ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
"เรื่องที่เกิดขึ้นทราบอยู่แล้วว่า เวลาซื้อเครื่องบินก็เรียกว่าเป็นเหยื่อโอชะ ซึ่งมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐวิสาหกิจ การทุจริตในรัฐวิสาหกิจต้องมีมาตรการหลายอย่างที่จะต้องแก้ไข ที่สำคัญไม่ควรจะทำแบบที่เคยทำมา นักการเมือง รัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ซึ่งแค่รัฐมนตรีช่วยก็สามารถมีอำนาจได้มหาศาล "
กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ ว่า ได้มีการจ่ายสินบนในหลายประเทศ ทั้ง จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย ที่ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์ รวมถึงประเทศไทย
ข่าวที่องค์กรต่างชาติเปิดโปงการทุจริตจัดซื้อในประเทศไทยในอดีต เกี่ยวพันคนตั้งแต่ระดับนักการเมือง รัฐมนตรี ไปจนถึงคนของการบินไทยเอง
สำนักข่าวอิศรา ชวนคุยเรื่องดังกล่าว คนแรก
ศ.ดร. เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า กรณีของโรลส์-รอยซ์ ไม่ใช่แค่คดีเดียวที่บริษัทขายของในประเทศไทยได้พยายามจะติดสินบนตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นๆ อย่างกรณีคดี CTX 9000 เครื่องตรวจวัตถุระเบิดก็เป็นคดีหนึ่งที่โด่งดังมาก เกิดในลักษณะคล้ายๆกัน โดยบริษัทที่ขายเครื่องยนต์นี้จะยอมให้บริษัทที่เป็นนายหน้าได้รับส่วนแบ่งของเงินที่ซื้อไป นั่นหมายความว่า เป็นการให้สินบนในรูปแบบของการเอื้อประโยชน์ให้
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ และทางบริษัทผู้ขายจะมีเงินหรือผลประประโยชน์ที่จะส่งคืนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการซื้อ เช่น อาจจะเป็นระดับผู้อำนวยการองค์กร
“เรื่องเหล่านี้ อันที่จริงประเทศไทยควรจะสนใจ หรือให้ความสำคัญและติดตามมากกว่านี้ เพราะข้อมูลต่างๆ ที่ทางต่างประเทศให้มา ไม่ว่าจะเป็นอัยการของอเมริกา หรือสำนักงานสอบสวน (FBI) ของอเมริกา สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของอังกฤษ จะทำงานร่วมกันในการจับคนทำผิด มักมีคดีของประเทศไทย แต่บ้านเราไม่ได้ตามเรื่องนี้เท่าไร" อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว และหวังว่ากรณีของโรลส์-รอยซ์น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทางการของไทยให้ความสนใจมากขึ้น
ศ.ดร. เมธี กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นได้ผ่านไปแล้ว ซึ่งการกระทำนี้เป็นลักษณะการกระทำที่ทำกันอยู่แล้วตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์นั่นคือว่านับตั้งแต่นี้การกระทำเช่นนี้จะทำได้ยากขึ้น เพราะทางต่างประเทศจะเข้มงวดในเรื่องนี้ สำหรับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป
ขณะที่รศ. ดร.ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงกรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ยอมรับว่าได้จ่ายสินบนในประเทศไทย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เรื่องนี้ทำให้คนไทยรู้ว่ามีคนมาแสวงหาผลประโยชน์ จากรัฐวิสาหกิจ และองค์กรเหล่านี้มีปัญหาการทุจริต การจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
"เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่มีมาเกือบ 20 ปี มีทั้งการซื้อเครื่องบิน ซึ่งก็ทราบอยู่แล้วว่าเวลาซื้อเครื่องบินก็เรียกว่าเป็นเหยื่อโอชะ ซึ่งมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐวิสาหกิจและการทุจริตในรัฐวิสาหกิจจะต้องมีมาตรการหลายอย่างที่จะต้องแก้ไข ที่สำคัญไม่ควรจะทำแบบที่เคยทำมา นักการเมือง รัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ซึ่งแค่รัฐมนตรีช่วยก็สามารถมีอำนาจได้มหาศาล "
รศ. ดร.ต่อตระกูล กล่าวด้วยว่า มีข่าวลือว่ารัฐวิสาหกิจสามารถเรียกร้องเงินได้ถึงปีละพันล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ ไม่ควรให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งเกือบหมดทั้งคณะ โดยส่งคนของตัวเองไปเป็นประธาน ถึงแม้จะเป็นรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล เป็นตัวแทนประชาชน ก็ต้องเข้าไปดูแล และให้มีการเชิญคนที่มีประโยชน์ มีคุณวุฒิเข้าไปช่วยดูแลกิจการให้ดีขึ้น เหมือนกับอารยะประเทศที่มีบริษัทขนาดใหญ่ได้เชิญคนที่มีคุณวุฒิทางด้านความสามารถ เรื่องของความคิด ประสบการณ์ เพราะมีความสำคัญมากที่จะต้องต่อสู้ในรัฐวิสาหกิจในอนาคต