ขีดเส้น 1 เดือน กษ.เพิกถอนทะเบียน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
ภาคประชาสังคมจี้ ก.เกษตรฯ เพิกถอนทะเบียน ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ หลังสธ.มีมติเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเสี่ยงสูง ขีดเส้น 1 เดือน ไม่ดำเนินการ เตะถ่วงดึงเรื่อง ปชช.ทั่วประเทศออกเคลื่อนไหวใหญ่
กรณีบริษัท ซินเจนทา ผู้ผลิตสารเคมีกำจัดวัชพืช ‘พาราควอต’ ชื่อสินค้า กรัมม็อกโซน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระงับนำเข้า จำหน่าย และไม่อนุญาตให้ต่ออายุการขึ้นทะเบียนพาราควอต ซึ่งมีมูลค่าในตลาด 1 พันล้านบาท/ปี พร้อมยืนยันว่าอันตรายของสารดังกล่าวไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน อีกทั้งมีการใช้ในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป เวียดนาม
ขณะเดียวกัน น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ในฐานะดูแลกรมวิชาการเกษตร ว่า ได้เชิญภาคประชาสังคมเข้ามาให้ข้อมูล และพบว่า ไม่มีหลักฐานมายืนยันข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ มีเฉพาะบทความในสื่อต่างประเทศเท่านั้น จึงให้กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่า พาราควอตมีอันตรายต่อสุขภาพคน และต้องถอดถอนหรือไม่
ล่าสุด วันที่ 26 ก.ค. 2560 ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย มูลนิธิชีววิถี, สภาเกษตรกรแห่งชาติ, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่น จัดแถลงข่าวตอบโต้บรรษัทสารพิษ และเรียกร้องให้ กษ. เพิกถอนทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จากความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเบี่ยงเบนหรือลดทอนความชอบธรรมในการยกเลิกสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง โดยอ้างมาจากการผลักดันของภาคประชาสังคม ทั้งที่ข้อเท็จจริงข้อเสนอทั้งหมดมาจากมติของคณะกรรมการการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง
ส่วนกรณี รมช.กษ.ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนนั้น ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุน่าจะมีปัญหา โดยยืนยันว่า การตอบรับคำเชิญเข้าพบนั้นเป็นการหารือในเรื่องการตรวจสอบผักและผลไม้ รวมถึงการยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัย และการสุ่มตรวจความปลอดภัยของอาหารเป็นหลัก แต่ภาคประชาสังคมถือโอกาสหยิบยกเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขึ้นมา โดยให้ กษ.สนับสนุนนโยบายการแบนดังกล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า รมช.กษ.พูดในที่ประชุมว่า หากสารเคมีใดที่ประเทศต้นทางเลิกใช้แล้ว ไทยไม่มีเหตุผลต้องใช้ต่อไป แต่ภายหลังบริษัทออกมาเคลื่อนไหว ทำให้ท่าทีของ กษ.เปลี่ยนไป ทั้งที่ความจริง เมื่อสธ.พิจารณาแล้วว่า พาราควอส และคลอร์ไพริฟอส มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรควรมีหน้าที่ยุติขึ้นทะเบียนและเพิกถอนทะเบียนตามอำนาจมาตรา 38 และ 40 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย
“ผ่านมา 4 เดือนแล้ว นับตั้งแต่ สธ.แถลงให้แบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าและดูเหมือนจะมีท่าทีเตะถ่วงหรือไม่ จึงรู้สึกไม่สบายใจ ดังนั้นขอให้ กษ.เร่งดำเนินการทันทีภายใน 1 เดือน หากไม่ดำเนินการใด ๆ ประชาชนทุกจังหวัดจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพของชุมชนและระบบอาหารที่เกี่ยวข้อง” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว
ด้าน น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีถูกกล่าวหาว่า ข้อค้นพบของ สธ.ไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ยืนยันไม่เป็นความจริง เพราะในกระบวนการทำงานใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ยกตัวอย่าง งานวิจัยเรื่องผลกระทบของพาราควอต ทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรคพาร์กินสัน ซึ่งมาจากการสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัย 104 ชิ้น อย่างเป็นระบบ (meta analysis) ของ Gianni Pezzoli และ Emanuele Cereda ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology May 28, 2013 vol 80 no.22
ทั้งนี้ เดิมนั้น มักอ้างเหตุผลว่า พาราควอตไม่น่าทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ เพราะลักษณะโมเลกุลไม่สามารถผ่านผนังเซลล์ของสมองได้ แต่งานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า พาราควอตสามารถเข้าสมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ โดยอาศัยกลไกพิเศษ (neutral amino acid pump) ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลองจริง และยังพบด้วยว่า พาราควอตทำให้เซลล์ประสาทชนิดหนึ่ง (A549) ได้รับผลกระทบและทำให้สัตว์เคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการของพาร์กินสัน .
อ่านประกอบ:สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์