โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
นานาชาติกดดัน รัฐบาล อองซาน ซูจี เร่งจัดการปัญหาความรุนแรงต่อโรฮิงญาโดยด่วน ชี้ให้คำนึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ด้านมัลดีฟ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการค้าหากทางการเมียนมายังเมินเฉย ล่าสุดมีคนอพยพไปบังคลาเทศแล้ว 90,000 คน ด้านเรือกู้ภัยจากมอลต้า เดินทางมาประจำการเตรียมช่วยเหลือเพิ่มเติม
(ภาพประกอบจาก Reuters)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.60 มีรายงานขององค์การสหรปะชาชาติระบุว่า มีชาวโรฮิงญากว่า 90,000 คน อพยพไปยังบังคลาเทศ ในช่วง 10 วันที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มติดอาวุธโรฮิงยา ที่รัฐบาลเมียนมาอ้าง ว่ามีการโจมตีป้อมตำรวจในฐานทัพก่อน
ในรายงานระบุว่า ค่ายอพยพบริเวณเมือง ค็อกซ์บาซาร์ ชายแดนบังคลาเทศไม่สามารถรองรับผู้อพยพได้อีก นอกจากนี้ยังเผชิญกับสถาวะขาดแคลนอาหารและยารักษาโรคจำนวนมาก
ด้านสำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานว่า นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษารัฐ ถูกโจมตีอย่างหนักหลังจากไม่มีการแสดงท่าทีต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงยานับตั้งแต่ 25 สิงหาคม
เหตุการณ์ความรุนแรงในตอนเหนือของรัฐอาระกันหรือยะไข่ ครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยทางการเมียนมาอ้างว่า มีกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญา ได้เข้าโจมตีป้อมตำรวจและฐานทัพทหาร นำมาสู่ปฏิบัติการตอบโต้กลับจากทางการ ส่งผลให้มีคนตายอย่างตาย 400 คน และชาวบ้านอีกจำนวนมากอพยพไปยังบังคลาเทศ
นางยังฮี ลี ผู้ตรวจการพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาของสหประชาชาติ ระบุว่า ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญหน้ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง นอกจากนี้เธอยังระบุด้วยว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นความรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐยะไข่ ทั้งยังเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ นางซูจี ซึ่งต้องการการจัดการแก้ไขโดยด่วน
อีริ คาเนโกะ โฆษกประจำองค์การสหประชาชาติ เผยคำแถลงการณ์จากเลขาธิการสหประชาชาติ นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส ที่ระบุว่า สถานการณ์ในปัจจุบันนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมีการพูดคุยและมองปัญหาทั้งหมดแบบองค์รวมเพื่อไปถึงรากของปัญหาความรุนแรงครั้งนี้ได้เเล้ว
ด้าน มาลาลา ยูซาฟไฟ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพชาวปากีสถาน โพสต์บนทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า รู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นข่าวชาวโรฮิงญา ที่ผ่านมาได้กล่าวประณามการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างน่าสลดใจและน่าละอายมาตลอด โดยเธอยังคงเฝ้ารอให้นางอองซานซูจี ที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพทำเช่นเดียวกัน
ด้าน อนีฟะ อามาน (Anifah Aman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ค่อนข้างผิดหวังกับบทบาทของนางซูจีต่อปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก เมื่อก่อนซูจีเหมือนจะเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน แต่ครั้งนี้เธอกลับไม่ทำอะไรเลย
ด้านนายตอยยิบ อัรดูคอน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีความพยายาที่จะกดดันให้ผู้นำของโลกส่งความช่วยเหลือไปยังชาวโรฮิงญาที่กำลังเผชิญหน้ากับการฆ่าล้างเผาพันธุ์ครั้งใหญ่
นอกจากนี้เขายังระบุด้วยว่า จะยกประเด็นในการประชุมทั่วไปขององค์การสหประชาชาติที่กำลังจะเกิดที่ นิวยอร์ก สิ้นเดือนนี้
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย มีการชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตเมียนมาในเมืองหลวงของประเทศนั้นๆ โดยที่อินโดนีเซียมีรายงานว่ามีการปาระเบิดน้ำมัน เข้าไปยังสถานทูตเมียนมา แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีการชุมนุมกว่าพันคนในรัสเซียเพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของมัลดีฟ ได้ออกมาประกาศจะ ตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับทางการเมียนมา หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรง และปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา
ด้านนางรัตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้เดินทางเข้าพบ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา นาย Min Aung Hlaing ที่กรุงเนปิดอว์เมื่อวันจันทร์(04 ก.ย.60 ) ที่ผ่านมา เพื่อกดดันทางการเมียนมาให้มีการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงโดยด่วน
เช่นเดียวกับนายคาวาจา มูฮัมหมัด อาซิฟ (Khawaja Muhammad Asif) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ระบุถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าว่าเป็นความเจ็บปวดอย่างมาก เรียกร้องให้มีการปกป้องชนกลุ่มน้อยจากความรุนแรงนี้
ส่วนจาเวด ซาริฟ (Javad Zarif) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ทวีตข้อความระบุว่า โลกทั้งโลกต่างเงียบงันต่อความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา เรียกร้องให้ยูเอ็นเร่งจัดการปัญหานี้เร่งด่วน
เว็ปไซต์บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า ขณะนี้เรือกู้ภัยขององค์กรช่วยเหลือผู้อพยพ ซึ่งเดิมประจำการอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จะเดินทางมายังเมียนมาเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่กำลังหนีภัยความรุนแรง และการสู้รบในรัฐยะไข่ครั้งล่าสุด
เรือฟีนิกซ์ขององค์กรสถานีให้ความช่วยเหลือผู้อพยพนอกชายฝั่ง (Migrant Offshore Aid Station - MOAS) ซึ่งเดิมเทียบท่าที่มอลตา กำลังเดินทางมายังอ่าวเบงกอล โดยคาดว่าจะถึงจุดหมายปลายทางในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยเรือลำนี้ได้เคยออกช่วยเหลือผู้อพยพในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาตั้งแต่ปี 2014 และได้ช่วยชีวิตผู้อพยพกลางทะเลมาแล้วกว่า 40,000 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง
WFP รายงานโรฮิงยากว่าแสนคนเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร
โรฮิงญา...จาก "อคติชาติพันธุ์" สู่ "เหยื่อค้ามนุษย์"
ที่มาข้อมูลข่าวจาก