สภาวิชาชีพชงรัฐระบุสัญญาชัดให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยีรถไฟเร็วสูงทุกด้าน
สภาวิศวกร-สภาสถาปนิก เตรียมยื่นข้อเสนอจีน 31 ก.ค. ให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีรถไฟเร็วสูง ครอบคลุมทุกด้าน ทักษะออกแบบ-ผลิต-ก่อสร้าง-อาณัติสัญญาณ ไม่เฉพาะสอนขับ-บำรุงรักษา เผยต้องระบุในสัญญาชัดเจน ขณะที่แผนอบรมบุคลากรรุ่นแรกต้องเสร็จใน ส.ค. รองรับก่อสร้าง 3.5 กม.แรก ขณะที่ วสท.ตั้ง กก.ถ่ายโอนเทคโนโลยี ปี 2560-62
วันที่ 18 ก.ค. 2560 สภาวิศวกร ร่วมกับสภาสถาปนิก จัดสัมมนา เรื่อง การระดมสมองข้อเสนอองค์กรวิชาชีพเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีโครงการรถไฟความเร็วสูง ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหารือกับจีนเกี่ยวกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะต้องให้ระบุในสัญญาชัดเจนว่าจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีในรายละเอียดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กล่าวคือ ขั้นตอนการออกแบบรถไฟ ผลิตรถไฟ บำรุงรักษา การก่อสร้าง ไปจนถึงระบบอาณัติสัญญาณ แม้ช่วงแรกจีนจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสอนขับรถและบำรุงรักษามากก็ตาม แต่มองว่าเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ จะให้เกิดความยั่งยืนจากการส่งวิศวกรของไทยเข้าร่วมทำงาน รัฐจะต้องจัดตั้งสถาบันหรือองค์กรเพื่อต่อยอดสิ่งเหล่านี้ โดยมีคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแล ซึ่งรัฐบาลเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจากไทยทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าในวันที่ 31 ก.ค. 2560 ที่ประเทศไทย
เมื่อถามถึงการอบรมบุคลากรจากจีนจะทันการลงนามในสัญญาภายใน ส.ค. หรือไม่ เลขาธิการสภาวิศวกร ระบุว่า สัญญาลงนามไปก่อนได้ ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะอบรมตามหลังได้ แต่จะเร่งจัดอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ให้แล้วเสร็จใน ส.ค. สำหรับบุคลากรจีน รุ่นแรก 40-50 คน ของระยะทาง 3.5 กม. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพื่อให้ได้ใบผ่านการอบรมและทดสอบ สำหรับนำไปประกอบการในโครงการฯ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 300 คน จะแบ่งการอบรมเป็น 3 รุ่น รุ่นละประมาณ 100 คน และไม่ต้องกังวลว่าข้อสอบจะรั่วไหล เพราะมีข้อสอบทั้งหมด 3 ชุด
ด้านนายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก กล่าวเสริมว่า สำหรับการออกแบบสถานีรถไฟ จีนอาจมีรูปแบบที่ทันสมัยจากประสบการณ์ เชื่อว่าไทยจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบที่เหมาะสมกับรถไฟความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย เรียนรู้วัฒนธรรม สภาพภูมิอากาศ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2560 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ประจำปี 2560-2562 โดยจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ภารกิจหน้าที่ และข้อบังคับของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย
ที่ปรึกษา 6 คน ได้แก่ รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล, ดร.ธเนศ วีระศิริ, นายเจน นำชัยศิริ, รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล, นายทศพร ศรีเอี่ยม และรศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก
คณะกรรมการ 15 คน ได้แก่ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา เป็นประธาน, ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย, นายนคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.), นายศุภชัย รักพานิชมณี ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา, รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.ปิติ สุคนธสุขกุล ประธานคณะอนุกรรมการคอนกรีตและวัสดุ, ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานสาขาวิศวกรรมระบบราง, นายณัฐพร พรหมสุทธ์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาบริหารงานก่อสร้าง ในคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา, ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้แทนสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผู้แทนสถาบันยานยนต์ และผศ.ดร.ศิริลักษณ์ ชุ่มชื่น ประธานอนุกรรมการสาขาวิชาการวิศวกรรมแหล่งน้ำ เป็นกรรรมการและเลขานุการ .
อ่านประกอบ:ส่องเฟช-เกาะติด 25 คณาจารย์ไทย บินสัมมนา 'รถไฟเร็วสูง' 20 วันที่จีน (คลิป)
รถไฟความเร็วสูง กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี "ชัวร์" หรือ "มั่วนิ่ม"
รัฐส่งบุคลากร 250 คน อบรมรถไฟเร็วสูงที่จีน -ไม่เปิดเผยรายชื่อ ‘ปลัด คค.’ อ้างไม่เหมาะสม
เรียบร้อยโรงเรียนจีน รถไฟความเร็วสูงกับคำสั่ง ม.44
วสท. แนะรถไฟเร็วสูงไทย-จีน ต้องคำนึง ศก.ยั่งยืน ไม่เฉพาะรายได้จากค่าโดยสาร
สภาวิศวกร-สถาปนิก เเถลงร่วม ยัน "จีน" ต้องผ่านอบรม ก่อนลุยรถไฟเร็วสูง
เลี่ยงจุดบอดลงทุนรถไฟเร็วสูง สภาคณบดีวิศวะ จี้รัฐให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยี - ดึงมหาวิทยาลัยร่วม
ขอให้ทบทวน มาตรา 44 ในการโครงการรถไฟไทยจีน-ผลเสียหายต่อประเทศไทย
ข้อสังเกตการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - นครราชสีมา
งัด ม.44 เร่งรัดรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช-วสท.หวั่นใช้วิศวกรจีน เสี่ยงความปลอดภัย