ดูข้อโต้แย้งแง่มุม กม.ปมเรือดำน้ำจีนซื้อได้ไหม? ก่อนผู้ตรวจฯ-สตง.ลุยสอบ
“…การทำสัญญาดังกล่าว อาจเข้าข่ายสัญญาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 เรื่อง การทำสัญญากับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ และยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสัญญาตามกฏหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งเกี่ยวกับการก่อหนี้ผูกพันตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้นก่อนเซ็นสัญญาต้องมีการเสนอเรื่องให้รัฐสภา (ปัจจุบันคือ สนช.) พิจารณาเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญก่อน ถ้าไม่เห็นชอบสัญญา อาจจะตกเป็นโมฆะได้…”
แม้ว่า พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ จะเป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เดินทางลงนามข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 (จากงบประมาณผูกพันทั้งหมด 3 ลำ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท) แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับประเทศจีนแล้วก็ตาม
แต่เสียงค้านเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวยังคงดังไม่หยุด ?
นอกเหนือจากประเด็นความคุ้มค่า วัตถุประสงค์ ที่กองทัพเรือตั้งโต๊ะแถลงที่เรือหลวงจักรีนฤเบศวร ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อ ‘เคลียร์’ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจำเป็นต้องมีเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจทางทะเล และเป็นแผนพัฒนากองทัพเรือมานานกว่า 30 ปีแล้ว ส่วนการซื้อแบบจีทูจีกับจีนเพราะคุ้มค่ากว่าประเทศอื่น ๆ ที่เสนอราคามา
(อ่านประกอบ : ปัดผล ปย.แอบแฝง! ทร.แจงปมซื้อเรือดำน้ำจีน 3.6 หมื่นล.-ลั่นไม่เบียดบังงบอื่น, ฉบับเต็ม! ทร.แจงทำไมไทยต้องมีเรือดำน้ำ "รักษาผลประโยชน์ชาติทางทะเล", สารพัดเหตุผล ทร.แจงทำไมไทยต้องมีเรือดำน้ำ-ปัดเป็นภาระประเทศ)
แต่ยังคงมีประเด็นข้อกฎหมาย ที่ถูกนักวิชาการหลายรายตั้งข้อสังเกต กระทั่งมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพเรือ
ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบว่า การลงนามข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำดังกล่าว อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 นอกจากนี้การจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวอาจขัดต่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายใน 60 วันอีกด้วย
(อ่านประกอบ : ผู้ตรวจฯรับสอบปม เสธ.ทร.ลงนามซื้อเรือดำน้ำ ถูกร้องขัด กม.-จ่ายงวดแรกส่อโมฆะ)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากยิ่งขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อกฏหมาย-ข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นแรก นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายงบประมาณ เคยเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า การทำสัญญาดังกล่าว อาจเข้าข่ายสัญญาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 เรื่อง การทำสัญญากับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ และยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสัญญาตามกฏหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งเกี่ยวกับการก่อหนี้ผูกพันตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้นก่อนเซ็นสัญญาต้องมีการเสนอเรื่องให้รัฐสภา (ปัจจุบันคือ สนช.) พิจารณาเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญก่อน ถ้าไม่เห็นชอบสัญญา อาจจะตกเป็นโมฆะได้
และหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มั่นใจ สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย
ส่วนเหตุผลที่นายศรีสุวรรณยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินค่อนข้างจะมีประเด็นใกล้เคียงกับเหตุผลของนายปรีชา
สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออก พ.ร.บ. เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด หรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้มีกฏหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
เมื่อมีปัญหาว่า หนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ
(อ่านมาตรา 178 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เลื่อนมาหน้า 51 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF)
ประเด็นที่สอง นายศรีสุวรรณ ระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวอาจขัดกับมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 และแก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติว่า ยกเว้นกรณีที่บัญญํติไว้ในมาตรา 23 ตรี ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ จะจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอื่น และห้ามมิให้จ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จนกว่าจะได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว
รายจ่ายใดมีจำนวน และระยะเวลาการจ่ายเงินที่แน่นอน ผู้อำนวยการ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะกำหนดให้ส่วนราชการจ่ายเงินโดยไม่ต้องขออนุมัติเงินประจำงวดก็ได้
เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณีใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงบประมาณรวบรวมรายการงบประมาณรายจ่ายซึ่งจะต้องก่อหนี้ผูกพัน และวงเงินที่คาดว่าจะต้องก่อหนี้ผูกพัน งบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อ ๆ ไป พร้อมทั้งจำนวนเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับ และเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจดำเนินการตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนมิใช่กรณีตามวรรคสองหรือวรรคสาม คณะรัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ก่อนได้รับเงินประจำงวด หรืออนุมัติให้ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจก่อหนี้ผูกพันเกินกว่า หรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้
(อ่านมาตรา 23 พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 23 เลื่อนมาหน้าที่ 10 : http://www.opdc.go.th/uploads/files/Gov_Budget.pdf)
โดยในส่วนนี้มีนักวิชาการหลายราย รวมถึงนายศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว มีการเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 แต่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ถูกให้ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 ซึ่งเลยกำหนด 60 วัน (ภายในวันที่ 30 พ.ย. 2559) มาแล้ว จึงไม่อาจทำได้
อย่างไรก็ดี นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เคยชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า ในการก่อหนี้ผูกผันข้ามปีงบประมาณ 2560 ในรายการใหม่ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ได้รวมถึงรายการดังกล่าวแล้ว ก่อนที่จะให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้งเพื่อดำเนินการต่อ
ดังนั้น มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 ที่รับทราบรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และการดำเนินการตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 รวมทั้งอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโครงการดังกล่าวเกิน 5 ปี และอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้แทนเป็นผู้แทนลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและครบถ้วนอย่างเคร่งครัดนั้น จึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว .
(อ่านประกอบ : สำนักงบประมาณ ยันจัดซื้อ 'เรือดำน้ำ' ก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ไม่ขัด กม.)
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงสำนักข่าวอิศราถึงกรณีข้อร้องเรียนต่าง ๆ ว่า ที่ผ่านมากองทัพเรือดำเนินการตามระเบียบและกฏหมายทุกประการ ในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนแบบจีทูจี ไม่ได้มีแค่กองทัพเรือเพียงหน่วยงานเดียว แต่ยังมีสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดูข้อกฏหมาย และกระทรวงการต่างประเทศที่คอยประสานงาน ส่วนที่มีผู้ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ร้อง คงต้องให้หน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนมาพิจารณา หลังจากนั้นกองทัพเรือจึงจะรับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานดังกล่าว
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่กำลังถกเถียงกันอยู่ ท้ายสุดการลงนามดังกล่าวจะขัดกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหรือไม่ คงต้องรอความเห็นขององค์กรอิสระที่ได้รับคำร้อง ‘ฟันธง’ ในอนาคต
อ่านประกอบ :
ปรีชา ชี้สัญญาเรือดำน้ำจีนอาจเข้าข่าย รธน.มาตรา 178 เสี่ยงโมฆะ-ทร.ลงนามจีทูจีแล้ว
สำนักงบประมาณ ยันจัดซื้อ 'เรือดำน้ำ' ก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ไม่ขัด กม.
ปัดผล ปย.แอบแฝง! ทร.แจงปมซื้อเรือดำน้ำจีน 3.6 หมื่นล.-ลั่นไม่เบียดบังงบอื่น
ฉบับเต็ม! ทร.แจงทำไมไทยต้องมีเรือดำน้ำ "รักษาผลประโยชน์ชาติทางทะเล"
สารพัดเหตุผล ทร.แจงทำไมไทยต้องมีเรือดำน้ำ-ปัดเป็นภาระประเทศ
ฝากคำถามให้กองทัพเรือ กรณีเรือดำน้ำ
เปิดตัวเบื้องหลังความสำเร็จแห่งการ “ดำ” อย่างโปร่งใส
'ศรีสุวรรณ'อ้างฝ่ายมั่นคงห้ามยื่นสอบปมซื้อเรือดำน้ำจีน 3.6 หมื่นล.-สตง.รับลูกลุยต่อ
ยกเหตุป้องเงินภาษีปชช.! ศรีสุวรรณ ยื่นสตง.สอบครม.อนุมัติซื้อเรือดำน้ำจีน
ทำตามขั้นตอนไม่น่ามีอะไรสงสัย!‘บิ๊กป้อม’ แจงปมซื้อเรือดำน้ำ-ไม่แถลงเพราะเรื่องลับ
แหล่งข่าวทัพเรือเผย "ต้องเรือดำน้ำจีนเพราะสัญญาณจากผู้มีอำนาจเหนือ ทร."
พล.ท.สรรเสริญ ยอมรับ 'เรือดำน้ำจีน' ผ่าน ครม.เเล้ว
โครงการเรือดำน้ำ (จีน) การแข่งขันที่โปร่งใสยุติธรรมจริงหรือ?
คนพวกนี้ใช้ไม่ได้! นายกฯขออดีตทหารอย่าพูดทำลายกองทัพปมซื้อเรือดำน้ำ
ไร้คนจาก รบ.เข้ามากอบโกย! นายกฯชี้ต้องเข้าใจซื้อเรือดำน้ำ-ใครจะหน้าด้านโกง
ยังไม่ชงจัดซื้อเรือดำน้ำ 1.3 หมื่นล.เข้า ครม.! ‘บิ๊กป้อม’เผยอยู่ระหว่างประสานจีน
ล้วงเหตุผล ทร.ซื้อเรือดำน้ำ ป้องกันความมั่นคงทางทะเล-ไฉนทำจีทูจีจีน?
ทำจีทูจีจีน! เสธ.ทร.ไฟเขียวซื้อเรือดำน้ำ 1.3 หมื่นล.ชง กห.เสนอ ครม.อนุมัติ