ทำจีทูจีจีน! เสธ.ทร.ไฟเขียวซื้อเรือดำน้ำ 1.3 หมื่นล.ชง กห.เสนอ ครม.อนุมัติ
เปิดหนังสือ เสธ.ทร. ไฟเขียวตามผลสรุปศึกษาโครงการซื้อเรือดำน้ำจีน 1.34 หมื่นล้าน ทำแบบจีทูจีกับจีน ชงกลาโหมเพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. อนุมัติต่อไป ชี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาอธิปไตยทางทะเล ยันคุ้มค่า-น่าเชื่อถือ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า กองทัพเรือ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการประกวดราคาจัดซื้อเรือดำน้ำในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นเรือดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S26T จำนวน 1 ลำ พร้อมระบบอาวุธ และส่วนสนับสนุน อะไหล่ และสิ่งอุปกรณ์ประจำเรือ เอกสารการทดสอบทดลอง น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น การฝึกอบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจรับ การส่งมอบ และพิธีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการบริหารที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นราคายกเว้นค่าอากรทางศุลกากร แต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรอื่น ๆ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งปวงแล้ว รวมเป็นเงินประมาณ 13,500,000,000 บาทนั้น
(อ่านประกอบ : กองทัพเรือตั้งแท่นซื้อแล้ว 'เรือดำน้ำ' จีทูจี!เผยราคากลาง1.3หมื่นล.-จีนตัวเต็ง)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบอีกว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำวงเงินประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาทดังกล่าว พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ (กจด.) ได้อนุมัติให้ความเห็นชอบ และเสนอเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว
โดย พล.ร.อ.ลือชัย ได้รับทราบรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และเห็นชอบการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำจำนวน 1 ลำ พร้อมระบบอาวุธ และส่วนสนับสนุนฯ เป็นเงินจำนวน 379 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 13,481,863,800 บาท (1.34 หมื่นล้านบาท) ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC) เพื่อพิจารณาเสนอกระทรวงกลาโหมเพื่อให้อนุมัติกองทัพเรือจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำ และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2566 และเพื่อให้ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงจ้าง ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย รวมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจ้างฯ ในภายหลังได้ (ดูเอกสารประกอบ)
ล่าสุด พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ได้ให้ความเห็นชอบผลการศึกษาเป็นไปได้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำจริง ตอนนี้อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณก่อน จึงจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติให้มีการจัดซื้อได้ หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วจึงจะมีการร่างสัญญา และส่งให้ อสส. พิจารณาร่างสัญญาดังกล่าวต่อไป
ส่วนสาเหตุที่ต้องซื้อแบบจีทูจีนั้น พล.ร.อ.ลือชัย กล่าวว่า เนื่องจากเป็นเรือดำน้ำที่มาพร้อมอาวุธ ต้องซื้อแบบจีทูจี เพราะสะดวกกว่า ถ้าหากใช้วิธีการแบบอื่นจะเกิดปัญหายุ่งยาก โดยจะจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ แต่เบื้องต้นจะส่งมอบก่อน 1 ลำ เนื่องจากโครงการนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงใช้วิธีผ่อนจ่ายไปก่อน
อนึ่ง กรณีนี้คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ได้พิจารณาผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ สรุปได้ว่า การพัฒนา และเสริมสร้างกำลังรบเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกัน และรักษาสิทธิอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย โดยสามารถถ่วงดุลอำนาจกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากสภาพปัจจุบันไทยเสียเปรียบดุลอำนาจทางทะเล ดังนั้นการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน และมีความเหมาะสม โดยมีการตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อ 3 ลำ แต่จะส่งมอบเบื้องต้นก่อน 1 ลำ ในวงเงิน 1.34 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องดำเนินการลักษณะจีทูจี เนื่องจากเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในการใช้งานด้านยุทธวิธีและความมั่นคง ซึ่งรัฐบาลประเทศจีน มีผู้ผลิตที่มีขีดความสามารถในการผลิตเรือดำน้ำที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ และมีใช้ประจำการในกองทัพประเทศจีน และยังมีความคุ้มค่ากว่าประเทศอื่น ๆ รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันด้วย
ขณะเดียวกันเรือดำน้ำ S26T ยังมีประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการยิงลูกอาวุธปล่อยนำวิถีใต้น้ำสู่พื้น/สู่ฝั่ง พร้อมกับระบบขับเคลื่อนแบบดีเซล-ไฟฟ้า ส่วนบริษัท CSOC รับประกันความชำรุดบกพร่อง 2 ปี และสนับสนุนอะไหล่สำหรับเปลี่ยนทดแทนกรณีชำรุด 8 ปี ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจในการใช้เรือดำน้ำ
ทั้งนี้การจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำร่างข้อตกลงฯร่วมกันระหว่างคณะกรรมการร่างข้อตกลงฯ และผู้แทนรัฐบาลจีน โดยบริษัท CSOC คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในเดือน ก.พ. 2560 และเมื่อได้ข้อยุติแล้ว คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ จะนำเสนอสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อตรวจสอบร่างข้อตกลงฯต่อไป
อ่านประกอบ :
เรือดำน้ำจีน "ถูกและดี" แต่มีคำถามเรื่องความจำเป็น?
แฉปม 'ฮั้ว' ?...ทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน S26T
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรือดำน้ำ S26T จาก oknation