- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ขมวดเงื่อนงำคดีสินบน‘โรลส์รอยซ์-บินไทย’ 3 ยุค ฉบับ‘อิศรา’เทียบ SFO
ขมวดเงื่อนงำคดีสินบน‘โรลส์รอยซ์-บินไทย’ 3 ยุค ฉบับ‘อิศรา’เทียบ SFO
ขมวดพฤติการณ์-เงื่อนปม งัดมติ ครม.-บันทึกการประชุมบอร์ดการบินไทยฯ คดีสินบน ‘โรลส์รอยซ์’ 3 ยุค 1.2 พันล้าน ฉบับ ‘อิศรา’ เทียบสำนวน SFO ก่อน ป.ป.ช. หน่วยงานหลักขยับสอบ
ในคดีที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ อ้างว่าจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อเอื้อให้บริษัท การบินไทยฯ ซื้อเครื่องยนต์ TRENT-800 (T-800) ตามสำนวนการสอบสวนของสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ที่ปัจจุบันส่งฟ้องต่อศาลอังกฤษไปแล้วนั้น
เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด พบว่า มีกระบวนการ ขั้นตอน การเสนอความเห็นในคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท การบินไทยฯ ความเห็นของกระทรวงคมนาคม จนเสนอคณะรัฐมนตรี กระทั่งมีการอนุมัติ หลายขั้นตอนมาก
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจง่ายขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อมูล-เอกสาร ที่ดำเนินการตรวจสอบเอง เพื่อเทียบเคียงกับสำนวนการสอบสวนของ SFO ดังนี้
การจ่ายสินบนก้อนแรก ระหว่างปี 2534-2535 วงเงินประมาณ 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 663 ล้านบาท)
จุดเริ่มต้นเรื่องนี้เกิดขึ้นช่วงเดือน พ.ค. 2533 สมัยรัฐบาล พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี (ยศ และตำแหน่งขณะนั้น) มีนายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม ขณะนั้น นำเสนอความเห็นของบริษัท การบินไทยฯ แก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทยฯ ระหว่างปี 2534-2538 เพื่อขอให้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องบิน 23 ลำ วงเงิน 5.3 หมื่นล้านบาท พร้อมอะไหล่ และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร รวมเบ็ดเสร็จประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท
ต่อมาภายหลังเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อต้นปี 2534 ขณะนั้นมีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม โดยนำเสนอแผนวิสาหกิจของบริษัท การบินไทยฯ จากเดิม 5 ปี คือระหว่างปี 2534-2538 เป็น 7 ปี คือระหว่างปี 2534-2541 พร้อมเสนอให้ซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 19 ลำ (รวมของเดิมเป็น 42 ลำ) รวมวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท
โดยในแผนวิสาหกิจดังกล่าว กระทรวงคมนาคมเสนอขอให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติซื้อเครื่องบินขนาด 380 ที่นั่ง รวม 8 ลำ
ต่อมาคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามข้อเสนอดังกล่าว โดยให้ทบทวนการจัดซื้อเครื่องบินขนาด 300 ที่นั่งทั้งหมด แต่ให้ซื้อเครื่องบินขนาด 380 ที่นั่ง แทน เนื่องจากมีประสิทธิภาพ รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า รวมถึงใช้สอยประโยชน์ได้มากกว่าด้วย นอกจากนี้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยังมีข้อเสนอให้บริษัท การบินไทยฯ จำกัดประเภทของเครื่องยนต์ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมแซมบำรุงรักษาด้วย
ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีสอดคล้องกับบันทึกการประชุมบอร์ดบริษัท การบินไทยฯ ในช่วงเวลานั้น ที่อนุมัติให้ซื้อเครื่องยนต์แบบ RB211-TRENT-870 ติดตั้งกับเครื่องบิน B777-200 ขนาด 380 ที่นั่ง ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการจัดซื้อ รวม 8 ลำ
โดยช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏชื่อ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ. ขณะนั้น) เป็นประธานบอร์ดการบินไทยฯ และ พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยฯ
เมื่อนำข้อมูลที่สำนักข่าวอิศราพบเทียบเคียงกับข้อมูลของ SFO พบว่า ข้อมูลทั้งหมดมีความสอดคล้องกัน กล่าวคือตามข้อมูลในสำนวน SFO ระบุว่า ในเดือนมิถุนายน 2534 สายการบินไทย (“ไทย”) ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ ซึ่งหลังจากนั้นได้เพิ่มจำนวนการสั่งซื้อเป็น 8 ลำ โดยมีบริษัท RR (โรลส์-รอยซ์) เป็นผู้จำหน่าย เครื่องยนต์ Trent 800 (“T800”) ให้กับเครื่องบินของไทย ซึ่งในขณะที่ RR กำลังจัดสรรงบประมาณ ปรากฎว่า ได้มีการแบ่งเงินบางส่วนให้กับนายหน้า เป็นสินบนเพื่อชักจูงใจในการตัดสินใจซื้อขาย
(อ่านประกอบ : เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม, แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1), จำกัดประเภทเครื่องยนต์!เปิดมติ ครม. ยุค รสช.ไฟเขียวซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์, เทียบชัดๆ บันทึกการบินไทย-ผลสอบSFO จุดเริ่มต้นสินบนโรลส์รอยส์ก้อนแรก?, บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์)
การจ่ายสินบนก้อนที่สอง ระหว่างปี 2535-2540 วงเงินประมาณ 10.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 336 ล้านบาท)
เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการจ่ายสินบนก้อนแรกในปี 2534-2535 โดยข้อมูลเบื้องต้นที่สำนักข่าวอิศราพบคือ บันทึกการประชุมบอร์ดการบินไทยฯ ช่วงปี 2536 มีการอนุมัติเห็นชอบให้เปลี่ยนรุ่นเครื่องยนต์จาก TRENT 870 และเป็นรุ่น TRENT 875 โดยระบุเหตุผลว่า เครื่องยนต์ TRENT 875 มีราคาสูงกว่า TRENT 870 และสายการบินอื่น ๆ ใช้เครื่องยนต์สูงกว่า TRENT 870 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีนายบัณฑิต บุณยะปานะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทยฯ และ ร.9.ท.ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยฯ
ขณะที่สำนวนการสอบสวนของ SFO ระบุว่า กรณีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2535-31 มี.ค.2540 โดย โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินให้นายหน้าคนกลาง ซึ่งนำเงินดังกล่าวบางส่วนไปให้พนักงานการบินไทย โดยบริษัท RR ตกลงจ่ายเงินสินบนให้กับนายหน้า (their intermediaries) จำนวน 10.38 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่วนแบ่งของเงินจำนวนนี้มีจุดประสงค์เพื่อแบ่งสรรปันส่วนให้กับพนักงานของการบินไทย ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการจัดซื้อเครื่องยนต์รุ่น T800 ล็อตที่สอง โดยพนักงานเหล่านั้นแสดงท่าทีพอใจต่อการใช้เครื่องยนต์รุ่นดังกล่าว
ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ทางการไทยได้ตกลงซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ โดยที่ทางบริษัท RR ต้องการความมั่นใจว่า ทางการบินไทยจะเลือกใช้เครื่องยนต์รุ่น T800 ทางบริษัท RR ได้จ่ายสินบนให้กับนายหน้า 3 และนายหน้าในภูมิภาค เพื่อทำให้เกิดการซื้อขายครั้งนี้
ต่อมา ในเดือนมีนาคม ปี 2535 เมื่อการจัดซื้อในล๊อตที่สองของการบินไทยเป็นไปตามคาดการณ์ของบริษัทRR พนักงานRR จึงตกลงจ่ายเงิน ให้นายหน้า 3 จำนวน 135 ล้านบาท (หรือคิดเป็นเงินประมาณ 5.29 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) โดยไทยสั่งซื้อโบอิ้ง 777 พร้อมเครื่องยนต์ T800 ซึ่งการสั่งซื้อครั้งนี้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายแนบ ในข้อตกลงขอนายหน้า 3
อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อครั้งนี้ไม่ได้รับการจัดการต่อในทันที สองปีต่อมา ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 บริษัท RR จ่ายสินบนอีกกว่า 5 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้กับนายหน้า3 โดยเงินจำนวนนี้ แยกออกมาต่างหากจากข้อตกลงเดิม
ในเดือนเมษายน ปี 2538 ขณะที่กระบวนการจัดซื้อยังไม่ได้ตกลง บริษัทRR ส่งจดหมายแนบไปยังนายหน้า 3 โดยจดหมายครั้งนี้ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มจากเดิมในปี 2535 ว่าจะจ่ายเงินสินบน (commission) อีก 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อลำ (ทั้งหมด6 ลำ)
โดยข้อมูลจาก SFO ไม่ได้มีการระบุเหตุผลว่า ทำไมการบินไทยฯ จึงเปลี่ยนรุ่นเครื่องยนต์จาก TRENT 870 เป็น TRENT 875 แต่อย่างใด สำหรับรายละเอียดข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ สำนักข่าวอิศราอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล
(อ่านประกอบ : บันทึกลับบินไทยชิ้น2 อนุมัติเปลี่ยนรุ่นโรลส์รอยส์ T-875 ช่วงรอยต่อสินบนก้อน1-2, แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง")
การจ่ายสินบนก้อนที่สาม ระหว่างปี 2547-2548 วงเงินประมาณ 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 254 ล้านบาท)
เบื้องต้นจากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2547 พบว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจบริษัท การบินไทยฯ ระหว่างปี 2548-2549 แก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจัดซื้อเครื่องบิน A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบิน A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบิน A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง B777-200ER จำนวน 6 ลำ วงเงินประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากบันทึกการประชุมบอร์ดการบินไทยฯเมื่อปี 2547 พบว่า มีการอนุมัติจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบิน A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบิน A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบิน A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงนั้นมี นายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดการบินไทยฯ ส่วนนายกนก อภิรดี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยฯ
โดยข้อมูลทั้งสองส่วนนี้สอดคล้องกับข้อมูลในสำนวนการสอบสวนของ SFO ที่ระบุว่า ในจดหมายภายในบริษัท RR ฉบับลงวันที่ 19 พฤจิกายน 2547 บันทึกการประชุมซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง นายหน้า 3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค และคนในรัฐบาลไทย (The Thai Government) ซึ่งระบุบรรยากาศการประชุมครั้งนั้นว่า
“ช่างเป็นการประชุมที่ดีเหลือเกิน การจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A340 และ โบอิ้ง 777 กำลังอยู่ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤจิกายนนี้ (2547)”
ต่อมา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2547 อีเมล์ภายในของ RR ฉบับหนึ่งระบุว่า คำสั่งซื้อ/ออเดอร์ของการบินไทย ได้รับการอนุมัติแล้ว
"มีสายตรงระหว่าง (รัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลไทยกับพนักงานการบินไทย) เป็นไปด้วยดี ทางสายการบินยังไม่ได้รับทราบข่าวดีใด ๆ และยังไม่มีท่าทีแน่ชัดถึงการเซ็นสัญญา POs (นายหน้า 3 รวมทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาค) ได้รับคำมั่นสัญญา จากรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทย ซึ่งพวกเขาได้พบก่อนหน้านี้ ว่าจะเรื่องราวดังกล่าวจะถูกไล่เรียงความชัดเจนภายในวันรุ่งขึ้น"
ส่วนการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777 ครั้งที่สาม ของสายการบินไทย ได้เริ่มหารือตั้งแต่ต้นปี 2539 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปจนกระทั่งปลายปี 2547 ซึ่งในขณะนั้น บริษัท RR ยืนยันว่า มีงบประมาณเพียงพอสำหรับจ่ายให้นายหน้าในภูมิภาคและนายหน้า 3 ทั้งนี้ บริษัทได้ติดสินบนเงินจำนวนหนึ่งเพื่อจูงใจให้สายการบินไทยซื้อเครื่องบินพร้อมเครื่องยนต์รุ่น T-800 เพิ่มเติมจากเดิม ส่วนแบ่งของเงินจำนวนนี้ได้ส่งต่อไปยัง คนในรัฐบาลไทย
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 2547 บอร์ดการบินไทย ตัดสินใจซื้อโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส A340 จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า โดยที่ทางการบินไทยเลือกใช้เครื่องยนต์ของบริษัท RR สำหรับเครื่องโบอิ้ง ส่วนเครื่องแอร์บัสนั้นใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น T500 อยู่เเล้ว (sole-source)
(อ่านประกอบ : แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ), จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์', ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์, ตรงเป๊ะผลสอบSFO!บันทึกบินไทย(3)ซื้อ 'B777-A340' 8 ลำ ยุค'ทนง -กนก'!)
ทั้งหมดคือข้อมูลเชิงลึกที่สำนักข่าวอิศรารวบรวมมาได้ เพื่อเทียบเคียงกับผลการสอบสวนจาก SFO ซึ่งพบว่า มีข้อมูลบางส่วนสอดคล้องกัน
อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และแสวงหาข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบเรื่องนี้ ปัจจุบันได้ประสานขอข้อมูลไปยัง SFO แล้ว
นอกจากนี้ SFO ไม่ได้มีการระบุชื่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนแต่อย่างใด ดังนั้นจึงถือว่ารายชื่อทั้งหมดยังไม่มีความเกี่ยวข้องกับการรับสินบน และยังไม่ได้เป็นผู้ถูกกล่าวหา
อ่านประกอบ :
เจอแล้ว!ปตท.จัดซื้อ ‘โรลส์รอยซ์’ 7 สัญญารวด 254.5 ล. ช่วง 3 ปี- บ.คนไทยเอี่ยว
ถก ยธ.สหรัฐฯสัปดาห์หน้า-ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานทางการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
สั่งคมนาคมเร่งสอบสินบนโรลส์-รอยซ์! ‘บิ๊กตู่’ย้อนหาว่า รบ.โกง ไหนคดีในศาล
ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"
แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ)
หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ
เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง
ได้ชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตั้งอนุฯสอบทันที! ป.ป.ช.ขีดเส้น ‘บินไทย-ปตท.’ต้องส่งข้อมูลสัปดาห์นี้
จำกัดประเภทเครื่องยนต์!เปิดมติ ครม. ยุค รสช.ไฟเขียวซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม
เทียบชัดๆ บันทึกการบินไทย-ผลสอบSFO จุดเริ่มต้นสินบนโรลส์รอยส์ก้อนแรก?
บันทึกลับบินไทยชิ้น2 อนุมัติเปลี่ยนรุ่นโรลส์รอยส์ T-875 ช่วงรอยต่อสินบนก้อน1-2
บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์