- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- สาธารณสุขและสุขภาพ
- ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงโต้ ยัน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' อันตราย จี้เพิกถอนพ้นทะเบียน
ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงโต้ ยัน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' อันตราย จี้เพิกถอนพ้นทะเบียน
ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงตอบโต้ บ.เอกชน ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' ยกงานวิจัยสู้มีผลกระทบต่อคน จี้ กษ.เร่งเพิกถอนจากทะเบียน
ตามที่ บริษัท ซินเจนทา ได้เผยแพร่ข่าวสารเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนนโยบายระงับนำเข้า จำหน่าย และไม่อนุญาตให้ต่ออายุการขึ้นทะเบียนพาราควอต โดยอ้างว่า จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของเกษตรกรมากกว่า 1.5 ล้านคนสูงขึ้น และบริษัทยืนยันว่าความเป็นอันตรายของสารดังกล่าวไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน องค์การอนามัยโลกยังไม่รับรองในผลวิจัยนี้ และจัดให้อยู่ในกลุ่มสารที่ไม่อันตรายสูง และอ้างว่ายังคงมีการใช้พาราควอตในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป เวียดนาม
พร้อมกับความเคลื่อนไหวดังกล่าว น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้ถอนและระงับการนำเข้าสารเคมีพาราควอตนั้น ในฐานะดูแลกรมวิชาการเกษตร ว่า ได้เชิญตัวแทนเอ็นจีโอเข้ามาคุย พร้อมให้นำเอกสารหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า สารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน แต่ในเวทีการหารือเอ็นจีโอไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันได้
มีเพียงบทความที่ลงในสื่อต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการถอดถอนสารเคมีหรือห้ามนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นจากนี้ต่อไปเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่า สารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน ต้องถอดถอนออกจากทะเบียนสารเคมีและห้ามนำเข้าหรือไม่
มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สภาเกษตรกรแห่งชาติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และตัวแทนองค์กรชุมชนท้องถิ่นที่ตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบของสารพิษกำจัดศัตรูพืช เห็นว่า ข้อมูลและข่าวสารที่เผยแพร่ดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่เหมาะสม และอาจนำไปสู่การดำเนินการของ กษ.ในทิศทางที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน และสร้างผลกระทบต่อประชาชน ดังนี้
1.มีความพยายามของกลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากการค้าสารพิษเบี่ยงเบน ลดทอนความชอบธรรม การยกเลิกสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงว่า มาจากแรงผลักดันขององค์กรสาธารณประโยชน์เป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่ข้อเสนอดังกล่าวมาจากมติของ “คณะกรรมการการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” ซึ่งเป็นคณะทำงานที่มีตัวแทนของ 4 กระทรวงหลัก รวมทั้งตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมด้วย
โดยก่อนที่ นพ.ปิยะสกุล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะมีคำแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสต เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2557 นั้น คณะทำงานฯ ได้ประชุมหลายครั้ง และเชิญนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูล ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะมีมติดังกล่าว โดยข้อเสนอให้มีการแบนสารคลอร์ไพริฟอสเองก็มาจากข้อเสนอของตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรที่เห็นว่าการจำกัดการใช้สารดังกล่าวบังคับใช้ได้ยากกว่าการประกาศแบน
2.คณะผู้แถลงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทของกระทรวงเกษตรฯ กรณีคำสัมภาษณ์ของ รมช.กษ.ว่ามีเจตนาเช่นไร ที่อ้างว่า “จากนี้ต่อไปเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าสารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน ต้องถอดถอนออกจากทะเบียนสารเคมีและห้ามนำเข้าหรือไม่”
เนื่องจากโดยหลักการซึ่งพิจารณาตามบทบาทและความเชี่ยวชาญแล้ว สธ.คือหน่วยงานหลักของรัฐในการวินิจฉัยปัญหาของสารพิษที่มีผลกระทบต่อสุขภาพไม่ใช่ กษ. เมื่อสธ.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่จะอนุญาตให้มีการใช้ต่อไปได้
กรมวิชาการเกษตรควรมีหน้าที่ยุติการขึ้นทะเบียนและเพิกถอนทะเบียนสารพิษดังกล่าวตามอำนาจในมาตรา 38 และ 40 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย และหาทางเลือกอื่นในการกำจัดวัชพืชแนะนำต่อเกษตรกร มิใช่เตะถ่วงดคงเรื่องวินิฉัยความเป็นอันตรายของสารพิษมาอยู่ในมือของกรม ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้มากพอ
นอกเหนือจากนั้น คำให้สัมภาษณ์ของ รมช.กษ.ที่อ้างว่า “ได้เชิญเอ็นจีโอเพื่อให้นำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการแบนพาราควอต และเอ็นจีโอไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน” ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากในที่ประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อหารือเรื่อง นโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย และการสุ่มตรวจความปลอดภัยของสินค้า มิได้เชิญให้เตรียมนำเสนอเกี่ยวกับการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามที่ปรากฎในข่าวแต่ประการใด
3.กรณีผู้บริหารของบริษัท ซินเจนทา ได้ให้สัมภาษณ์เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการระงับการนำเข้า จำหน่าย และไม่อนุญาตให้มีการต่ออายุการขึ้นทะเบียนพาราควอต โดยปรากฎในสื่อหลายฉบับนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า โดยไม่รับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
3.1 การกล่าวหาว่าข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง พาราควอตมีผลกระทบต่อสุขภาพนั้นไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่าง งานวิจัยเรื่องผลกระทบของพาราควอตว่า มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคพาร์กินสันนั้น มาจากการสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยจำนวน 104 ชิ้น อย่างเป็นระบบ (meta analysis) ของ Gianni Pezzoli และ Emanuele Cereda ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology May 28, 2013 vol.80 n0.22 โดยจากการศึกษาทั้งแบบ Cohort และ case-control ยืนยันว่า การสัมผัสสารพาราควอตมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน
การอ้างเหตุผลว่า พาราควอตไม่น่าจะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ เพราะลักษณะโมเลกุลไม่สามารถผ่านผนังเซลส์ของสมองได้นั้น งานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พิสูจน์พบว่า พาราควอตสามารถเข้าสมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ โดยอาศัยผ่านกลไกพิเศษ (neutral amino acid pump) ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลองจริง งานวิจัยของสถาบันฯ ยังพบด้วยว่า พาราควอตสามารถทำให้เซลส์ประสาทชนิดหนึ่ง (A549) ได้รับผลกระทบและทำให้สัตว์เคลื่อนไหนผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการของพาร์กินสัน
3.2 การที่ บริษัท ซินเจนทา อ้างว่า พาราควอตเป็น “สารที่ไม่อันตรายสูง” นั้น เป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป แม้ว่าค่าความเป็นพิษ ที่ระดับ 113.5 มก./กก. ของพาราควอต (WHO 2002) หมายถึงการได้รับพาราควอตทางปากเพียง 6.15 ซีซี (หรือประมาณมากกว่าหนึ่งช้อนชาเล็กน้อย) ก็ทำให้ผู้ได้รับสารพิษมีโอกาสเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ผลกระทบที่เป็นปัญหาสำคัญของพาราควอต คือผลจากการนำมาฉีดพ่น เกิดการสัมผัสกับผิวหนัง การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน จนมีรายงานพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายกรณี
3.3 บริษัทอ้างว่า พาราควอตยังมีการใช้ในหลายประเทส รวมทั้งในสหภาพยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม เป็นการให้ข้อมูลเท็จ
สหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้มีการใช้พาราควอต (ไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน) ซึ่งเป็นผลจากคำตัดสินของศาลของประชาคมยุโรป เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2550 ครอบคลุมทั้ง 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ถ้าไล่เรียงการเคลื่อนไหวในการยกเลิกการใช้ในแต่ละประเทสสมาชิก จะพบว่า มีการยกเลิกมาเป็นลำดับ เช่น
สวีเดน ห้ามใช้พาราควอตในปี 1983
ฟินแลนด์ ยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1986 เนื่องจากพาราควอตมีความเป็นพิษสูง ถึงแม้ได้รับในปริมาณน้อย และส่งผลให้เสียชีวิตได้
ฮังการี ยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1991 เนื่องจากมีอัตราการตายที่สูง เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการใช้
เดนมาร์ก ยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1995 เนื่องจากพาราควอตสามารถตกค้างในดินได้นาน และมีพิษร้ายแรง กระต่ายที่กินหรือเดินบนหญ้าที่มีพาราควอตปนเปื้อนทำให้เสียชีวิตได้
แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท ซินเจนทา ไม่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ปี 1990
ขณะที่เวียดนาม ยกเลิกการใช้พาราควอตเมื่อ 8 ก.พ. 2560 โดยกำหนดระยะเวลา phase out ภายใน 2 ปี
จากการประมวลข้อมูลโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า พาราควอตไม่ได้รับอนุญาตให้มีการช้ใน 47 ประเทศทั่วโลก
3.4 บริษัทอ้างว่าการแบนพาราควอตทำให้เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ขาดทางเลือกและต้องมีต้นทุนในการกำจัดศัตรูพืชสูงขึ้น ซึ่งเป็นไม่ความจริง
กรณีอ้อย
-งานศึกษาของม.เกษตรศาสตร์ (นาตยา กาฬภักดี และอรรถสิทธิ์ บุญธรรม 2012) พบว่า การปลูกถั่วพุ่มระหว่างแถวอ้อย การใช้แรงงานคนจำกัดวัชพืช การใช้จอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์ และการใช้พาสติกคลุมดินระหว่างแถวอ้อย ได้ผลผลิตอ้อยไม่แตกต่างกับวิธีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยที่การใช้จอมหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์มีต้นทุนต่ำที่สุด และการใช้จอบหมุนร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้ผลกำไรสูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่น ๆ
-งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร เรื่อง วิธีจัดการวัชพืชแบบผสมผสานในอ้อย โดยลดการใช้สารกำจัดวัชพืช พบว่า การใช้สารกำจัดศัตรูพืชก่อนงอก เพนดิเมทาลินกับอิมาซาพิก ร่วมกับปลูกปอเทืองที่ 30 วัน หลังพ่นสารแล้ว ตัดปอเทืองคลุมดินที่ 50 วันหลังปลูกสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีและระยะเวลาในการควบคุมวัชพืชยาวนาน และมีผลผลิตสูงกว่าใช้สารก่อนงอกร่วมกับพ่นพาราควอตที่ 60 วันหลังปลูก
-กรมวิชาการเกษตรวิจัยหาวิธีการกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอกที่เหมาะสมแต่ละแหล่งปลูก พบว่า ทางเลือกหนึ่งในการกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอกเมื่อมีปัญหาแรงงาน เวลา และปัญหาการใช้เครื่องทุ่นแรงในระยะดินเปียกและแฉะ คือ ใช้สารอะมีทรีน (ametryn) ซึ่งราคาถูกกว่าพาราควอต
งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ปี 2551 พบว่า การใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นหลังปลูกอ้อย 45 วัน ของศูนย์วิจัยพืชไร่นครราชสีมา ไม่สามารถควบคุมวัชพืชได้ และการใช้พาราควอตให้ผลผลิตอ้อยต่ำกว่าการกำจัดวัชพืชโดยวิธีอื่น ส่วนการใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตาม รวมทั้งจอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์ให้ผลผลิตอ้อยสูงกว่าการใช้สารกำจัดวัชพืช
กรณีมันสำปะหลัง
-งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ปี 2556 พบว่า จากการทดลองใน 7 จังหวัด ในมันสำปะหลังพบว่า การใช้สารเอส-เมโทลาคลอร์ กับฟลูมิออกซาซิน (s-metolachlor+flumioxazin) และสารอะลาคลอร์กับไดยูรอน (alachlor+diuron) มีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชได้ดีมากจนถึงระยะ 60 วัน หลังใช้ในทุกพื้นที่ที่ทำการทดลอง มากกว่าวิธีการใช้สารเดี่ยวก่อนงอกหรือกาช้พาราควอตหลังงอก
กรณีปาล์มน้ำมัน
กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำให้ใช้สารกลูโฟซิเนต แอมโมเนีย คำแนะนำดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยของ UPM (Universiti Putra Malaysia) ในมาเลเซีย พบว่า สารเคมีชนิดอื่น เช่น กลูโฟซิเนต แอมโมเนีย และไกลโฟเสต มีประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชในสวนปาล์มดีกว่าพาราควอตมาก เมื่อวัดจากตัวชี้วัดสำคัญในการกำจัดวัชพืช เช่น อัตราการตาย น้ำหนักแห้งของวัชพืช และความหนาแน่นของวัชพืช
แม้ว่ากลูโฟซิเนตมีราคาสูงกว่าพาราควอต ประมาณ 4-5 เท่า แต่ประสิทธิภาพการกำจัดวัชพืชของกลูโฟซิเนตสูงกว่า จากการทดลองพบว่า ต้องมีการใช้พาราควอตในปริมาณสารออกฤทธิ์มากถึง 4 เท่าของกลูโฟซิเนต แอมโมเนีย ในขณะที่ไกลโฟเซต ซึ่งงานวิจัยพบว่า กำจัดวัชพืชมีประสิทธิภาพกว่าพาราควอตนั้น ราคาถูกกว่าประมาณ 30-40% และต้องใช้มากเป็น 2 เท่าของไกลโฟเสต ถึงจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับสองสารดังกล่าว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงไปสารอื่น ๆ ใช้กลูโฟซิเนตจึงไม่ได้มีราคาสูงดังที่มีการกล่าวอ้าง
4.การต่อต้านการใช้พาราควอตของผู้บริโภคและตลาดโลก
ปัญหาผลกระทบของพาราควอตที่มีต่อเกษตรกรและแรงงานในการผลิตทางการเกษตร เช่น ปาล์ม กล้วย อ้อย เกิดแรงกดดันให้ตลาดโลกปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่มาจากการใช้พาราควอตมากขึ้น ๆ ยกตัวอย่าง บริษัทปาล์มยักษ์ใหญ่ของโลก มีพื้นที่ปลูกปาล์มรวมกันกว่า 14.5 ล้านไร่ ยุติการใช้พาราควอตอย่างสิ้นเชิง
-Golden Agri Resources-GAR บริษัทสัญชาติมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มเกือบ 5 แสนแฮกตาร์ ประกาสยุติการใช้พาราควอตนับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2016 เป็นต้นไป
-Sime Darby บริษัทสัญชาติมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 1 ล้านแฮกตาร์ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไลบีเรีย ปาปัวนิวกีนี และโซโลมอน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ (6 แสนแฮกตาร์) ปลูกปาล์มน้ำมัน บริษัทนี้ยุติการใช้พาราควอตตั้งแต่ต้นปี 2000
-Wilmar บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ มีพื้นที่ปลูกปาล์มรวม 2.4 แสนแฮกตาร์ โดย 69% อยู่ในอินโดนีเซีย 24% อยู่ในมาเลเซีย และ 7% อยู่ในแอฟริกา บริษัทนี้เริ่มเฟสเอาท์พาราควอตตั้งแต่ปี 2008 และยกเลิกโดยสมบูรณ์ในปี 2011 รวมทั้งกำหนดให้บริษัทผู้ปลูกปาล์มอื่น ๆ ที่จัดส่งวัตถุดิบให้ต้องยุติการใช้พาราควอตภายในปี 2015
-IndoAgri ยักษ์ใหญ่อินโดนีเซีย ผู้ผลิตปาล์ม 3.3 แสนแฮกตาร์ ประกาศนโยบายการผลิตปาล์มอย่างยั่งยืน 2017 เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จะยุติการใช้พาราควอตในทันที
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป มาตรฐานของการผลิตและสินค้าที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมกลายเป็นคุณค่าที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป ดังตัวอย่างมาตรฐานการผลิตปาล์มที่ยั่งยืน RSPO NEXT ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตปาล์มต้องยกเลิกการใช้พาราควอต ขณะนี้การต่อต้านการใช้พาราควอตของตลาดโลกยังขยายไปสู่การผลิตพืชอื่น ๆ เช่น กล้วย อ้อย และอาจรวมถึงมันสำปะหลังในที่สุดด้วย
ประเทศไทยปล่อยปละละเลยให้มีการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชโดยปราศจากการควบคุมอย่างเข้มงวดมานานเกินพอ จนประเทศซึ่งมีขนาดพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก สร้างผลกรทะบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ส่งผลกระทบต่อปัญหาการตกค้างของสารพิษในอาหารและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
กษ. โดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว และมีอำนาจตามมาตรา 38 และ 40 ของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ต้องรีบดำเนินการเพิกถอนทะเบียนพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ตามข้อเสนอของ สธ. ซึ่งเป็นผลจากมติคณะทำงานที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบโดยเร็ว
การเตะถ่วงเรื่องนี้ออกไปโดยอ้างผลกระทบต่อเกษตรกร ทั้ง ๆ ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของเกษตรกรทั่วประเทศเรียกร้องให้มีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง อาจสร้างความคลางแคลงใจว่าผู้บริหารของ กษ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อบรรษัทสารพิษ? .
อ่านประกอบ:ขีดเส้น 1 เดือน กษ.เพิกถอนทะเบียน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์
ภาพประกอบ:http://www.erawanagri.com/articledetail_th.aspx?a=5&nid=38