โรฮิงญาอพยพเเล้ว3 แสนคน รมต.ต่างประเทศบังคลาเทศชี้ นี่คือ’ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
รมต.ต่างประเทศบังคลาเทศ ชี้ความรุนแรงต่อโรฮิงญาคือการ ’ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ขณะที่ตัวเลขผู้อพยพเพิ่มขึ้น 3 แสนคน เสียชีวิต 3พันคน เตรียมกดดันเมียนมาโดยใช้ศาล เพื่อจบปัญหา
[ภาพประกอบจาก Danish Siddiqui/Reuters]
เมื่อวันที่ 11 ก.ย.60 สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานว่า เอเอช มะฮฺมู๊ด อาลี (AH Mahmood Ali) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ บังคลาเทศ กล่าวถึงความรุนแรงต่อโรฮิงญาว่าเป็นการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (genocide) หลังจากมีชาวโรฮิงญาอพยพหนีตายเข้ามาในบังคลาเทศราว 300,000 คน
“ประชาคมโลกต่างพูดไปในทางเดียวกันว่านี่คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกเราก็เช่นกัน” รมต.ต่างประเทศบังคลาเทศกล่าวกับสื่อหลังจากการพูดคุยกับตัวแทนทูตเมื่อวันอาทิตย์ที่กรุงดาการ์
อาลี ได้เรียกพบกับตัวแทนทูตจากกลุ่มประเทศทั้งตะวันตกและอาหรับรวมไปถึงตัวแทนระดับสูงจากสหประชาชาติ (UN) เพื่อพูดคุยถึงแนวทางในการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านมนุษยธรรมและเชิงการเมืองแก่ชาวโรฮิงญา
อาลี กล่าวรายงานในที่ประชุมว่า ขณะนี้มีชาวโรฮิงญาราว 300,000 คน อพยพเข้ามาในประเทศในช่วง 2 สัปดาห์นับตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ขณะนี้มีชาวโรฮิงญาที่อยู่ในบังคลาเทศราว 700,000 คน
“นี่คือปัญหาของชาติ” อาลี กล่าว
ด้านตัวแทนทูตสองคนกล่าวภายหลังเข้าพบพูดคุยกับรมต.ต่างประเทศบังคลาเทศว่า นับตั้งแต่เหตุความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 3,000 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของยูเอ็นที่ระบุไว้ 1,000 คน
ด้านรายงานสหประชาชาติ ระบุว่า ขณะนี้ตัวเลขชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้ามาในบังคลาเทศมีจำนวน 294,000 คน
คาซี รีอาซุล ฮัค (Kazi Reazul Hoque) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งบังคลาเทศ กล่าวภายหลังจากตรวจเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในเขต ค๊อกซ์ บาซาร์ (Cox's Bazar) ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งความรุนแรง การเผาหมู่บ้าน คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มโรฮิงญาในเมียนมา เรากำลังคิดว่าท้ายที่สุดสิ่งที่จะกดดันรัฐบาลเมียนมา รวมไปถึงกองทัพได้ อาจมีความจำเป็นต้องใช้กลไกศาลสากล ในขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องเรียกร้องคือความช่วยเหลือจากนานาชาติต่อประเด็นดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ดีฟยา โกปาลัน( Divya Gopalan) รายงานจากพื้นที่ Cox's Bazar ว่า ความเห็นประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทางนายอาลี รมต.ต่างประเทศ บังคลาเทศ กล่าวนั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งความช่วยเหลือจากนานาชาติ เพื่อแก้ปัญหาโรฮิงญา ขณะที่ปัจจุบันความช่วยเหลือพื้นฐานในค่ายลี้ภัย ยังขาดแคลนเป็นอย่างมาก
ดีฟยา กล่าวว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการดูเเล สถานการณ์ในค่ายตอนนี้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้ามาช่วยจัดสรรปัจจัยพื้นฐาน
ทั้งนี้ที่ผ่านรัฐบาลบังคลาเทศได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากการผลักดันชาวโรฮิงญาจำนวนร้อยกว่าคนกลับไปในฝั่งเมียนมา และช่วงตันปีที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยถึงแผนในการย้ายค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไปยังเกาะห่างไกล แต่แผนการดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปจากการคัดค้านของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน
(แผนที่แสดงจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาในแต่ประเทศนับตั้งแต่เหตุความรุนแรงครั้งเมื่อปี 1970 : ขอบคุณ Aljazeera)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักวิชาการ ชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ เรียกโรฮิงญา เป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง
WFP รายงานโรฮิงยากว่าแสนคนเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร
โรฮิงญา...จาก "อคติชาติพันธุ์" สู่ "เหยื่อค้ามนุษย์"
ที่มาข่าวจากhttp://www.aljazeera.com/news/2017/09/bangladesh-fm-violence-rohingya-genocide-170911023429604.html