เปิดตัวเบื้องหลังความสำเร็จแห่งการ “ดำ” อย่างโปร่งใส
ในที่สุดในช่วงบ่ายของวันที่ 24 เม.ย.60 ขณะที่คณะเดินทางของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังอยู่ในระหว่างออกเดินทางไปเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนอย่างเป็นทางการระหว่าง 24 – 26 เม.ย. เวปไซด์มติชนออนไลน์ก็มีการเผยแพร่ข่าวว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class (S26T) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำโครงการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ภายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งมีการเปิดเผยผ่านทางเฟสบุคของคุณวาสนา นาน่วม ว่ารองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไป “พักผ่อนที่สวิตเซอร์แลนด์”
“ลับมุมแดง” สื่อไม่จำเป็นต้องรู้
หลังจากกระแสข่าวดังกล่าวแพร่หลายออกไป ได้มีการตรวจสอบความชัดเจนโดยในวันเดียวกัน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ได้แถลงยืนยันข่าวดังกล่าว โดยชี้แจงเหตุผลว่า ที่ไม่ได้มีการแถลงทั้งที่อนุมัติไปแล้วสัปดาห์เพราะเป็นวาระจร และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นการกลับมามีอีกครั้งหลังจากที่มีมาแล้วเมื่อ 60 ปี ที่แล้ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และยุทธศาสตร์ ในการป้องกันประเทศ และการทหาร
และในวันเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงว่าเหตุผลที่ไม่มีการแถลงข่าว เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเอกสารลับที่สุดหรือมุมแดง และเป็นงานด้านความมั่นคง จึงไม่จำเป็นต้องแถลง “เพราะไม่มีใครถาม” แต่ยืนยันว่า “ไม่มีลับลมคมใน” พร้อมกับชูตัวอย่างเอกสาร “ลับ มุมแดง”
9 ประเทศ กับ 12 ลำ กับการดูถูกภูมิปัญญาประชาชน
ในวันที่ 25 เม.ย. พล.อ.ประวิตร ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ ตอบคำถามเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการดังกล่าวในวันที่ 18 เม.ย. ว่า "ผมจำไม่ได้ ผ่านไปนานแล้ว เอาเป็นว่าผมอยู่ในที่ประชุมแล้วกัน พวกสื่อจะรู้ไปทำไม หรือจะต้องถามด้วยว่าจะหายใจอย่างไร จะต้องถามกันอย่างไร จะเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศบ้าง ในเมื่ออนุมัติแล้ว แล้วเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ว่าอนุมัติแล้วก็จบ ไม่ต้องไปลงว่าอนุมัติวันที่เท่าไร...ในเมื่อเป็นเอกสารลับก็ต้องลับอย่างนี้ ดีก็แล้วกันไม่เห็นเป็นอะไรเลย"
โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ “กองทัพเรือ” ได้เลือกเรือดำน้ำจีน เนื่องจากมีอาวุธครบในขณะที่ประเทศอื่นไม่มี โดยมีประเทศที่มายืนแข่งขันประมูลจำนวนรวม 9 ประเทศ ซึ่งขัดกับคำชี้แจงของกองทัพเรือตามเอกสารปกเขียวที่ระบุว่ามี 6 ประเทศ ประกอบด้วย เกาหลี จีน เยอรมัน ฝรั่งเศส สวีเดน และ รัสเซีย พร้อมทั้งอ้างเหตุผลด้านความสมดุลของกำลังรบในภูมิภาคว่า เวียดนามมีเรือดำน้ำ 12 ลำ ในขณะที่ในความเป็นจริงนั้นเวียดนามมีเรือดำน้ำชั้น Kilo จำนวน 6 ลำ โดยลำสุดท้ายเพิ่งเดินทางถึงเวียดนามเมื่อต้นปี 60 นี้เอง รวมทั้งการระบุว่าบริษัทเรือดำน้ำประเทศอื่นไม่ได้ให้อาวุธมาก็ขัดกับความจริง (ดูบทความ แหล่งข่าวทัพเรือเผย "ต้องเรือดำน้ำจีนเพราะสัญญาณจากผู้มีอำนาจเหนือ ทร.")
การยัดเยียด “ความถูกต้องโปร่งใส” ให้กับความเชื่อของประชาชน และความคลาดเคลื่อนของข้อมูลในการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ผู้ซึ่งนำโครงการระดับหมื่นล้านเข้าสู่การอนุมัติอย่างเงียบๆ จาก ครม. นั้น ชวนให้เกิดข้อสงสัยว่า พล.อ.ประวิตร เองนั้น ได้ทราบหรือพิจารณาเปรียบเทียบข้อเด่นข้อด้อยของข้อเสนอต่างๆ อย่างครบถ้วนจริงหรือ? หรือในการตัดสินใจครั้งนี้เป็นเกมได้กำหนดไว้แล้วตั้งแต่ต้น และสิ่งที่เห็นเป็นเพียงละครโรงใหญ่ที่จัดขึ้นก็เพื่อสร้างความชอบธรรมและลดกระแสต่อต้าน?
พร้อมกับตบท้ายแบบยิ้มๆ ว่า ขอให้สื่อเลิกพูดเรื่องเรือดำน้ำได้แล้ว ให้ไปดำอย่างอื่นแทน
คนซื้อชี้แจงไป แต่คนใช้ไม่ทราบเรื่อง
ในขณะที่มีการชี้แจงจากรัฐบาล (ทหารบก) เกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำจีนนั้น กลับไม่มีการชี้แจงใดๆ จากกองทัพเรือนอกจากการให้สัมภาษณ์จากโฆษกกองทัพเรือ พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ ในวันที่ 24 เม.ย. ว่ากองทัพเรือยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่จะไม่ก้าวล่วงมติ ครม. และได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในวันที่ 25 เม.ย. หลังจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ว่า ไม่แน่ใจว่า ผบ.ทร. เห็นเรื่องนี้หรือยังเพราะยังไม่ได้มีการสั่งการใดๆ
พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสื่อ ถึงขั้นต้องไหว้วานให้ พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุด ตอบคำถามผู้สื่อข่าวแทน
จนกระทั่งในวันที่ 28 เม.ย. กองทัพเรือถึงได้ออกหนังสือเชิญสื่อไปร่วมฟังคำชี้แจงเรื่องการจัดหาเรือดำน้ำ โดย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในวันที่ 1 พ.ค. บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร หรือ 1 สัปดาห์เต็มๆ หลังจากมีการเผยแพร่การอนุมัติโครงการดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเห็นว่า มีแต่ “ทหารบก” ออกมาชี้แจงเรื่องเรือดำน้ำในขณะที่ภายในกองทัพเรือกลับมีแต่ความเงียบเชียบ
น่าติดตามว่า การชี้แจงของกองทัพเรือครั้งนี้จะเน้นในประเด็นใด ระหว่างเหตุผลความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการที่คาดว่ากองทัพเรือสามารถชี้แจงได้อย่างมีเหตุผล แม้ว่าจะต้องตอบประเด็นความเร่งด่วนกับสภาวะการคลังของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าคำถามส่วนหนึ่งทางกองทัพเรือจะปัดให้ไปสอบถามจากทางรัฐบาล กับอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ “ทำไมต้องเรือดำน้ำจีน” ว่าจะได้รับการแถลงจากกองทัพเรือได้ชัดเจนเพียงใด (อ่านประกอบ : รวม 5 ข้อสงสัยเรื่อง "เรือดำน้ำจีน" ก่อนกองทัพเรือตั้งโต๊ะแจง")
หรือการแถลงครั้งนี้จะเป็นเพียงขั้นตอนขั้นตอนหนึ่งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการเหมือนการยื่นเรื่องให้ สตง. ทำการตรวจสอบก่อนที่จะมีการได้รับอนุมัติโครงการจาก ครม.?
เมื่อต้องให้ลูกน้องตรวจสอบนาย
ในยุครัฐบาล คสช. ที่การตรวจสอบทำได้แต่เพียง “การตรวจสอบตัวเอง” นั้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอาจทำหน้าที่ได้เป็นเพียง “ตรายาง” เพื่อรับประกันความชอบธรรมเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามก็ได้มีความพยายามของหลายกลุ่มเช่น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งได้ยื่นหนังสือให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำการตรวจสอบ
ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของประชาชนส่วนมากที่มีความกังขาในความโปร่งใสของการจัดซื้อเรือดำน้ำอย่างลับๆ และเร่งรัดในครั้งนี้ รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลของสื่อต่างๆ ที่ทางรัฐบาลทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเอง และ พล.อ.ประวิตร ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แต่เพียงว่าขอให้ฟังข้อมูลจากทางรัฐบาลและอย่าไปฟังข้อมูลหรือข้อกังขาที่มีการเผยแพร่ โดยใช้วลีเดิมๆ ว่า “ขอให้เชื่อว่า” โครงการนี้ดำเนินการโดยถูกต้องโปร่งใส พร้อมทั้งยกตัวอย่างความเสียหายจากการจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าเกิดความเสียหายมากกว่า ซึ่งก็คือการเบี่ยงเบนประเด็นและหลีกเลี่ยงการชี้แจงข้อมูลที่ประชาชนกังขา
กระแสสังคมชี้ขาลงรัฐบาลกับกฎหมายควบคุมสื่อ
การ “แอบ” อนุมัติโครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสังคมรับรู้ว่ามีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 57 แม้ในช่วงต้นปี 60 ก็มีการให้สัมภาษณ์ของทั้งนายกรัฐมนตรีและตัว พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นผู้ผลักดันโครงการมาตลอดถึงเหตุผลและความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำ และประสิทธิภาพของเรือดำน้ำจีน มาอย่างต่อเนื่อง (อ่านประกอบ : ระวัง ! เรือดำน้ำจีน จะจมเรือแป๊ะ)
จึงทำให้เหตุผลของการที่โครงการนี้ได้รับอนุมัติโดยไม่มีการชี้แจงด้วยข้ออ้างที่ว่าเป็นเรื่อง “ลับ มุมแดง” หรือเป็นเรื่องที่ “ไม่ถูกถาม” กลายเป็นสถานการณ์ที่ไม่สมเหตุผล จึงไม่แปลกที่จะเกิดคำถามและข้อกังขาถึงความโปร่งใสในการดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำจีนที่แม้รัฐบาลและกองทัพเรือจะตอบได้ในเรื่องเหตุผลความจำเป็นแต่สิ่งที่แปลกคือคุณสมบัติที่ทางรัฐบาล คสช. กล่าวอ้างว่าเหนือว่าเรือดำน้ำจากประเทศอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ในการต่อเรือดำน้ำมานานกว่า รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์ในเชิงปัดให้สื่อหันไปสนใจในเรื่องอื่นแทน สอดรับกับจังหวะในการดำเนินการที่จะนำกฎหมายควบคุมสื่อมาใช้ ปฏิกิริยาต่างๆ จาก คสช. เหล่านี้จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความโปร่งใสแต่กลับนำไปสู่ความสงสัยเสียมากกว่า ประเด็นดังกล่าวจึงอาจนำไปสู่วิกฤตศรัทธาของรัฐบาล คสช. ได้ โดยจากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มที่ออกมาสนับสนุนโครงการเรือดำน้ำจีนทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น มีทั้งกลุ่มที่เข้าใจเหตุผลความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำและเห็นด้วยกับการจัดหาจากประเทศจีนโดยเชื่อว่ามีประสิทธิภาพที่เหมาะสมแล้ว และส่วนหนึ่งเป็นการจัดการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบนั้นของหน่วยปฏิบัติการข่าวของกองทัพและ คสช. เอง ที่ได้จัดทำภาพ Info graphic เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยซึ่งมีจำนวนมากกว่านั้นประกอบด้วยทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับความจำเป็นที่กองทัพเรือต้องมีเรือดำน้ำ (อย่างน้อยก็ในขณะนี้) และกลุ่มที่ยอมรับความจำเป็นที่กองทัพเรือต้องมีเรือดำน้ำแต่ไม่เห็นด้วยหากจะจัดหาจากจีนเนื่องจากไม่เชื่อว่าเรือดำน้ำจากจีนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเรือดำน้ำจากบริษัทอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประมูลซึ่งเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าการดำเนินโครงการนี้มีความไม่ชอบมาพากลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งได้เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวโดยตรง
ตัวอย่างภาพ Info graphic จากหน่วยปฏิบัติการข่าวของ คสช. ตัวอย่างเอกสารของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย
(อ่านประกอบ: แฉปม 'ฮั้ว' ?...ทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน S26T, โครงการเรือดำน้ำ (จีน) การแข่งขันที่โปร่งใสยุติธรรมจริงหรือ?, เรือหลวง 'สุดสาคร' กับโค้งสุดท้ายของโครงการเรือดำน้ำ, แฉ ! ทัพเรือ ได้รับ ใบสั่ง ให้พิจารณา เรือดำน้ำจีน เป็นพิเศษ แม้ประสิทธิภาพด้อยกว่า)
ผบ.ทร. เร่งเดินทางด่วนไปจีน
แม้ว่ากระแสความเชื่อมั่นของรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงขาลงและประเด็นมากมายของโครงการเรือดำน้ำยังไม่ได้รับการชี้แจงให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย แหล่งข่าวจากกองทัพเรือก็เปิดเผยว่าผู้บัญชาการทหารเรือและคณะกำลังจะบินด่วนไปลงนามในสัญญาที่สาธารณรัฐประชาชนจีนทันทีภายหลังจากการชี้แจงของกองทัพเรือในวันที่ 1 พ.ค. นี้ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อเร่งรัดให้โครงการดังกล่าวเป็นพันธะผูกพันโดยเร็วที่สุด
จากการวางหมากดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้วางแผนได้กำหนดลำดับเหตุการณ์โดยใช้เงื่อนไขด้านเวลาและข้อพูกพันของสัญญาว่าอย่างไรเสียโครงการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเริ่มต้นขึ้นอย่างแน่นอน (ส่วนอนาคตค่อยว่ากันอีกที?)
ในขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ว่าหากรัฐบาลใหม่เห็นว่าไม่จำเป็น ก็สามารถไม่ปฏิบัติตามมติครม.นี้ได้ สามารถยกเลิกมติได้ อำนาจของรัฐบาลใหม่สามารถทำได้ทั้งนั้น
เปิดตัวเบื้องหลังความสำเร็จ
นาย สันติ อำนวยพล และนายชินะวัฒน์ อำนวยพล ตัวแทนบริษัท ณัติพล จำกัด ที่เป็นตัวกลางของบริษัท CSOC ขายเรือดำน้ำจีนให้กองทัพเรือ
บริษัท ณัติพล จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทตัวแทนขายลูกปืนรายใหญ่ให้กับกองทัพ จดทะเบียนเมื่อ 15 มิ.ย.2516 ทุน 3 ล้านบาทประกอบธุรกิจ ให้เช่าอาคาร รับเหมาก่อสร้างอาคาร ผู้ถือหุ้นใหญ่คือนายอาณัติ อำนวยพล และนางเทพินทร์ ทัฬหิกรณ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ตั้งเลขที่ 1371 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ โดย นายอาณัติ อำนวยพล เคยทำธุรกิจร่วมกับ บริษัท สหศรีชัยก่อสร้าง จำกัด ของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมบัติ พานิชชีวะ เจ้าของดอนเมืองโทลล์เวย์และนายทหารระดับสูงคนหนึ่ง เคยขายกระสุนปืนขนาด 5.56 ม.ม. จำนวน 17,086,473 นัด วงเงิน 188 ล้านบาท เมื่อ 31 มี.ค.53 (ข้อมูลจาก : เจาะลึกกองทัพ! บริษัทค้าอาวุธและธุรกิจการทหารในประเทศไทย)
ในวันที่ 15 ธ.ค.55 นาย อาณัติ อำนวยพล ได้บริจาคเงินจำนวน 2 ล้านบาท ให้กับ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นผู้รับมอบ
ภาพจาก: http://www.5provincesforest.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539551373&Ntype=1