ข้อคิดเรื่องเรือดำนํ้าจีน
เรือดำนํ้าที่กองทัพเรือเสนอขอซื้อจากจีนคงจะใกล้ที่จะเสนอขออนุมัติจัดซื้อจากคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งขอผูกพันงบประมาณเป็นกรณีพิเศษเพราะเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในเร็วๆนี้ ข้อถกเถียงของผู้เห็นด้วยกับผู้คัดค้านที่แม้จะยังไม่กระจ่างจึงไม่มีความหมายแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (1) เรือดำนํ้าปฏิบัติการในอ่าวไทยได้หรือไม่ (2) ทำไมเลือกเรือดำนํ้าจีน (3) เรือดำนํ้า S26T ใหญ่เกินไปหรือไม่ เมื่ออ่าวไทยมีนํ้าลึกเฉลี่ย 44 เมตร แต่เรือยาวถึง 60 เมตรและอ่าวไทยตอนบนมีความลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตรทางฝั่งขวาของอ่าว ส่วนฝั่งซ้ายจะตื้นเขินกว่า ความลึกเฉลี่ยในอ่าวไทยตอนบนเพียง 15 เมตร (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) (3) มีเรือดำนํ้าแล้วชาติอื่นเกรงกลัวจริงหรือ (ตัวอย่างในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำนํ้าโดนปราบ และสูญเสียมากกว่าความสำเร็จในการโจมตีเรือลำเลียง) รวมทั้ง (4) พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงรับสั่งตอนหนึ่งว่า “...เรือดำนํ้าดำลงไป ไปปักเลนเลย...” (รัฐมนตรีปัจจุบันส่วนใหญ่คงนั่งฟังอยู่ด้วย) ซึ่งพระราชดำรัสนี้แสดงถึงความรอบรู้ พระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ ที่พระองค์มีพระราชประสงค์ให้กองทัพพึ่งพาตนเอง สร้างเรือเอง แทนที่จะไปซื้อจากต่างประเทศ และพระองค์ทรงทราบดีว่าในอ่าวไทยไม่เหมาะกับการปฏิบัติการของเรือดำนํ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือดำนํ้าขนาดใหญ่ในนํ้าตื้นจะมีมุมดำในระยะทางน้อยมาก คงจะปักเลนจริงๆ (ร.ล. สมุย เรือลำเลียงของเราที่โดนเรือดำนํ้าสหรัฐฯจมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภารกิจลำเลียงนํ้ามันเที่ยวที่ 18 บริเวณเกาะ โลซิน นํ้าลึกประมาณ 100 เมตร และไม่มีเรือคุ้มกัน)
อย่างไรก็ตามก่อนการตัดสินใจที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีน่าจะคิดให้รอบคอบอีกสักครั้งใน 4 ประเด็นนี้
1) ความคุ้มค่า เราจ่ายเงินมหาศาลเพื่อซื้อเรือที่คิดว่าดีมาก ดำได้ลึก 300 เมตร ดำได้นานถึง 21 วัน แต่พื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะความลึกเฉลี่ยกลางอ่าวไทย 44 เมตร ลึกมากสุดทางตอนใต้ในบริเวณเล็กๆแค่ 86 เมตร และเนื้อที่ในส่วนที่เป็นเขตเศรษฐกิจน่านนํ้าไทยมีประมาณ 200,000 ตารางกิโลเมตร (กรมทรัพยากรธรณี, 2555) หมายความว่าเราใช้เรือดำนํ้าลำนี้ได้แค่ 1 ใน 3 ของขีดความสามารถที่เราจ่ายเงินไป จะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ถ้าเลือกซื้อเรือดำนํ้าที่เล็กว่า ขีดความสามารถตํ่ากว่านี้และราคาตํ่ากว่ามาก อย่าลืมว่าอาวุธที่ดี ราคาสูงอาจไม่คุ้มค่าในการปฏิบัติการที่ไม่เหมาะกับขีดความสามารถตามที่อาวุธนั้นถูกออกแบบมา เช่น ปืนขนาด 76 มิลลิเมตร (ประมาณ 3 นิ้ว) ระยะยิงหมื่นกว่าหลา แต่เมื่อข้าศึกอยู่ในระยะ 50 หลาปืนขนาด .50 นิ้วราคาถูกกว่ามากกลับมีประสิทธิภาพมากกว่า หรือถ้ากลัวว่าเพื่อนบ้านมีเรือดำนํ้าเราสร้างเรือปราบเรือดำนํ้าจะดีกว่าหรือไม่ (เรือดำนํ้าที่เราจะซื้อปราบเรือดำนํ้าไม่ได้) เงิน 3 หมื่น 6 พันล้านบาทสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำนํ้าได้ประมาณ 60 ลำ และสามารถใช้งานอื่นยามปกติได้ดีกว่าเรือดำนํ้ามาก
2) ความเหมาะสมกับฐานะ และโอกาส ถ้าเรามีฐานะดี มีเงินไม่จำกัด และสถานการณ์อำนวยเราจะเลือกใช้จ่ายมากแค่ไหนก็ได้ แต่ถ้าฐานะไม่ดีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในก็ไม่อำนวย การใช้เงินเกินตัวอาจเป็นอันตรายกับทั้งตัวเราเองและประเทศชาติ การซื้อเรือดำนํ้าที่ต้องขอผูกพันงบประมาณจำนวนมากถึง 10 ปี (เฉลี่ยปีละ 3600 ล้านบาท) ย่อมส่งผลเสียต่อการบริหารงบประมาณแน่นอน งบฝึกหัดศึกษา งบปฏิบัติการ งบซ่อมบำรุงจะต้องถูกตัดทอนลงเป็นอันดับแรก เหมือนในอดีตไม่นานมานี้ที่เราน่าจะยังจำได้ และเราจะอ่อนแอลงไปอีกเกินกว่า 10 ปีจากการปรนนิบัติบำรุงเรือดำนํ้า 3 ลำที่มีตอร์ปิโดแค่ 4 ลูก ที่อาจจะใช้ทำอะไรไม่ได้
3) ความยั่งยืน เราเคยมีเรือดำนํ้า 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล เป็นประเภทเรือดำนํ้ารักษาฝั่ง ขนาดเล็ก ที่เหมาะกับอ่าวไทย ระวางขับนํ้าตํ่ากว่า 500 ตัน ต่อที่อู่ต่อเรือบริษัทมิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เข้าประจำการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 และปลดประจำการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ โดยมีอายุใช้งานเพียง 13 ปี แสดงให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนจากการที่ต้องพึ่งพาชาติอื่นทั้งการซื้อ การซ่อม การหาอะไหล่ และการบริการหลังการขาย
ดังนั้นการที่จะสร้างกำลังรบอย่างมั่นคงทุกประเทศจึงต้องพยายามสร้างเอง ซึ่งทั้งเกาหลีและจีนที่มาเสนอขายเรือดำนํ้าให้ไทยต่างเคยล้าหลังประเทศไทยทั้งคู่ และในปัจจุบันเทคโนโลยีในการต่อเรือของอู่ต่อเรือไทยก็ไม่ด้อยกว่าชาติอื่นแต่โอกาสไม่มีเพราะเราชอบที่จะซื้อจากต่างประเทศมากกว่า ถ้าเราให้โอกาสอู่ต่อเรือในประเทศเสียตั้งแต่วันนี้ อีกไม่เกิน 5 ปี เราจะมีเรือดำนํ้าไทยที่ราคาถูกกว่า และเงิน 3 หมื่น 6 พันล้านบาทจะไม่ไหลออกนอกประเทศ แล้วเราจะยั่งยืนทั้งความมั่นคงและมั่งคั่ง
4) ความถูกต้อง ประการสุดท้ายที่จะตัดสินใจซื้อเรือดำนํ้าจีนในครั้งนี้คือต้องทำให้ถูกต้องทั้ง ถูกกฎหมายและถูกจริยธรรม เรามีตัวอย่างจากหลายกรณีที่เมื่อทำไปแล้ว ผ่านไปหลายปี ก็ยังถูกรื้อฟื้นมาเป็นคดีความ บางคดีก็ถูกลงโทษ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ครอบครัวเดือดร้อนแสนสาหัส ทุกขั้นตอนจึงต้องแม่นยำถูกต้องตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ถูกต้องตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ และถูกต้องตามจริยธรรมด้วย ไม่เอนเอียงหรือใช้กฎระเบียบเอื้อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วกรณีเรือดำนํ้าจีนอาจเป็นอภิมหากาพย์การซื้ออาวุธของไทยที่ใช้เวลาจัดซื้อจัดจ้างนานที่สุดที่เคยมีมา (11ปี) คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้คือรุ่นลูก และถ้ามีปัญหาอาจใช้เวลาพิจารณาคดีอีก 10-20 ปี คนที่รับกรรมคือรุ่นหลาน
เรือดำนํ้าจีนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงไปอีกนาน อาจจะนานกว่า 10 ปี ถ้าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ อาจนานกว่า 30 ปี ถ้ามีปัญหา หรืออาจเป็นอภิมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติ คนที่เกี่ยวข้องหลายคนอาจไม่ได้ดูจนถึงตอนจบ
ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย
ภาพประกอบจาก : http://thainews.prd.go.th