อ๊อกซฟอร์ดปลดภาพซูจีออกจากวิทยาลัย หลังถูกวิพากษ์หนักวิกฤติโรฮิงญา
อ๊อกซฟอร์ดปลดภาพวาดซูจีลงจากประตูทางเข้าวิทยาลัยเซนต์ฮิวจ์ หลังผู้นำเมียนมาถูกวิจารณ์อย่างหนักต่อท่าทีวิกฤติโรฮิงญา สภามหาวิทยาลัยยังเตรียมพิจารณาปริญญาเอกที่เคยมอบให้ใหม่ ด้านนักรณรงค์มองการกระทำครั้งนี้ ขี้ขลาด ชี้วิทยาลัยต้องเขียนระบุให้ชัดว่าทำไปด้วยเหตุใด
(ภาพวาดนางอองซาน ซูจี โดย Chen Yanning ในปี 1997)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า วิทยาลัย St Hugh’s ภายใต้สังกัด มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (Oxford) ซึ่งเป็นที่ที่นางอองซาน ซูจี เคยศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้ทำการรื้อภาพวาดนางซูจีออกจากทางเข้าหลักของวิทยาลัยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.ย. ภายหลังจากที่นางซูจี ถูกนานาชาติกดดันและวิพากษ์วิจารณ์ท่าที่ในวิกฤติโรฮิงญา ทั้งนี้การปลดภาพวาดนางซูจีเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่ในปีนี้
เดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า ในปี 2012 นางอองซาน ซูจี ได้รับการชื่นชมและเฉลิมฉลองภายหลังได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด รวมถึงการฉลองเนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุ 67 ปีของนางซูจีในวิทยาลัยที่เธอเคยเรียน ซึ่งนางอองซาน ซูจี เข้าเรียนในวิทยาลัยเซนต์ฮิวจ์ในช่วงระหว่างปี 1964-1967 ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ ปรัชญาและเศรษฐศาสตร์
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา นางอองซาน ซูจี ในฐานะผู้นำรัฐเมียนมา ได้ถูกวิพากษ์อย่างหนักต่อท่าที่วิกฤติการความรุนแรงในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ อันเป็นเหตุให้มีผู้อพยพราว 5แสนคนภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน
ในแถลงการณ์ของวิทยาลัยเซนต์ฮิวจ์ระบุว่า ทางวิทยาลัยเพิ่งได้รับของขวัญเป็นภาพวาดชิ้นใหม่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะนำมาจัดแสดงในช่วงหนึ่ง ในส่วนภาพวาดซึ่งเป็นรูปนางอองซาน ซูจีนั้นได้ถูกปลดและนำไปเก็บไว้ในห้องเก็บของเเล้ว
ในวารสารของวิทยาลัย ยังระบุด้วยว่า การตัดสินใจปลดภาพของนางซูจีลงนั้น เป็นการตัดสินใจโดยคณะบริหารของวิทยาลัย ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มศิษย์เก่าของวิทยาลัย และอธิการบดีนาย Dame Elish Angiolini
ด้าน Mark Farmaner ผู้อำนวยการด้านการณรงค์ กล่าวว่า การกระทำครั้งนี้ของวิทยาลัยนั้นดูเป็นการกระทำที่ขี้ขลาดเกินไป หากพวกเขาจะให้เหตุผลการปลดภาพนางซูจี เพราะว่าเธอปกป้องกองทัพเมียนมาที่กระทำความรุนแรงกับกลุ่มโรฮิงญา พวกเขาต้องออกมาพูดถึงเรื่องนี้ด้วยและควรมีการเขียนจดหมายเพื่อแสดงความห่วงใยในประเด็นสิทธิมนุษยชนไปยังนางอองซาน ซูจี
เดอะการ์เดี้ยน รายงานว่า ภาพวาดดังกล่าวเป็นการวาดภาพเสมือนโดย Chen Yanning ในปี 1997 เป็นสมบัติของสามีของนางซูจี นาย Michael Aris ซึ่งเป็นนักวิชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ภายหลังจากการเสียชีวิตของนายอาริส ในปี 1999 ภาพวาดนางซูจี ก็ถูกนำมาจัดวางไว้บริเวณโถงทางเข้าของวิทยาลัยเซนต์ฮิวจ์ที่ตั้งอยู่บนถนนมาการ์เร็ต ทางฝั่งเหนือของอ๊อกซฟอร์ด
วิทยาลัยดังกล่าวยังมีศิษย์เก่าที่โดดเด่นมากมายเช่น นางเทริซ่า เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร, นิกกี้ มอร์แกน (Nicky Morgan) อดีตเลขาธิการกระทรวงศึกษาธิการและปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้ากรรมาธิการด้านการคลังของรัฐบาลสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมี นาง บาบาร่า คาสเทิล (Barbara Castle) หนึ่งในคณะรัฐมนตรีของHarold Wilson พรรคแรงงาน
ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นางเมย์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรได้ออกมากดดันถึงนางซูจีแและรัฐบาลเมียนมาให้เร่งยุติปฏิบัติการในพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดได้ตัดสินแล้วว่าจะไม่นำประเด็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของอองซาน ซูจีที่เคยหมอบให้เข้ามาพิจารณาอีก แต่ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ทางสภามหาวิทยาลัยได้แสดงท่าทีว่าจะมีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ภายหลังวิกฤติโรฮิงญา
ทางมหาวิทยาลัยได้ระบุถึงเรื่องนี้ว่า หวังว่ารัฐบาลเมียนมา ซึ่งนำโดยศิษย์เก่าอ๊อกซฟอร์ดอย่างนางอองซาน ซูจี จะสามารถจัดการปัญหาด้านเชื้อชาติและแสดงให้โลกเห็นว่าเมียนมาให้ความสำคัญต่อชีวิตพลเรือนทุกคน
ที่มาภาพ:https://www.intellinews.org
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายความมั่นคงเมียนมาเตือนยูเอ็นอย่าเรียกวิกฤติโรฮิงญาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
วงวิชาการมองวิกฤติโรฮิงญา อาเซียนแสดงบทบาทช้า หมดเวลาตั้งแต่วันที่ซูจีแถลง
สวนแถลงซูจีฮิวแมนไรซ์ฯเผยภาพดาวเทียมชุดใหม่พบบ้านโรฮิงญา 214 ชุมชนโดนเผาเรียบ
ตร.ยะไข่สลายม็อบขวางกาชาดสากลช่วยโรฮิงญา ด้านรองปธน.เมียนมาย้ำ สถานการณ์ดีขึ้นเเล้ว
ซูจีแถลงครั้งแรกวิกฤติโรฮิงญาขอประณามทุกความรุนแรงย้ำรัฐกำลังแก้ปัญหา
ไม่มี'โรฮิงญา' ในถ้อยแถลงของ ซูจี สิ่งยืนยันว่าพวกเขาไร้ตัวตน
ยูนิเซฟ ประกาศเด็กโรฮิงญา 2แสนคน ต้องการความช่วยเหลือด่วน ทั้งด้านร่างกาย-จิตใจ
ไม่ใช่เบงกาลี แต่คือโรฮิงญา สำนึกร่วม ประวัติศาสตร์บนพื้นที่อาระกัน
โรฮิงญาอพยพเเล้ว3 แสนคนรมต.ต่างประเทศบังคลาเทศชี้นี่คือ’ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
ยูเอ็นชี้วิกฤตโรฮิงญา เป็นตัวอย่างตำราฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักวิชาการชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ แทนโรฮิงญาเป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่
นักวิชาการชี้ ‘ซูจี’ ไร้อำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปมโรฮิงญา
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง