ซูจีแถลงครั้งแรก วิกฤติโรฮิงญา ขอประณามทุกความรุนแรง ย้ำรัฐกำลังแก้ปัญหา
ซูจี แถลงครั้งประวัติศาสตร์ ต่อวิกฤติโรฮิงญา อ้างที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว และขอประณามทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในส่วนของเหตุที่คนต้องอพยพ ขอเวลาสอบสวนข้อเท็จจริง เผยว่า คนที่หนีออกไป จะต้องถูกคัดกรองก่อนกลับเข้ามา เชิญนักข่าว นักการทูตลงพื้นที่ดูความจริง ว่าทำไมยังมีมุสลิมอีกจำนวนหนึ่งอยู่ได้ไม่มีปัญหา
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 60 ที่กรุงเนปีดอว์ ประเทศเมียนมา นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีรัฐบาลเมียนมา แถลงความคืบหน้าการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นโรฮิงญา นับครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความสงบขี้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา
โดยนางซูจี ระบุถึง ความกังวลจากนานาชาติ ต่อวิกฤติชาวโรฮิงญา ที่ปัจจุบันที่อพยพไปยังบังคลาเทศแล้วกว่า 400,000 คน ว่า ที่ผ่านมาเราประณามความรุนแรงทุกอย่างที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน เรามีความตั้งใจที่จะสร้างสังคมที่สงบสุข มั่นคง และมีนิติธรรม ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหามากมาย ซึ่งเราก็รับฟังทุกความเห็น และเราต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหานั้นมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและพิสูจน์ได้
นางซูจี กล่าวอีกว่า เมียนมาไม่ห่วงเรื่องที่นานาประเทศจับตา( international scrutiny) เพราะเป็นเรื่องที่มีพันธะสัญญากับนานาชาติอยู่แล้ว ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมปี 2016 มีกลุ่มมุสลิมใช้กำลังโจมตีตำรวจ ทำให้เกิดปัญหาตามมา มีคนถูกฆ่าตาย หลายคนหนีไปยังบังคลาเทศ ทางการพยายามแก้ปัญหาและให้สังคมอยู่กันอย่างกลมเกลียวให้ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย และได้มีการเชิญ ดร.โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ไปเยี่ยมเยียนและเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่ประสบผล
นางซูจี กล่าวยืนยันว่า นับตั้งแต่ วันที่ 5 กันยายนเป็นต้นมา ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันเพิ่มเติมในรัฐยะไข่ และที่ผ่านมาทางการเมียนมาทำทุกวิถีทางเพื่อให้ปฏิบัติการทางการทหารในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายให้ไม่กระทบกับประชาชน และแม้จะมีชาวมุสลิมจำนวนมากอพยพเข้าไปยังฝั่งบังกลาเทศ แต่ก็มีชาวมุสลิมอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงอาศัยในพื้นที่ได้อย่างสงบ จึงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
ในส่วนประเด็นเหตุการณ์ จำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนมากนั้น นางซูจีกล่าวว่า กำลังมีการเตรียมการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีความพยายามในการพัฒนาพื้นที่รัฐยะไข่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนหนทางที่เชื่อมหมู่บ้านห่างไกล เรื่องการศึกษาทั้งในขั้นพื้นฐานและระดับสูง โดยเปิดโอกาสในทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่มีการปิดกั้น รวมไปถึงการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และปัจจัยพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัย แต่ก็พบว่ายังมีหลายชุมชนที่ผู้นำปฏิเสธการเข้าร่วมในแผนพัฒนาครั้งนี้ รัฐจึงต้องเพิ่มพยายามในการโน้มน้าวให้ทุกชุมชนได้เข้าร่วมเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
นางซูจี กล่าวด้วยว่า เมียนมากำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประชาธิปไตยแต่ประชาธิปไตยของเมียนมาอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบขอให้ประชาคมโลกมีความศรัทธาและเชื่อมั่น ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่สลับซับซ้อนในเรื่องชาติพันธุ์มากมาย แม้ว่าผู้คนคาดหวังว่าเราจะแก้ปัญหาได้ในเวลาอันสั้นแต่รัฐบาลของเราอยู่มาได้แค่18เดือนเท่านั้นซึ่งยังสั้นเกินไปที่จะจัดการปัญหาต่างๆอย่างที่มีคนคาดหวังแต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พยายามจัดการปัญหาพวกนี้
นอกจากนี้ นางซูจียัง เชิญชวน นักการทูตและนักข่าวจากทั่วโลกเข้าพื้นที่เพื่อไปสอบถามชาวมุสลิมที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงไม่หนีไปไหน ในส่วนของคนที่อพยพออกไปแล้ว หากจะกลับเข้ามาในเมียนมาอีกครั้ง ก็จะมีระบบคัดกรองคนเพื่อระบุว่าเป็นผู้ที่อพยพออกไปจริงหรือไม่ ทั้งนี้รัฐบาลเมียนมาไม่ต้องการเห็นการเห็นประเทศถูกแบ่งด้วยเหตุผลเรื่องความเชื่อ ศาสนา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยูนิเซฟ ประกาศเด็กโรฮิงญา 2แสนคน ต้องการความช่วยเหลือด่วน ทั้งด้านร่างกาย-จิตใจ
ไม่ใช่เบงกาลี แต่คือโรฮิงญา สำนึกร่วม ประวัติศาสตร์บนพื้นที่อาระกัน
โรฮิงญาอพยพเเล้ว3 แสนคนรมต.ต่างประเทศบังคลาเทศชี้นี่คือ’ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
ยูเอ็นชี้วิกฤตโรฮิงญา เป็นตัวอย่างตำราฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักวิชาการชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ แทนโรฮิงญาเป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่
นักวิชาการชี้ ‘ซูจี’ ไร้อำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปมโรฮิงญา
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง