เอ็นจีโอยกงานวิจัยโต้กลุ่มค้านยกเลิก ‘พาราควอต’ ยันมีพิษเฉียบพลัน ไม่มียาถอน
เอ็นจีโอแถลงโต้กลุ่มต้านยกเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ ยกงานวิจัยสู้ เผย มีพิษเฉียบพลันสูง ซึมผ่านผิวหนังถึงตาย เกือบ 50 ประเทศทั่วโลกปฏิเสธ -ยูเอ็นประณามสวิสฯ-อังกฤษ ยังผลิตส่งออก
วันที่ 11 ก.ย. 2560 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน), มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไท), เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และภาคีเครือข่าย จัดแถลงข่าวโต้ตอบภาคเอกชนที่คัดค้านการแบนสารพิษ “พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต” ณ เคยูโฮม ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เปิดเผยถึงเหตุผลต้องยกเลิกการใช้ ‘พาราควอต’ เพราะมีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ และยังเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคพาร์กินสัน ระบบประสาท และสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่าด้วย ไม่เพียงเท่านั้น พาราควอตยังถูกดูดซึมผ่านผิวหนังทำให้เป็นพิษถึงตาย ทำให้ปัจจุบันมีอย่างน้อย 48 ประเทศทั่วโลก ยกเลิกและจำกัดการใช้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีคำโต้แย้งจากผู้คัดค้านยกเลิกและจำกัดการใช้ โดยระบุว่า พาราควอตมีพิษเฉียบพลันปานกลาง ทั้งที่ความจริงมีพิษเฉียบพลันสูง โดยสหภาพยุโรปรายงานว่า การสัมผัสพาราควอตจากเครื่องพ่นแบบสะพายหลังสูงมากกว่าระดับมาตรฐานถึง 60 เท่า ในกรณีสวมอุปกรณ์ป้องกัน และเกิน 100 เท่า หากไม่ได้สวม
“ประเทศไทยมีข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี พบอัตราการตายของผู้ป่วยที่ได้รับสารพาราควอตทางผิวหนังสูงร้อยละ 10 คำถามคือเกษตรกรของไทยมีกี่คนที่ใส่ชุดป้องกันในระหว่างฉีดสารเคมีชนิดนี้” ผู้ประสานงานไทยแพน กล่าว และว่า ที่ผ่านมามีตัวอย่างประเทศที่มีการแบน เช่น สวีเดน (1983) ฟินแลนด์ (1986) ฮังการี (1991) ออสเตรเลีย (1993) เดนมาร์ก (1995) สโลวีเนีย (1997) ดังนั้นข้ออ้างของบริษัทสารพิษที่ระบุว่า พาราควอตเป็นพิษเฉียบพลันไม่สูงจึงไม่เป็นความจริง
น.ส.ปรกชล ยังระบุถึงข้ออ้างพาราควอตไม่สามารถซึมผ่านเข้าสู่ชั้นไขมันของผิวหนังได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว สารเคมีชนิดนี้สามารถเข้าสู่ผิวหนังได้ในกรณีมีบาดแผลเล็กน้อยหรือแผลเผาไหม้ที่เกิดจากฤทธิ์ของพาราควอตเอง ที่สำคัญ มีงานวิจัยที่ชี้ชัดมานานมากแล้วของ Smith JG ตีพิมพ์ใน Human Toxicology Journal ได้ทบทวนพาราควอตผ่านการเข้าสู่ผิวหนังพบว่า ในขณะที่พาราควอตไม่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่บาดแผลบนผิวหนังและบาดแผลเผาไหม้ที่เกิดจากสารชนิดนี้จะทำให้เกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว
“22 ส.ค. 2560 องค์การสหประชาชาติ ได้ประณามการส่งออกพาราควอตของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษ เนื่องจากสหภาพยุโรปแบนแล้ว แต่กลับอนุญาตให้ผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่มีกฎหมายและการบังคับใช้ที่อ่อนแอกว่านั่นเอง”
ขณะที่การสนับสนุนให้ยกเลิกสารคลอร์ไพริฟอส ผู้ประสานงานไทยแพน กล่าวถึงงานวิจัยที่ยืนยันว่ามีผลทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการสมอง เด็กจะมีไอคิวลดลง และสมาธิสั้น ซึ่งลูกจะได้รับจากแม่ระหว่างตั้งครรภ์ โดยเด็กที่รับระดับสูงจะมีพัฒนาการสมองน้อยกว่าปกติ มีร่องสมองห่างมากกว่าเด็กที่ได้รับน้อยกว่าหรือไม่ได้รับเลย
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ โดยจากการศึกษาจากสัตว์ทดลอง พบมีความผิดปกติ ฮอร์โมนเพศลดลง นักวิจัยจึงสรุปว่า คลอร์ไพริฟอสส่งผลเสียต่อต่อมน้ำนม และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมด้วย ขณะที่อีกงานวิจัยยังค้นพบว่า สารเคมีชนิดดังกล่าวเป็นสารต้านแอนโดรเจน ทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายลดลง ส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้รศ.ดร.สรา อาภรณ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ได้กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “บทบาทของสารกำจัดศัตรูพืชกับพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย โดยระบุพาราควอตละลายในไขมันไม่ได้ดี แต่ละลายได้ดีในน้ำ โอกาสผ่านผิวหนังจึงมีน้อยมาก ยกเว้นมีบาดแผล (อ่านประกอบ:นักวิชาการชี้ “พาราควอต” มีอันตรายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ยันไม่ซึมผ่านผิวหนัง ยกเว้นมีแผล)
อ่านประกอบ:ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงโต้ ยัน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' อันตราย จี้เพิกถอนพ้นทะเบียน
ขีดเส้น 1 เดือน กษ.เพิกถอนทะเบียน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์
สองมาตรฐาน ยูเอ็นประณามบริษัทสวิสฯ ส่งออกพาราควอตไปประเทศกำลังพัฒนา