วงวิชาการมองวิกฤติโรฮิงญา อาเซียนแสดงบทบาทช้า หมดเวลาตั้งแต่วันที่ซูจีแถลง
วงวิชาการมองบทบาทอาเซียนต่อวิกฤติโรฮิงญา ชี้มาช้าไป หมดเวลาไปแล้วตั้งแต่ซูจีแถลง ถ้าต้องการรักษาเสถียรภาพในอนาคตต้องจริงจังกว่านี้ ด้านคนที่มีอำนาจสูงสุดในเมียนมาที่จะหยุดเรื่องนี้ คือพล.อ. มิน อ่อง หลาย
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.60 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. จัดสัมมนา " วิกฤตโรฮิงญากับบทบาทของอาเซียน "
ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร หัวหน้าโครงการศึกษาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในฐานะทีเมียนมาเป็นสมาชิกของอาเซียน ตั้งแต่ 13 ก.ค. 1997 เมียนมาอยากจะเข้าอาเซียนเพราะเชื่อว่า อาเซียนจะไม่แทรกแซงการเมืองภายใน ปัญหาคือว่า อาเซียนที่รับเมียนมาเข้ามาในตอนนั้น เพราะไม่อยากให้อิทธิพลจีนเข้าไปในเมียนมามากจนเกินไป แต่สิ่งหนึ่งจากปี 1997ถึง 2017 ที่ชัดมากคือ ในกรณีความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ของเมียนมา โดยเฉพาะตอนเหนือที่ติดชายแดนจีน ก็สามารถพูดได้ว่า จีนคือหลักประกันความมั่นคงของเมียนมา ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ เราจึงเห็นได้เลยว่า แม้ว่าสหประชาชาติ(ยูเอ็น) หรือไม่ว่าองค์กรใดจะออกแถลงการณ์อย่างไร เมียนมาพูดชัด มั่นใจว่ายูเอ็นไม่สามารถแทรกแซงได้ เพราะเขาเชื่อว่าทั้งจีนและรัสเซีย คือคนสนับสนุนหลักในพื้นที่ต่างๆ ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ
ดร.ฐิติวุฒิ กล่าวถึงกรณีความเป็นไปได้ของอาเซียนในการแก้ปัญหาชาติพันธุ์ของเมียนมา ซึ่งอาเซียนเน้นย้ำว่าจะไม่แทรกแซง แต่ปัญหาคือว่า ทุกคนบอกว่าอยากจะยุติความขัดแย้ง ทุกคนคิดแม้กระทั่งว่าจะส่งกำลังเข้าไปในพื้นที่ แต่ท่าทีที่อาเซียนทำได้ดีที่สุดคือ การให้กำลังใจและสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ยกเว้นกรณี ติมอร์ตะวันออกที่ตอนนั้นไทยเป็นกำลังหลักร่วมกันยูเอ็น
"ในกรณีของเมียนมาที่อองซาน ซูจีแถลงบอกว่าจะเปิดให้ค้นหาความจริงในพื้นที่อาระกัน ไม่ได้หมายความว่า เขาต้อนรับกองกำลังจากต่างประเทศ ที่นี้ปัญหาคืออาเซียนจะทำภารกิจอะไร ก็ต้องพึ่งหลักเกณฑ์ยูเอ็นเรียกว่า รักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน หากลองจำลองกรณีในต่างชาติเข้าไปในเวทีเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมา แล้วลองมาดู สมมติมีการเปิดให้เข้ามาหาข้อเท็จจริงในพื้นที่จะทำอย่างไร" ดร.ฐิติวุฒิ กล่าว และว่า ในโต๊ะเจรจามีสามที่นั่งคือ แขกทั่วไป แขกพิเศษ และผู้สังเกตการณ์ เราจะพบว่า การเจรจาสันติภาพครั้งนั้น แขกพิเศษของเมียนมา คือ ยูเอ็นและจีน เท่านั้น ถามว่าถ้าอาเซียนจะเข้าไป จะไปในฐานะอะไร หนึ่งใช้กลไกเดียวกันกับยูเอ็น แต่สิ่งหนึ่งที่อาเซียนต้องพิจาณาเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งยังไม่ยุติ ในสถานการณ์ที่ข้อมูลข่าวสารของทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินต่อไป กรณีที่เห็นได้ชัดเจนอย่างกรณี การพบศพชาวฮินดู ที่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาปฏิเสธ (อ่านประกอบ :กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง เหตุกองทัพพบศพชาวฮินดูในยะไข่) การมีข้อมูลข่าวสารที่ล้นเกินแบบนี้ อาเซียนเข้าไปก็ต้องพิจารณาว่า อาเซียนจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง
ประเด็นต่อมา ดร. ฐิติวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตามองคือ หนึ่ง การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในอนาคต ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นสิ่งเร่งเร้าเพื่อให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ ประเด็นที่สองทุกคนในการเมืองเมียนมาพยายามรักษาพื้นที่ในการพูดออกสู่สาธารณะ เพราะอีกหนึ่งปีครึ่งเท่านั้นจะเกิดการเลือกตั้งรอบใหม่ ฉะนั้นฐานเสียงจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ประเด็นที่สาม การมองปัญหาโรฮิงญาว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
“สำหรับผมเป็นเรื่องลักหลั่นมาก ผมอยู่กับชนกลุ่มน้อยมานาน การข่มขืน การบังคับทรมานในหมู่บ้าน เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย มาตลอด 70 ปี ฉะนั้นถ้าจะเล่นเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กรุณาเอากลุ่มชาติพันธุ์อื่นพูดด้วย ในกรณีผลกระทบกับไทยและการเจรจาสันติภาพของเมียนมากับกองกำลังอื่นๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ กรณีโรฮิงญาก็ชัดเจนว่าสะเทือนต่อการเจรจาสันติภาพด้วย พูดง่ายๆ รัฐบาลเมียนมาเองก็เมามัด” ดร.ฐิติวุฒิ กล่าว
ด้านดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จุดจบของปัญหานี้จะจบอย่างไรยังหาคำตอบไม่ได้ แต่ยืนยันได้ว่า ซูจี ไม่ใช่ต้นตอของปัญหานี้ แม้ว่าจะไปถอดรางวัลโนเบลก็ตาม แท้ที่จริงใครกันแน่มีบทบาทสูงที่สุดในการแก้ปัญหาโรฮิงญาได้ นักวิเคราะห์ต่างชาติก็ฟันธงว่า อยู่ที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายผบ.ทหารสูงสุดพม่า มากกว่า
"ที่วิเคราะห์ไปอย่างนี้ ดูในทางรัฐธรรมนูญของพม่าปี 2008 กองทัพยังมีอำนาจสูงกว่ารัฐบาลพลเรือน อองซาน ซูจีเป็นเพียงที่ปรึกษารัฐ เพราะฉะนั้นอำนาจของซูจีไม่มีอำนาจสูงสุดที่จะไปแก้ปัญหานี้" ดร.ลลิตา กล่าว และว่า อำนาจเดียวที่ซูจีมีคือการ เป็นเดอะเลดี้ (The Lady) เป็นบิ๊กมาม่า (Big Mama) เป็นคุณแม่ของคนเมียนมา เพราะฉะนั้นการมีสถานะในเชิงมาเฟียของประเทศ ก็อาจทำให้อองซาน ซูจี เป็นตัวผลักดันการแก้ปัญหาได้บางส่วน เท่าที่เราฟังแถลของซูจีวันที่ 19 ก.ย. หลายคนก็คงจะรู้สึกผิดหวัง ยังไม่สุด และรัฐบาลเมียนมาพยายามปัดความรับผิดชอบ ไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ช่วงนี้กระแสด่าซูจีก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะว่าอย่างน้อยก็มีรูปธรรมอะไรออกมา
ดร.ลลิตา กล่าวอีกว่า รัฐบาลเมียนมาจากการที่ถูกกดดันจากนานาชาติ จนพล.อ. มิน อ่อง หล่าย ให้สัมภาษณ์ขอโทษต่อประชาคมโลกบอกว่า ต้องขอโทษที่การช่วยเหลือชางโรฮิงญาไปถึงช้า ซึ่งคนที่น่าจะพูดเรื่องนี้ควรเป็น ซูจี แต่คราวนี้ กองทัพกลับออกหน้า ทางออกของปัญหานี้ ต้องมาจากการพูดคุยระหว่างอองซาน ซูจี พรรค NLD และกองทัพ
"ปัญหาการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือความสัมพันธ์ของกองทัพและพรรค NLD ไม่มีการพูดคุยกันเลย นักวิเคราะห์ฟันธงว่า เพราะไม่มีการพูดคุยกันถึงได้เกิดปัญหาที่หนักมากขนาดนี้ ต่างฝ่ายต่างมีอีโก้ในตัวเอง ทำให้การแก้ปัญหาใดๆ ช้ามาก สุดท้ายสิ่งควรจะคำนึงถึงว่า เราจะทำอย่างไรต่อไป กับปริมาณชาวโรฮิงญาที่อพยพไปยังบังคลาเทศ"
ด้านดร. มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงการที่อาเซียนเพิ่งมีแถลงการณ์ออกมาเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา เหมือนกับเด็กที่หมดเวลาแล้วเพิ่งเอาการบ้านมาส่ง คือมาช้าไป ไม่รู้จะให้คะแนนอย่างไร เพราะมาหลังจากที่อองซาน ซูจีแถลง มาหลังจากคลื่นผู้อพยพสี่แสนกว่าคนหนีไปบังคลาเทศ ประชาคมอาเซียนยึดถือหลักการไม่แทรกแซงการเมืองภายในแต่ละประเทศ ซึ่งต้องแลกปับปัญหาอื่นๆ ที่บานปลายและไม่ใช่ปัญหาภายในต่อไป เช่น การที่มีผู้อพยพจำนวนมหาศาลไปบังคลาเทศ ตอนนี้กลายเป็นปัญหาระดับเอเชียใต้ไปแล้ว
ดร.มาโนชญ์ กล่าวด้วยว่า อาเซียนต้องร่วมแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งเมื่อลองเทียบกับสหภาพยุโรปหรืออียูที่เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม จะเรียกประชุมด่วนทันทีเพื่อหามาตรการรับมือแก้ไข ไม่ปล่อยให้สถานการณ์ผ่านไปจนแบบนี้ บทบาทแรกๆ ของอาเซียนคือ สิทธิมนุษยชน อาเซียนวันนี้ติดกับดักวัฒนธรรมเดิมๆ ซึ่งเป็นผลกระทบมหาศาลในอนาคตต่อเสถียรภาพของอาเซียน ดังนั้นถ้าจะแสดงท่าทีต้องจริงจังกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาประเด็นโรฮิงญามีประเด็นความขัดแย้งที่ถูกกระทำสร้างความเกลียดชังมาต่อเนื่อง ทั้งความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นอกกฎหมาย ความเป็นมุสลิมที่ถูกส่งผ่านสร้างความกลัวอิสลาม(Islamophobia)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวนแถลงซูจีฮิวแมนไรซ์ฯเผยภาพดาวเทียมชุดใหม่พบบ้านโรฮิงญา 214 ชุมชนโดนเผาเรียบ
ตร.ยะไข่สลายม็อบขวางกาชาดสากลช่วยโรฮิงญา ด้านรองปธน.เมียนมาย้ำ สถานการณ์ดีขึ้นเเล้ว
ซูจีแถลงครั้งแรกวิกฤติโรฮิงญาขอประณามทุกความรุนแรงย้ำรัฐกำลังแก้ปัญหา
ไม่มี'โรฮิงญา' ในถ้อยแถลงของ ซูจี สิ่งยืนยันว่าพวกเขาไร้ตัวตน
ยูนิเซฟ ประกาศเด็กโรฮิงญา 2แสนคน ต้องการความช่วยเหลือด่วน ทั้งด้านร่างกาย-จิตใจ
ไม่ใช่เบงกาลี แต่คือโรฮิงญา สำนึกร่วม ประวัติศาสตร์บนพื้นที่อาระกัน
โรฮิงญาอพยพเเล้ว3 แสนคนรมต.ต่างประเทศบังคลาเทศชี้นี่คือ’ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
ยูเอ็นชี้วิกฤตโรฮิงญา เป็นตัวอย่างตำราฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักวิชาการชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ แทนโรฮิงญาเป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่
นักวิชาการชี้ ‘ซูจี’ ไร้อำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปมโรฮิงญา
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง