ฝากคำถามให้กองทัพเรือ กรณีเรือดำน้ำ
จากการที่กองทัพเรือจะเปิดเวทีชี้แจงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนในวันที่ 1 พ.ค. 2560 บนเรือหลวงจักรีนฤเบศรนั้นขอฝากคำถามที่ประชาชนคลาดแคลงใจ เพิ่มเติมจากการนำเสนอของ BBC Thai ที่นำเสนอคำถาม 5 ข้อ ดังนี้ (ดูรายละเอียดจาก http://www.bbc.com/thai/thailand-39754830)
1. มีสัญญาณว่าต้องซื้อจากจีน ?
2. กระบวนการจัดซื้อโปร่งใสหรือไม่ ?
3. ได้มาแค่เรือเปล่า กับตอร์ปิโดไม่กี่ลูก ?
4. คุณสมบัติแย่กว่าคู่แข่ง ?
5. การจัดซื้อผิดกฎหมายงบประมาณ ?
นอกจากนั้นในฐานะที่ติดตามข้อมูลโครงการนี้มายาวนาน จึงขอฝากประเด็นคำถามเพิ่มเติมดังนี้
1. ทำไมกองทัพเรือถึงตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำจากจีน ทั้งที่เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับเรือและอาวุธต่างๆ จากจีนมาตลอด จนต้องทำการรื้อปรับปรุงระบบทั้งระบบซึ่งโครงการล่าสุดคือการปรับปรุงเรือฟริเกตชุด ร.ล.นเรศวร ที่รื้อระบบปรับมาใส่ของตะวันตกทั้งหมด มีแต่ตัวเรือที่เป็นจีน รวมทั้งเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ของกองทัพเรือก็เลือกต่อจากเกาหลีที่ตัวเรือและระบบต่างๆ ใช้เทคโนโลยีตะวันตก ซึ่งจีนเองก็มาเสนอโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงด้วยเช่นกันแต่ไม่ได้รับเลือกในครั้งนั้น ทั้งที่เรือดำน้ำเป็นเรือที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่าและต้องมีมาตรการความปลอดภัยมากกว่าเรือฟริเกตเสียอีกทำไมกองทัพเรือถึงให้ความเชื่อมั่นกับเรือดำน้ำจีนที่สุด
2. ในส่วนของการเตรียมการด้านเรือดำน้ำ ตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของรัฐบาล คสช. กองทัพเรือได้เตรียมการแสวงหาองค์ความรู้ด้านเรือดำน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยอิงเทคโนโลยีตะวันตกเป็นหลัก ตั้งแต่การส่งกำลังพลไปเรียนที่เยอรมนี และเกาหลีใต้ (ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากเยอรมนี) เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงว่ากองทัพเรือจริงๆ แล้วเชื่อมั่นในมาตรฐานยุโรปมากกว่า แต่ทำไมพอมาดำเนินการคัดเลือกจึงกลายเป็นเรือดำน้ำจีนมีความทันสมัยกว่าเรือดำน้ำจากเยอรมัน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สวีเดน หรือแม้แต่รัสเซีย ที่เป็นต้นตำรับของเรือดำน้ำจีนเอง
3. กองทัพเรือระบุว่าการคัดเลือกเรือดำน้ำจากจีนเนื่องจากมีจำนวนมากคุ้มค่าในขณะที่ได้ถึง 3 ลำ ในขณะที่บริษัทอื่นเสนอเพียง 2 ลำ อยากถามว่าการตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำตามเกณฑ์การพิจารณาด้านคุณลักษณะต่างๆ ของคณะกรรมการทั้ง 17 ท่าน ได้รับอิทธิพลจากความต้องการจำนวนที่มากกว่า จนยอมรับเรือดำน้ำจีนทั้งที่บางระบบอาจมีคุณสมบัติที่ด้อยกว่าหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้วเรือดำน้ำที่กองทัพเรือจะได้จะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมจริงหรือ (เชื่อมโยงกับคำถาม BBC ข้อ 5 : การจัดซื้อผิดกฎหมายงบประมาณ ?) และหากมีการจัดหาครบทั้ง 3 ลำ แต่ประสิทธิภาพด้อย จะกลายเป็นปัญหาด้านการซ่อมบำรุงในระยะยาวหรือไม่
4. กองทัพเรือเคยชี้แจงว่าการคัดเลือกประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 17 คน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องลงไปทำงานในเรือดำน้ำ แต่ก็มีการเผยแพร่ว่าจริงๆ แล้วคณะกรรมการเป็นระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพเรือ (ระดับนายพล เจ้ากรมต่างๆ) จึงอยากขอให้ยืนยันว่าความจริงเป็นอย่างไรแน่ โดยขอให้กองทัพเรือเปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการทั้ง 17 ท่าน รวมทั้งให้แต่ละท่านมาชี้แจงเหตุผลของการเลือกเรือดำน้ำด้วยตัวเอง ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากมีการดำเนินการดังกล่าวจะให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนในความโปร่งใสได้อย่างแท้จริง
5. คุณลักษณะของเรือดำน้ำ (https://www.isranews.org/isranews-article/55699-submarine2-55699.html) ที่ด้อยกว่าเรือแบบอื่นตามข้อมูลที่มีการเผยแพร่พร้อมเอกสารเสนอราคาของบริษัท CSOC และตัวอย่างเอกสารของบริษัทอื่นบางส่วน ซึ่งได้รับการยืนยันจากคนในกองทัพเรือว่าเป็นเอกสารจริงนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- ขนาดที่ใหญ่เกินไป โดยจะเห็นได้ว่าขนาดตัวเรือที่ใหญ่ทำให้ความลึกปลอดภัย (Safe Depth) มากกว่าเรือดำน้ำแบบอื่น ซึ่งความลึกดังกล่าวหมายถึงความลึกที่เรือดำน้ำต้องทำการดำเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระ ซึ่งยิ่งมีค่ามากเท่าใดก็หมายความว่าพื้นที่ที่จะทำการดำต้องมีความลึกเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งเรือดำน้ำจีนมีค่าความลึกปลอดภัยที่มากที่สุดคือ 60 ม. จึงจะมีข้อจำกัดในการดำมากที่สุด จึงไม่เหมาะสมในการปฏิบัติการในอ่าวไทย แม้บอกว่าจะใช้เรือดำน้ำนอกอ่าวไทยแต่การเดินทางในอ่าวไทยเพื่อออกไปยังพื้นที่ปฏิบัติการที่ควรจะต้องทำแบบปกปิดก็ไม่สามารถทำได้ โดยจากข้อมูลตามเอกสารระบุว่าสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระตั้งแต่ความลึก 60 ม. ซึ่งหากเผื่อความลึกน้ำใต้ท้องเรืออีก 10 – 20 ม. จะทำให้พื้นที่ที่สามารถทำการดำได้คือ 70 – 80 ม. ซึ่งอยู่ไกลจากสัตหีบซึ่งเป็นฐานทัพหลักมาก (อยู่แถวนราธิวาส) นอกจากนั้นมีการระบุว่าจุดเด่นที่เรือดำน้ำจีนมีคือทุ่นระเบิดรวมทั้งสามารถส่งมนุษย์กบได้ ซึ่งทั้งสองภารกิจเรือดำน้ำต้องเข้าไปในพื้นที่ชายฝั่ง น้ำตื้น จึงน่าจะขัดแย้งกับการเลือเรือดำน้ำจีนที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในทุกแบบที่เสนอมา กองทัพเรือได้พิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร
- ความเร็วและระยะปฏิบัติการ เรือดำน้ำจีนสามารถทำความเร็วสูงสุด 18 นอต ได้เพียง 10 นาที ในขณะที่เรือแบบอื่นสามารถใช้ความเร็วสูงสุดมากกว่า 20 นอต ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง รวมทั้งมีระยะปฏิบัติการเพียง 8,000 ไมล์ ในขณะที่เรือแบบอื่นมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์ กองทัพเรือได้พิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร
- ความเงียบ เป็นคุณลักษณะที่จำเป็นของเรือดำน้ำ เรือดำน้ำจีนมีความเร็วเงียบที่ต่ำกว่าแบบอื่น ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าการมีตัวเรือ 2 ชั้น ที่เป็นแนวทางการออกแบบที่ล้าสมัยแต่มักถูกกล่าวอ้างโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าช่วยให้เรือมีความเงียบมากขึ้นนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้แสดงผลให้เห็นแต่อย่างใด กองทัพเรือได้พิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร
- ระบบอำนวยการรบ ที่มีประสิทธิภาพในการคำนวณค่าเป้าด้อยกว่าเรือแบบอื่นอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าจำนวนเป้าที่สามารถติดตามและคำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่าหลายเท่า ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติการอย่างมีนัยยะสำคัญ กองทัพเรือได้พิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร
- จำนวนตอร์ปิโด มีการระบุว่าเรือดำน้ำแบบอื่นได้แต่ตัวเรือเปล่า มีแต่เรือดำน้ำจีนเท่านั้นที่มีลูกอาวุธมาให้ ซึ่งจริงๆ แล้วจากเอกสารที่มีการเผยแพร่กลับกลายเป็นว่าเรือดำน้ำจีนให้ลูกตอร์ปิโดมาด้วยก็จริง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยมากคือลูกจริง 4 ลูก ลูกซ้อม 2 ลูก สำหรับเรือ 2 ลำ หรือลูกจริงเพียงลำละ 2 ลูก เท่านั้น และในการเสนอเบื้องต้นก็ไม่มีลูกอาวุธปล่อยนำวิถีมาให้ ซึ่งแม้ว่าภายหลังจากการเจรจาเพิ่มเติมจะมีการ “แถม” อาวุธปล่อยนำวิถีมาให้ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้กองทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน แต่อาวุธปล่อยนำวิถีที่ได้มาก็ได้มาเพียงลำละ 2 ลูก ต่างจากเรือดำน้ำแบบอื่นๆ บางแบบที่ให้ลูกตอร์ปิโดมา “ครบทุกท่อยิง” พร้อมลูกฝึกเพิ่มมาให้อีกด้วย ทั้งนี้เหตุผลที่เรือดำน้ำแบบอื่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาวุธปล่อยนำวิถีเนื่องจากการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีจากเรือดำน้ำมีข้อเสียในด้านการเปิดเผยที่อยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อเรือดำน้ำเอง ทำไมกองทัพเรือถึงยังคิดว่าแพคเกจลูกอาวุธมีความคุ้มค่ามากกว่าแบบอื่น?
- การหนีออกจากเรือดำน้ำในกรณีฉุกเฉินมีความปลอดภัยต่ำกว่าแบบอื่น ความลึกสามารถทำการหนีได้สูงสุดคือ 120 ม. ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำได้มากกว่า 180 ม. กองทัพเรือให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของกำลังพลประจำเรือมากน้อยเพียงใด?
- อายุการใช้งานสั้นกว่าแบบอื่น อายุการใช้งานของเรือดำน้ำจีนอยู่ที่ 25 ปี ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นบางแบบมีอายุการใช้งานถึง 40 ปี ขึ้นไป กองทัพเรือมีวิธีการคำนวณความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของของที่ได้มาอย่างไร
- อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ต่ำมาก สามารถทำการชาร์จได้เพียง 200 ครั้ง ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำได้ถึง 1,250 ครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งใช้งบประมาณสูงมาก กองทัพเรือมีวิธีการคำนวณความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของของที่ได้มาอย่างไร
- ระบบ AIP เรือดำน้ำสามารถดำอยู่ใต้น้ำด้วยระบบ AIP ได้นาน 10 วัน ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุค “กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ” ได้ระบุว่า “เรือดำน้ำจีนนั้นมีระบบ AIP สามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน 21 วันโดยไม่ต้องโผล่” (https://www.facebook.com/prthainavy/photos/pcb.1005002922884397/1005002136217809/?type=3&theater)
6. การเจรจาต่อรองเพิ่มเติม จากการที่คณะดูงานของ พล.ร.ท. พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ได้เดินทางไปเจรจาแล้วระบุว่าหลายๆ อย่างที่กองทัพเรือได้มาในโครงการนี้นั้น ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก เพราะสิ่งที่จีนเสนอมาในครั้งแรกก็ไม่ได้มีอะไรมากและไม่ได้ตามที่ควรจะเป็นทั้งหมด นั้น แต่สิ่งที่ได้มาเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นกล้องตาเรือแบบ Optronic ระบบนำร่องด้วยแรงเฉื่อย (INS) เพิ่มเติมอีก 1 ชุด ระบบแจ้งเตือนภัยเรดาร์ (RWR) การสนับสนุนอะไหล่ หรือแม้แต่ Multifunction Console นั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่เรือดำน้ำแบบอื่นมีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้นสิ่งที่กองทัพเรือได้จากการเจรจาครั้งนี้คือการลดข้อด้อยส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพของเรือดำน้ำจีนให้มากกว่าหรือแม้แต่เทียบเท่าประสิทธิภาพของเรือดำน้ำแบบอื่นแต่อย่างใด ขอให้กองทัพเรือให้รายละเอียดในส่วนนี้
7. ความน่าเชื่อถือเพื่อการป้องปราม สำนักข่าวต่างประเทศได้นำเสนอข่าวการจัดหาเรือดำน้ำจีนของกองทัพเรือ และนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงหลายแหล่งได้ระบุตรงกันว่าน่าแปลกใจที่กองทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจากประเทศจีนที่ประสิทธิภาพยังไม่เคยได้รับการยอมรับ ในส่วนนี้จะตรงข้ามกับจุดประสงค์ในการจัดหาเรือดำน้ำที่รัฐบาลได้ชี้แจงว่า “มีไว้เพื่อให้เกรงใจ” หรือไม่
8. การผูกมัดด้านอะไหล่ การใช้เรือดำน้ำจากจีนที่อุปกรณ์ต่างๆ ต้องจัดหาจากจีนเท่านั้น และอะไหล่ของเรือดำน้ำแบบอื่นในประเทศตะวันตกนั้นก็ไม่ได้อยู่ในรายการที่จะถูกตะวันตกบอยคอตในประเด็นด้านประชาธิปไตย จึงไม่มีปัจจัยด้านการเมืองมาเกี่ยวข้อง กองทัพเรือมองว่าจะทำให้เกิดปัญหาในการซ่อมบำรุงหรือไม่ นอกจากนั้นหากนโยบายต่างประเทศในอนาคตของประเทศไทยเปลี่ยนไปจากยุคของรัฐบาล คสช. ในปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนอะไหล่จากจีน โดยที่กองทัพเรือไม่น่าจะสามารถจัดหาอะไหล่จากประเทศอื่นมาใช้กับเรือดำน้ำจีนได้ กองทัพเรือมีแนวคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรือดำน้ำจาก http://thainews.prd.go.th