ยุทธศาสตร์ 3 ลด คืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนลำปาง
"แผนที่ทำมือช่วยจัดการป่า" ช่วยให้ชาวบ้านรู้จักป่าของตนเองได้ดียิ่งขึ้น กระทั่งนำมาสู่การทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่ามากกว่า 3 กิโลเมตร จุดไหนที่สำคัญ ได้ผลที่สุด ก็ใช้แผ่นที่นี้ชี้จุด หากเป็นพื้นที่ป่าที่เป็นรอยต่อป่าชุมชนอื่น ก็สร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร และใช้วัสดุธรรมชาติในป่า ภายใต้แนวคิด "ป่าเปียก" สร้างป่าให้ชุ่มชื่น ลดความแห้งแล้งที่เป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่าได้ง่าย
ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ มีความรุนแรงอย่างมากในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของแต่ละปี โดยเฉพาะที่ 'เชียงใหม่ และ ลำปาง' ก่อให้เกิดฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เฉพาะที่จังหวัดลำปาง จากสภาพภูมิประเทศที่อยู่สูงจากน้ำทะเล 268.80 เมตร อีกทั้งพื้นที่เป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดินที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือ เรียกว่า แอ่งลำปาง คล้ายก้นกระทะ ยิ่งทำให้อากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี ฤดูร้อนร้อนจัด ฤดูหนาว หนาวจัด
จากรายงานการปฏิบัติงานดับไฟป่าของจังหวัดลำปาง ได้สรุปผลการเกิดไฟป่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562 ว่า มีจุดไฟเผารวมทั้งสิ้น 361 จุด มีพื้นที่ถูกไฟไหม้ไปประมาณ 6,585 ไร่ สาเหตุหลักๆ มาจากการจุดไฟหาของป่า ล่าสัตว์ป่า เผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร และมีการเผาโดยไม่ทราบสาเหตุเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ซ้ำๆ
แม้ว่า ช่วงที่ผ่านมา นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง จะได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการลดปัญหาหมอกควัน หรือ 3 ลด ในปี 2563 ได้แก่ 1.ลดปัญหาสุขภาพระบบทางเดินหายใจให้เหลือร้อยละ 70 2.ลดจุดความร้อนหรือฮอทสปอท ให้เหลือร้อยละ 50 และ 3. ลดการเผาในที่ชุมชน ทั้งในครัวเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร แล้วก็ตาม แต่สถานการณ์วิกฤตหมอกควันก็ยังไม่ดีขึ้น
แน่นอนว่า ประเด็นปัญหาหมอกควัน นอกจากภาครัฐแล้วจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วน ปัจจุบัน มีชุมชนต้นแบบลดเผาลดควัน เกิดขึ้นที่จังหวัดลำปาง ในพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย
อำเภอวังเหนือ ในตำบลร่องเคาะ วังทรายคำ และวังใต้
อำเภอเสริมงาม ในตำบลทุ่งงาม และเสริมขาว
อำเภอเถิน ในเขตตำบลแม่วะ
และพื้นที่ระดับชุมชน หมู่บ้าน 9 แห่ง ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต (ดอยพระบาท ม่อนพระยาแช่) อำเภอเมืองลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ากลางเมือง
ป่ากลางเมืองลำปาง
นายเสถียรพงศ์ เครืออิ่นแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 บ้านไร่พัฒนา ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เล่าว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละปีสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านมาก โดยเฉพาะผืนป่าของหมู่บ้านอยู่ห่างจากศูนย์ราชการเพียง 3 กิโลเมตร
'เรามีกิจกรรมรักษาป่ากันทุกปี ช่วยกันปลูกต้นไม้ บวชป่า ทำฝายชะลอน้ำ รณรงค์ห้ามเผา ก็พอได้ผลบ้าง แต่ไม่ครอบคลุมผืนป่าทั้งหมด เพราะดอยพระบาทมีชุมชนที่อาศัยโดยรอบมากถึง 36 ชุมชน ประกาศเป็นเขตป่าชุมชนไปแล้ว 20 ชุมชน อีก 10 ชุมชน ยังไม่ประกาศเขตป่าชุมชน"
การที่ป่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ เข้าออกได้หลายทาง จึงมีคนเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าหลากหลาย ทั้งจากคนในและนอกพื้นที่ การหยุดหมอกควัน ไฟป่า ที่ผ่านมาจึงไม่ประสบผลสำเร็จ
ขณะเดียวกันแต่ละหมู่บ้าน แต่ละหน่วยงานก็ไม่เคยมานั่งคุยกัน ต่างคนต่างทำ ทำให้แผนการจัดการไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่หลังจากหน่วยจัดการระดับจังหวัด ขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง (Node Flagship) ภายใต้แผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาหนุนเสริมการแก้ปัญหาหมอกควัน ด้วยการมอบทุนทำโครงการและสร้างกลไกระดับชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถลดการเผาในพื้นที่ได้
สำหรับบทบาท Node Flagship ลำปางกับการสร้างความเข้มแข็งชุมชนนั้น โครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 จำนวน 40 โครงการ ล่าสุดปี 2563 มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 25 พื้นที่ โดยมีพื้นที่เดิม 10 พื้นที่ที่รับทุนต่อเนื่องเพื่อขยายขอบเขตเนื้อที่การทำงานจากหมู่บ้านไปยังตำบล และพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนแก้ปัญหาหมอกควันให้กับชาวลำปาง
ผู้ใหญ่เสถียรพงศ์ เล่าต่อถึงการลุกขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งกลไกอาสาสมัครรักษ์ป่าม่อนพระยาแช่ สดใสไร้หมอกควัน ว่า เขาได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในการร่วมกันรักษาป่า ฝึกอบรมทักษะการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือดับไฟป่า มีปฏิทินลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่าตลอดทั้งปี รวมถึงการจัดทำหอคอยเฝ้าระวังตามจุดพื้นที่เสี่ยง บริเวณยอดเขาหัวตัด และหอส่งน้ำประปาหมู่บ้าน
"แผนที่ทำมือช่วยจัดการป่า" เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เขาและชาวบ้านไร่พัฒนาร่วมกันทำขึ้น ผู้ใหญ่เสถียรพงศ์ ชี้ไปที่แผนที่ทำมือช่วยจัดการป่า ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่หน้าทางเข้าป่าชุมชน
"แผนที่นี้ช่วยให้ชาวบ้านรู้จักป่าของตนเองได้ดียิ่งขึ้น กระทั่งนำมาสู่การทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่ามากกว่า 3 กิโลเมตร จุดไหนที่สำคัญและได้ผลที่สุด ก็ใช้แผนที่นี้ชี้จุด หากเป็นพื้นที่ป่าที่เป็นรอยต่อป่าชุมชนอื่น ก็สร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร และใช้วัสดุธรรมชาติในป่า ภายใต้แนวคิด "ป่าเปียก" สร้างป่าให้ชุ่มชื่น ลดความแห้งแล้งที่เป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่าได้ง่าย"
สำหรับบ้านไร่พัฒนา ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนที่รับผิดชอบจำนวน 586 ไร่ ได้มีตั้งกฎและกติกาการใช้ป่าร่วมกัน ตลอดจนมีแผนการดำเนินงานในป่าตลอดปี เพื่อให้ป่ากลางเมืองแห่งนี้ เป็นปอดใหญ่ให้คนลำปาง
เสถียรพงศ์ ให้ข้อมูลทิ้งท้ายถึงสถานการณ์การเกิดไฟป่า ที่ปีนี้ 2563 ยังไม่เกิดขึ้นสักจุด เขาหวังจะไม่เกิดขึ้นเลย แตกต่างจากปี 2561 เกิดขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่ 8 ครั้ง ปี 2562 เกิดไฟป่าขึ้น 3 ครั้ง
"การเกิดไฟป่าลดลงถึงร้อยละ 57.2 เชื่อว่าเกิดจากการทำงานของอาสาสมัครที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ ที่สำคัญมีจุดตรวจสกัดห้ามบุคคลเข้าพื้นที่"
อาสาเฝ้าวัง สร้างป่าสมบูรณ์
ขณะที่ชุมชนต้นแบบอีกแห่งหนึ่ง คือ ที่บ้านแม่โป่ง ตำบลวังใต้ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เป็นอีกพื้นที่ที่สามารถควบคุมไม่ให้มีการจุดไฟเผาป่า และการเผาวัชพืช หรือซากผลผลิตทางการเกษตรได้ถึง 100% ล่าสุดกำลังขยายผลไปยังพื้นที่ในตำบลใกล้เคียง ซึ่งปัจจัยความสำเร็จเกิดจากการสร้างกลไกในพื้นที่ "กลไกอาสาสมัคร" ได้แก่ มีการบูรณาการ่วมกัน จัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อบต. ข้าราชบำนาญ ปราชญ์ชาวบ้าน อาสาสมัครชุมชน ส่วนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ไม่ได้เป็นคณะกรรมการ แต่ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ชุมชนจัดทุกครั้ง
นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีการจัดทำแผน กำหนดกฎ กติกา และมาตรการเฝ้าระวัง จนกระทั่งพัฒนามาเป็น "ธรรมนูญสุขภาวะตำบลวังใต้" จากนั้นนำธรรมนูญดังกล่าวมาปฏิบัติ จนทำให้บ้านแม่โป่ง เป็นพื้นที่ปลอดการเผาป่าและพื้นที่เกษตรได้ 100%
เสถียรพงศ์ เครืออิ่นแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 บ้านไร่พัฒนา
กิจกรรมอาสาอนุรักษ์ป่าพระยาแช่ สดใสไร้หมอกควัน
การลงนามข้อตกลงร่วมมือแก้ปัญหาหมอกควัน พื้นที่ลำปาง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/