แฉปม 'ฮั้ว' ?...ทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน S26T
“เกิดอะไรขึ้นในขั้นตอนการพิจารณาของกองทัพเรือ ที่ทำให้เรือดำน้ำแบบ S26T กลายเป็นแบบเรือดำน้ำที่กองทัพเรือนำเสนอต่อกระทรวงกลาโหม”
วันเวลาที่รุกเร้ามาจนใกล้ถึงวันพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณประจำปี 2560 ที่กำลังจะมาถึง ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายไม่เห็นด้วยกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ S26T จากประเทศจีนของกองทัพเรือก็ต่างลุ้นระทึกว่าในที่สุดแล้วโครงการดังกล่าวจะถูกบรรจุลงในแผนงบประมาณประจำปีหรือไม่ ในระหว่างนี้เราลองมาย้อนดูว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพื่อหาคำตอบที่หลายคนค้างคาใจว่า
“เกิดอะไรขึ้นในขั้นตอนการพิจารณาของกองทัพเรือ ที่ทำให้เรือดำน้ำแบบ S26T กลายเป็นแบบเรือดำน้ำที่กองทัพเรือนำเสนอต่อกระทรวงกลาโหม”
สิ่งที่กำหนดไว้แล้ว...ในกระบวนการคัดเลือกแบบเรือดำน้ำของกองทัพเรือ
น่าแปลกที่กองทัพเรือที่ดูเหมือนจะเข็ดกับเทคโนโลยีจากประเทศจีน และถอยห่างจากการจัดหายุทโธปกรณ์จากจีนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว กลับตัดสินใจเลือก “เรือดำน้ำ” ที่ทางทหารถือว่าเป็นอาวุธที่จำเป็นต้องมีความน่าเชื่อถือระดับสุดยอด เพื่อให้ได้มาซึ่งขีดความสามารถที่ไม่มีใครเทียบได้ รวมทั้งต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงเพราะเป็นการปฏิบัติการที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าก็น่าสงสัยที่ในครั้งนี้กองทัพเรือมองว่าเทคโนโลยีจีนเหนือกว่าเทคโนโลยีจากประเทศที่เคยสร้างและมีประสบการณ์ในการใช้เรือดำน้ำมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี สวีเดน ฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งรัสเซีย ซึ่งเป็นต้นแบบที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำให้จีนผ่านเรือดำน้ำชั้น Romeo และ Kilo ก็กลับพ่ายแพ้ในการแข่งขันคัดเลือกแบบในครั้งนี้ด้วย ทั้งที่ทุกประเทศก็ได้จัดทำราคาภายใต้เงื่อนไขที่กองทัพเรือประกาศ โดยนำเสนอเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ พร้อมอาวุธและระบบสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งการฝึก ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท ยกเว้นประเทศจีนที่ในวันยื่นข้อเสนอโครงการก็ได้สร้าง “ความประหลาดใจ” ด้วยการแถมเรือดำน้ำมาอีก 1 ลำ รวมเป็น 3 ลำ แต่อะไรล่ะที่เป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากลในขั้นตอนการคัดเลือกแบบเรือดำน้ำที่เกิดขึ้น
กองทัพเรือได้ออกเอกสารเชิญชวนเรียกว่า “Request for Offer – RFO” ให้ประเทศต่างๆ ยื่นเอกสารข้อเสนอโครงการเรือดำน้ำ เพื่อนำข้อมูลในเอกสารดังกล่าวมาพิจารณาในประเด็นต่างๆ ว่ามีความเหมาะสม ตรงตามความต้องการของกองทัพเรือมากน้อยเพียงใด แล้วนำผลการพิจารณามาเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ซึ่งตามระเบียบการจัดหายุทโธปกรณ์แล้วข้อมูลในเอกสารข้อเสนอจะต้องเป็นข้อมูลสุดท้ายที่ใช้สำหรับการคัดเลือกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยหลังจากการยื่นข้อเอกสารข้อเสนอแล้วบริษัทต่างๆ จะไม่สามารถทำการติดต่อกับคณะกรรมการเพื่อขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อเสนอในระหว่างการพิจาณาคัดเลือกของคณะกรรมการได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสนอแบบทุกราย
จากหลักฐานเอกสารหมายเลข 1 ในข้อเสนอโครงการเรือดำน้ำ S26T ของบริษัท CHINA SHIPBUILDING & OFFSHORE INTERNATIONAL CO., LTD. (CSOC) จากประเทศจีน ซึ่งไม่เคยถูกเปิดเผยที่ใดมาก่อน ได้เสนอรายการที่ทางบริษัท “จะส่งมอบให้กองทัพเรือ” (Scope of supply) ภายใต้กรอบวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท (รวมภาษี) ประกอบด้วย
- เรือดำน้ำ 3 ลำ
- การฝึก
- การสนับสนุน ซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์ท่าเรือ เครื่องมือพิเศษ (ไม่รวมถึงการปรับปรุงอู่ซ่อม)
- ลูกตอร์ปิโดลูกจริง 4 ลูก ลูกฝึก 2 ลูก
- การสนับสนุนหลังการขาย เช่น การแลกเปลี่ยนการฝึก การฝึกร่วม การสนับสนุนการช่วยเหลือกู้ภัย การสนับสนุนการซ่อมบำรุงและการใช้งาน เป็นต้น
เอกสารหมายเลข 1: ส่วนของข้อเสนอเรือดำน้ำ S26T ที่ระบุรายการที่จะส่งมอบภายในงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท
ส่วนเอกสารหมายเลข 2 เป็นส่วนของเอกสาร RFO ที่ระบุ “Option เสริม” ในข้อเสนอที่หากกองทัพเรือต้องการจะต้องจ่ายเพิ่มเติม (ไม่รวมอยู่ในวงเงิน 3 หมื่น 6 พันล้านบาท) ได้แก่
- ระบบส่งกำลังบำรุงรวม (Integrated Logistic System)
- อะไหล่ 2 ปี
- เครื่องฝึก Simulator
- ลูกอาวุธเพิ่มเติม (ตอร์ปิโด เป้าลวง ทุ่นระเบิด)
- อาวุธปล่อยนำวิถี
เอกสารหมายเลข 2: ส่วนของข้อเสนอเรือดำน้ำ S26T ที่ระบุรายการ Option เสริมที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
ซึ่งหากจะพิจารณาข้อเสนอเรือดำน้ำ S26T จากจีนโดยลำพังจะเห็นว่าข้อเสนอพื้นฐานในวงเงินงบประมาณมีจุดเด่นเพียงแค่ “ตัวเรือ” ดำน้ำ 3 ลำ แต่ยังขาดความครบถ้วนในหัวข้อสำคัญหลายเรื่อง เช่น ระบบการส่งกำลังบำรุงรวม (ILS) อะไหล่ซ่อมบำรุง การปรับปรุงอู่ซ่อมเรือดำน้ำ และจำนวนลูกตอร์ปิโดเพียง 4 ลูกสำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ (เฉลี่ยลำละไม่ถึง 2 ลูก) และจะยิ่งมองเห็นความไม่คุ้มค่าจนน่าแปลกใจ หากเทียบกับข้อเสนอของประเทศยุโรปบางประเทศที่กองทัพเรือและกระทรวงกลาโหม “พยายาม” สร้างภาพว่าเป็นของแพง แต่ในเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการภายในวงเงิน 3 หมื่น 6 พันล้านบาทกลับมีความครบถ้วนมากกว่า ได้แก่ เรือดำน้ำ 2 ลำ การฝึก ระบบ ILS อะไหล่ 2 ปี การปรับปรุงท่าเรือและอู่ซ่อม เครื่องฝึก ลูกตอร์ปิโด 16 ลูก (เฉลี่ยลำละ 8 ลูก) และการผ่อนชำระเป็นเวลา 8 ปี นอกจากนี้ประเทศดังกล่าวยังมีการเสนอการถ่ายทอดเทคโนโลยีเฉพาะทางแบบ Indirect Offset ในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากเรือดำน้ำ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมพลังงาน เป็นต้น
สิ่งที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่ง คือ “ความแตกต่าง” ระหว่างรายละเอียดตามต้นฉบับ “เอกสารข้อเสนอ” กับ “สมุดปกเขียวของกองทัพเรือ”
ภายหลังจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เมื่อวันที่ 2 ก.ค.58 ที่เปิดเผยผลการพิจารณาเลือกแบบเรือดำน้ำ S26T จากจีน ตามด้วยกระแสคัดค้านจนกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้ชะลอโครงการเรือดำน้ำและสร้างความเข้าใจกับประชาชนเสียก่อน กองทัพเรือก็ได้เผยแพร่เอกสารที่เรียกว่า “สมุดปกเขียว” ความยาว 9 หน้ากระดาษ A4 ซึ่งชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการที่กองทัพเรือต้องการจัดหาเรือดำน้ำ และเหตุผลที่กองทัพเรือนำมาใช้ในการเลือกเรือดำน้ำจีน
“สมุดปกเขียว” เอกสารความยาว 9 หน้าที่กองทัพเรือ “พยายาม” ใช้ทำความเข้าใจกับประชาชนในโครงการจัดหาเรือดำน้ำ
ภาพ Info graphic สนับสนุนเรือดำน้ำ S26T ที่เลือกนำเสนอข้อมูลเฉพาะบางประเด็น
หากย้อนมาดูสมุดปกเขียวที่กองทัพเรือใช้ชี้แจงต่อประชาชน จะเห็นว่าจากเอกสาร 9 หน้า ซึ่งกล่าวถึงเหตุผลที่กองทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีนจำนวน 3 หน้า (รวมรูปภาพ) โดยเหตุผลที่กองทัพเรือได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรือดำน้ำจีน มีบางส่วนที่ระบุว่าเป็นข้อได้เปรียบของเรือดำน้ำจีนที่น่าสนใจ ได้แก่
1. มีการติดตั้งระบบอาวุธที่ครบถ้วนหลายชนิดได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถี ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด
2. การบำรุงรักษาเรือ รับประกันอุปกรณ์ 2 ปี สนับสนุนอะไหล่ 8 ปี
ดังนั้นหากเปรียบเทียบ “เอกสารข้อเสนอเรือดำน้ำ S26T” กับ “สมุดปกเขียว” ก็จะพบความผิดปกติทั้งในแง่ของความขัดกันของข้อมูลหลายประเด็นที่กองทัพเรือใช้เป็นเครื่องยืนยัน “ข้อได้เปรียบ” ของเรือดำน้ำจีน ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าข้อมูลที่ต่างไปจากเอกสารข้อเสนอต้นฉบับ มีที่มาอย่างไร ? เป็นผลมาจากการแอบฮั้วเจรจานอกเหนือจากการพิจารณาตัดสินคัดเลือกตามข้อเสนอเพื่อหาเหตุผลความชอบธรรมให้กับการคัดเลือกแบบเรือดำน้ำ S26T จากจีนหรือไม่ ? และการ “เพิ่มเติมข้อเสนอ” ภายหลังจากการยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการ เป็นการขัดต่อกระบวนการคัดเลือกหรือเป็นการเอื้อประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ?
ดังนั้นกองทัพเรือต้องทำการชี้แจงว่า “ความแตกต่าง” ระหว่างเอกสารหลักที่ใช้ในการคัดเลือกแบบเรือดำน้ำกับบริษัทผู้ผลิตรายอื่น กับเอกสารที่กองทัพเรือเผยแพร่ต่อประชาชน และหากมีการเจรจาปรับเงื่อนไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นนั้น สรุปว่าสิ่งที่ทำมาตั้งแต่ต้นเป็นกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสและเป็นธรรมจริงหรือไม่ และสุดท้ายแล้ว “เรือดำน้ำจีน” คุ้มค่าที่สุดสำหรับกองทัพเรือจริงหรือ ?
ผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ของกองทัพเรือ หรือผลประโยชน์ของใคร
โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการอันเป็นความฝันที่ใกล้เป็นจริงของกองทัพเรือมากที่สุด เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และได้มีความพยายามที่จะทำความเข้าใจกับภาคประชาชนด้วยสื่อต่างๆ อย่างมากมาย แต่น่าเสียดายที่มีคำถามมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ ทั้งความโปร่งใสในกระบวนการจัดหา ความพยายามนำขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์หลักไปเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับความร่วมมือเพื่อดำรงเสถียรภาพของรัฐบาล จึงเป็นที่น่าติดตามที่สุดท้ายแล้ว กองทัพเรือจะต้องเป็นผู้รับภาระและผู้แก้ปัญหาในระยะยาวของโครงการนี้หรือไม่ และในที่สุด “ใคร” ที่จะเป็นที่ถูก “กล่าวขานไป” ตลอดกาล...