ผอ.มูลนิธิชีววิถี ชี้แบนสารพาราควอต เจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
ผอ.มูลนิธิชีววิถี ชี้แจง มติแบนสารเคมีอันตรายสองชนิด เป็นไปตามขั้นตอนของคณะทำงาน ย้ำให้ดูเจตนาเรื่องป้องกันสุขภาพของเกษตรกรเป็นหลัก เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรออกมาทำความเข้าใจในประเด็นนี้
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ให้สัมภาษณ์ทางสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มติเตรียมยกเลิกสารเคมีอันตราย 2 ชนิด คือ สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส มีผลในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ส่วนสารไกลโฟเสต ให้จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด โดยภายหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีกลุ่มเอ็นจีโออยู่เบื้องหลังมติดังกล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวชี้แจงว่า กระบวนการยกเลิก มีขั้นตอนการพิจารณา ที่มีกรมวิชาการเกษตรเป็นคนพูดถึงทางเลือกสำหรับเกษตรกร ในการใช้สารเคมีทางเลือก ซึ่งทางเลือกที่ว่า ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการใช้สารเคมีอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการกำจัดศัตรูพืชโดยใช้เครื่องมือกล เป็นต้น ทั้งนี้สารเคมีที่จะเข้ามาทดแทนก็พิจารณาในกรอบของผลตอบแทน ของต้นทุนและ รายได้ จะเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่า หลายตัวผลตอบแทนจะดีกว่า มีหลายชนิดที่ดีกว่า พาราควอต
นายวิฑูรย์กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรจำเป็นต้องเอาข้อมูลเหล่านี้ออกมาให้ประชาชน เพราะปัจจุบันมีข้อมูลจากกลุ่มที่พยายามจะผลักดันให้มีการใช้สารตัวเดิม แทบไม่มีการพูดถึงทางเลือก
“สารแต่ละชนิด มีคุณสมบัติ และโทษสมบัติแตกต่างกัน ฉะนั้นการหาสารอื่นมาแทน ก็แทนในเชิงที่ว่า เมื่อแทนเเล้วผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกันดีกว่ามีไหม ที่ไทยแพนพบก็พบว่า มีหลายตัวที่ใช้แทนได้ กรมวิชาการการเกษตรมีข้อมูลเรื่องนี้ ควรจะเผยแพร่ เพิ่มมากขึ้น”
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับความจริงว่าสารเคมีพวกนี้อันตรายมาก เราจะดูแค่เรื่องราคา ถูกกว่าหรือแพงกว่า เพราะสารบางตัวไม่สามารถใช้ได้จริงๆ ทั่วโลกเลิกใช้ไปเยอะเเล้ว เมืองไทยต้องเร่งดำเนินการ หนึ่งกรณีในประเทศจีนที่มีการเผยแพร่อ้างเรื่องของ การฆ่าตัวตาย แต่จริงๆ เราสามารถดูได้ว่า การห้ามการใช้พาราควอตมาจากระดับนโยบายต่างๆ ของกระทรวงของจีน เรื่องความปลอดภัยที่มีต่อเกษตร สิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค คำประกาศเรื่องแบนพาราควอตที่เป็นชนิดน้ำ คำประกาศไม่ใช่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ตอนนี้ ไม่ตรงกับความเป็นจริง
“เวลาพูดถึงผลประโยชน์ของเกษตรกร เหตุผลที่จำเป็นต้องยกเลิก มากกว่าจะมองเหตุผลเรื่องของว่า สารนี้ถูกกว่าสารอื่น เราต้องมองทุกมิติโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของชีวิต ที่ผ่านมาเรามักอ้างเกษตรกรเป็นผู้ได้รับผลกระทบหากเปลี่ยนสาร ราคาจะเเพง แต่ความจริงคนที่พูดบางทีไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นผู้ประกอบการที่มาอ้างเกษตรกร” นายวิฑูรย์กล่าว.
อ่านประกอบ:
เล็งยกเลิก สารเคมีอันตราย 2 ชนิด พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลง กว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ภาพประกอบจาก มูลนิธิชีววิถี