- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- พบเกษตรกรหนองบัวลำภูใช้พาราควอตเข้มข้น-คาดนำเข้ากว่า 8 แสนลิตร/ปี พ่อเมืองสั่งเร่งหาสาเหตุ
พบเกษตรกรหนองบัวลำภูใช้พาราควอตเข้มข้น-คาดนำเข้ากว่า 8 แสนลิตร/ปี พ่อเมืองสั่งเร่งหาสาเหตุ
นักวิจัย สกว. ลงพื้นที่หาปัจจัยของสารเคมีทางการเกษตรต่อการเป็นโรคเนื้อเน่า หลังมียอดผู้ป่วยนับร้อยราย พบเกษตรกรใช้พาราควอตเข้มข้น คาดนำเข้ากว่าปีละ 8 แสนลิตร พ่อเมืองสั่งเร่งหาสาเหตุและการแก้ปัญหาสู่ “หนองบัวลำภูโมเดล” และขยายผลในภาคอีสานตอนบน
จากสถิติปัญหาของโรคเนื้อเน่านับตั้งแต่ปี 2557 ของโรงพยาบาลหนองบัวลำภู ซึ่งมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวประมาณปีละ 120 ราย โดยในปีล่าสุด 2560 พบว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 102 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับสารเคมีทางการเกษตร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูจึงได้ติดต่อขอให้ รศ. ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัย สกว. จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการวิจัยเพื่อหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ และความสัมพันธ์ของสารเคมีเหล่านี้กับการเกิดโรคเนื้อเน่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวิจัยของ รศ. ดร.พวงรัตน์ได้ร่วมดำเนินการวิจัยกับ ทพญ.วรางคณา อินทโลหิต จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และ ดร.ภาสกร บัวศรี ผู้ประสานงานและนักวิจัยท้องถิ่น สกว. โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลสถิติ สัมภาษณ์เกษตรกรและผู้ป่วย รวมทั้งเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมเพื่อวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในดิน ตะกอนดิน น้ำในลำน้ำ อ่างเก็บน้ำ และผัก ในเขตพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหา เพื่อให้ได้ภาพเบื้องต้นของปัญหาที่เกิดขึ้น
จากการลงพื้นที่พบว่า เกษตรกรใช้สารเคมีหลายชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต อาทราซีน และอามิทรีน ในการกำจัดวัชพืชในแปลงของไร่ยางพาราและไร่อ้อย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรได้ขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก และใช้สารพาราควอตเป็นสารเคมีหลัก ทำให้มีการนำเข้าสารดังกล่าวมากกว่า 3 แสนลิตร คาดว่าทั้งจังหวัดจะมีการใช้สารมากกว่า 8 แสนลิตรต่อปี
คณะวิจัยฯ ได้สัมภาษณ์ พบว่า เกษตรกรนิยมใช้สารเคมีพาราควอตอย่างเข้มข้นมากกว่าที่ฉลากระบุถึง 4 เท่า โดยผสมสารพาราควอต 400 มิลลิลิตรกับน้ำ 20 ลิตร ซึ่งเป็นอัตราส่วนเข้มข้นสูงมาก ทำให้มีโอกาสของเกิดการตกค้างของสารเคมีในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำในพื้นที่ในระดับความเข้มข้นที่สูงจนก่อให้เกิดอันตรายได้
ผลของงานวิจัยในส่วนของการเจ็บป่วยของเกษตรกร พบว่า พื้นที่ของจังหวัดหนองบัวลำภูมีผู้ป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าเป็นอันดับ 1 ของผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมของโรงพยาบาลหนองบัวลำภูตั้งแต่ปี 2553-2556 ปีละ 100-140 คน ส่งผลทำให้พิการหรือเสียชีวิตเกือบร้อยละ 10 ของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามักมีการสัมผัสกับน้ำในลำน้ำ นาข้าว หรืออ่างเก็บน้ำเป็นเวลานาน หลายรายมีบาดแผลในบริเวณแขน ขา จากการทำงานและไปล้างตัวในแหล่งน้ำที่รองรับสารเคมีทางการเกษตรดังกล่าว อาการผื่นบนผิวหนัง คัน และเกิดแผลไหม้ในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสร่วมกับอาการเป็นไข้สูง เป็นอาการเริ่มต้นของโรคเนื้อเน่ามักเกิดขึ้นภายในเวลา 1-2 วัน ซึ่งต้องนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลโดยด่วน
และจากสถิติของการรักษาโรค พบว่า ผู้ป่วยหลายรายต้องถูกตัดอวัยวะขาหรือแขนเพื่อรักษาชีวิตไว้ โดยทางแพทย์ได้วินิจฉัยถึงการเป็นโรคที่มาจากแบคทีเรียเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งอยู่ในกลุ่มของแบคทีเรียชนิดไม่ใช้อากาศ เช่น Bacteroides fragilis, Clostidium, Pepto Streptococcus และแบคทีเรียชนิดใช้อากาศ เช่น E.Coli, Enterobacter, Klebsiella, Proteus, non- group A streptococcus ซึ่งรวมถึงแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ แบคทีเรียเหล่านี้มักพบในแหล่งน้ำจืด ซึ่งจากผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมโดยคณะนักวิจัย ได้ยืนยันว่า ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมทั้ง ดิน ตะกอนดิน ลำน้ำ และอ่างเก็บน้ำที่นำมาตรวจสอบนั้นมีการตกค้างของสารเคมีพาราควอตในทุกตัวอย่าง และอยู่ในระดับความเข้มข้นที่สูง
ในขณะที่มีการตรวจพบสารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่น ๆ ในปริมาณต่ำมาก จึงมีแนวโน้มว่าแหล่งน้ำทั้งอ่างเก็บน้ำและลำน้ำในพื้นที่มีทั้งสารเคมีพาราควอตและเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้ต้องมีงานวิจัยทางการแพทย์ระบุถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยในการเกิดโรคทั้งสองส่วนต่อไป
รศ. ดร.พวงรัตน์ กล่าวว่า คณะวิจัยได้นำเรียนผลการวิจัยดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะผู้บริหารจังหวัดหนองบัวลำภู โดยทางจังหวัดได้มอบนโยบายให้มีการดำเนินการค้นคว้าวิจัยเพื่อแก้หาสาเหตุและการแก้ปัญหาการเจ็บป่วยของโรคที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทางการเกษตรอย่างเร่งด่วน โดยมอบให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการระดับจังหวัด โดยความร่วมมือของสำนักงานเกษตรจังหวัด และให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเสนอรายชื่อคณะนักวิจัยและดำเนินการวิจัยร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ “หนองบัวลำภูโมเดล” ในการแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งมอบนโยบายเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนซึ่งทางจังหวัดได้ดำเนินการมาแล้วใน 58 ชุมชน โดยใช้ศาสตร์ของพระราชาในการปลูกพืชปลอดสารเคมีมาใช้ควบคู่กันไปกับการแก้ปัญหาโรคจากสารเคมีทางการเกษตร เพื่อนำขยายผลการแก้ปัญหาไปสู่พื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานตอนบน ซึ่งประสบปัญหา “โรคเนื้อเน่า” อยู่ในลักษณะเดียวกันในหลายจังหวัดต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กรมวิชาการเกษตรยันต่ออายุขึ้นทะเบียน 'พาราควอต' ไม่เอื้อประโยชน์ใคร
สช.ค้านกรมวิชาการเกษตร ต่ออายุการใช้ “พาราควอต” ทั้งที่รู้เป็นสารเคมีอันตราย
เปิดตัวเลข 3 ปี ย้อนหลัง นำเข้าสารเคมีอันตราย พบ ‘ไกลโฟเซต’ สูงสุด มูลค่ารวม 1 หมื่นล.
เกษตรกร-ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมฯ เรียกร้องภาครัฐยกเลิกนโยบายจำกัดใช้ไกลโฟเซต
องค์กรผู้บริโภคจี้ รมว.เกษตรฯ เพิกถอน ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ หลาย จว.เคลื่อนไหวหนุนแบน
กรมวิชาการเกษตรขอหารือ คกก.วัตถุอันตราย ก่อนเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’
เอ็นจีโอยกงานวิจัยโต้กลุ่มค้านยกเลิก ‘พาราควอต’ ยันมีพิษเฉียบพลัน ไม่มียาถอน
นักวิชาการชี้ “พาราควอต” มีอันตรายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ยันไม่ซึมผ่านผิวหนัง ยกเว้นมีแผล
ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงโต้ ยัน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' อันตราย จี้เพิกถอนพ้นทะเบียน
ขีดเส้น 1 เดือน กษ.เพิกถอนทะเบียน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์
สองมาตรฐาน ยูเอ็นประณามบริษัทสวิสฯ ส่งออกพาราควอตไปประเทศกำลังพัฒนา