ้า หลังค้าน สธ.แบนพาราควอต
ไบโอไทย ฉะสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เป็นองค์กรบังหน้าบรรษัทขายยาฆ่าหญ้า หลังออกมาเรียกร้องค้าน ข้อเสนอยกเลิกการใช้พาราควอตในไทย พร้อมโจมตีการทำงานนักวิชาการ ด้านเอ็นจีโอออกป้อง นักวิจัยม.นเรศวร หยุดคุกคาม
สืบเนื่องจากกรณีที่ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย แถลงข่าวค้านการแบนพาราควอต ไกลโฟเสท คลอร์ไพริฟอส พร้อมทั้งเรียกร้องรองนายกฯ ตรวจสอบการทำงานกระทรวงสาธารณสุข และการทำงานขององค์กรเอ็นจีโอและการทำงานของ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัย ม.นเรศวรว่าไม่อยู่บนหลักวิชาการ (อ่านประกอบ สมาพันธ์เกษตรฯ ยื่นข้อเสนอขอสธ.ทบทวนยกเลิกการใช้พาราควอต โต้ "ไทยแพน" บิดเบือน)
ล่าสุด ทางมูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตการเคลื่อนไหวของสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยว่า เป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากการมีข้อเสนอให้มีการแบนพาราควอต โดยผู้ก่อตั้งมักปรากฎตัวและทำกิจกรรมร่วมกับสมาคมอารักขาพืช ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยซินเจนทา มอนซานโต้ และดาวเคมีคอล ผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส
ไบโอไทยยังระบุอีกว่า สมาพันธ์ฯนี้ เคยเผยแพร่ข้อมูลเท็จโดยอ้างเอกสารของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรว่า การแบนพาราควอตจะส่งผลให้เศรษฐกิจเสียหายถึง 70,000 ล้านบาท ทั้งๆที่ไม่เคยมีเอกสารหรืองานวิจัยที่สนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวแต่ประการใด ในจดหมายเปิดผนึกของสมาพันธ์ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 นายสุกรรณ์ สังขะวรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้ยอมรับว่า “จากการกล่าวอ้างว่า สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย FSA นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสารเคมีภาคการเกษตรนั้นทางเราไม่ปฏิเสธ”
ทั้งนี้ไบโอไทย ระบุว่า ในประเทศที่มีการแบนพาราควอต จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์จากการขายสารพิษนี้ในหลายรูปแบบทั้งๆ ที่ประเทศผู้ผลิตล้วนประกาศแบนไปแล้ว ตัวอย่างเช่น หลังจาก Brazil ANVISA (National Sanitary Surveillance Agency) หน่วยงานด้านสาธารณสุขเสนอต่อรัฐบาลและมีผลให้รัฐบาลบราซิลประกาศแบนพาราควอตในปี 2020 บริษัทซินเจนทาผู้ผลิตพาราควอตรายใหญ่สัญชาติสวิสได้เคลื่อนไหวอย่างหนักโดยการนำสมาชิกรัฐสภาของบราซิลเดินทางมาเยือนสวิตเซอร์แลนด์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อโน้มน้าวให้กลุ่มที่มีบทบาทในการตัดสินใจทางนโยบายโน้มน้าวให้รัฐบาลบราซิลทบทวนการตัดสินใจการแบน และปรับนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมีให้เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ของบรรษัทแทน แต่จากการเปิดเผยความเคลื่อนไหวและการประท้วงของกลุ่ม MultiWatch และ Public Eye ซึ่งติดตามบทบาทบรรษัทต่อเรื่องนี้ ได้ทำให้กำหนดการเข้าพบปะระหว่างสมาชิกสภาของบราซิลกับรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลสวิสได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมใดๆที่รัฐบาลสวิสซึ่งยกเลิกพาราควอตไปแล้วจะกดดันให้ประเทศอื่นใช้พาราควอตต่อไป (อ่านประกอบ สองมาตรฐาน ยูเอ็นประณามบริษัทสวิสฯ ส่งออกพาราควอตไปประเทศกำลังพัฒนา )
ในรายงานของ Center for Food Safety เรื่อง Best Public Relations that Money Can Buy: A guide to food industry front groups ได้เปิดเผยกลอุบาย 4 ประการที่บ่งบอกว่ามีการจัดตั้งองค์กรเกษตรบังหน้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์บรรษัท คือ 1) ตั้งกลุ่มหรือองค์กรที่อ้างว่าเป็นเกษตรกรรากหญ้าไม่มีสมาชิกที่เป็นเกษตรกรอย่างชัดเจน แต่กลับประชุมและร่วมแถลงข่าวกับบรรษัทข้ามชาติอยู่เนื่องๆ 2)สร้างวาทกรรมบิดเบือน เช่นผู้เสนอแบนพาราควอตเป็นพวกต้านสารเคมีทุกชนิด รับเงินต่างชาติ เป็นเหยื่อพวก NGOs 3) จ่ายเงินให้วิจัย จ้างผู้เชี่ยวชาญให้พูดแทน แต่ล้มเหลวในการเปิดเผยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน 4) สร้างความตระหนกบอกว่าเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจร้ายแรง เกษตรกรล่มสลายโดยการปั้นข้อมูลเท็จ
“ส่วนในประเทศไทยหากจะตัดสินใจว่ากลุ่มใดที่เป็นองค์กรบังหน้าอ้างว่าเคลื่อนไหวเพื่อเกษตรกรส่วนใหญ่แต่แท้จริงปกป้องผลกำไรของบรรษัท ก็อาจตรวจสอบได้จากพฤติกรรมทั้ง 4 ข้อดังกล่าว” ไบโอไทยกล่าวและระบุย้ำอีกว่า ขณะนี้ในประเทศไทย สถาบันของเกษตรอย่างเป็นทางการคือสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์และมีหนังสืออย่างเป็นทางการให้แบนสารพิษร้ายแรงคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่แสดงความผิดหวังในการต่อทะเบียนพาราควอตของกรมวิชาการเกษตร ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนในจังหวัดต่างๆ 50 จังหวัด มากกว่า 369 องค์กร สนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขให้แบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด
ในส่วนของบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรของไทยอย่างซีพีนั้น นายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานซีพีกรุ๊ปได้ให้สัมภาษณ์แสดงท่าทียอมรับการแบนหากมีการตกค้างของพาราควอตจริง ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรอีกรายคือบริษัทมิตรผล ได้ติดตั้งป้ายโฆษณากระจายไปทั่วว่า บริษัทไม่สนับสนุนให้มีการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในพื้นที่ปลูกอ้อยและนาข้าวระหว่างที่ประธานบริษัทลงพื้นที่เยี่ยมพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอีสานเมื่อเร็วๆนี้ (อ่านประกอบ ‘เจ้าสัวธนินท์’ หนุนเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ หากพบตกค้างในดิน )
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางนายธารา บัวคำศรี ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ออกรณรงค์เชิญชวนองค์กรต่างๆ ออกปกป้อง รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งถูกโจมตีว่าทำงานวิจัยไม่อยู่บนหลักวิชาการ พร้อมทั้งถูก สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เรียกร้องให้ลาออกนั้น
โดยผอ.กรีนพีซ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามอย่างร้ายแรงต่อการทำงานของนักวิชาการอิสระ ที่ได้นำความเชี่ยวชาญทางวิชาการเพื่อนำมารับใช้สังคมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวของตรวจสอบและเปิดโปงการใช้เงินหรือผลประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบของบรรษัทแทรกแซงนโยบายการแบนและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษภัยร้ายแรงโดยเร็ว
ในส่วนของการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข
อ่านประกอบ
พบเกษตรกรหนองบัวลำภูใช้พาราควอตเข้มข้น-คาดนำเข้ากว่า 8 แสนลิตร/ปี พ่อเมืองสั่งเร่งหาสาเหตุ
เปิดตัวเลข 3 ปี ย้อนหลัง นำเข้าสารเคมีอันตราย พบ ‘ไกลโฟเซต’ สูงสุด มูลค่ารวม 1 หมื่นล.
องค์กรผู้บริโภคจี้ รมว.เกษตรฯ เพิกถอน ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ หลาย จว.เคลื่อนไหวหนุนแบน
กรมวิชาการเกษตรขอหารือ คกก.วัตถุอันตราย ก่อนเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’
เอ็นจีโอยกงานวิจัยโต้กลุ่มค้านยกเลิก ‘พาราควอต’ ยันมีพิษเฉียบพลัน ไม่มียาถอน
นักวิชาการชี้ “พาราควอต” มีอันตรายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ยันไม่ซึมผ่านผิวหนัง ยกเว้นมีแผล
ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงโต้ ยัน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' อันตราย จี้เพิกถอนพ้นทะเบียน
ขีดเส้น 1 เดือน กษ.เพิกถอนทะเบียน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์