- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
“…เนื่องจากการทำแผนวิสาหกิจดังกล่าว บริษัท การบินไทยฯ ได้ดำเนินการจัดทำอย่างเป็นระบบ มีการศึกษาโดยผู้บริหารของบริษัท และมีการพิจารณาในระดับคณะกรรมการที่มีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว ทั้งในคณะกรรมการวางแผนระยะยาวของบริษัท และคณะกรรมการบริษัทด้วย…”
ในที่สุดเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้การยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร หรือ SFO ว่า จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทยฯ ระหว่างปี 2534-2548 จำนวน 3 ครั้ง รวมวงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์การขายเครื่องยนต์ TRENT-800 (T-800)
โดยเฉพาะในช่วงที่ 1 คือ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534-30 มิ.ย. 2535 วงเงินประมาณ 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 663 ล้านบาท)
เนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริษัท การบินไทยฯ ลงวันที่ 30 ส.ค. 2534 มีมติอนุมัติให้ใช้เครื่องยนต์แบบ RB211-TRENT-870 ติดตั้งกับเครื่องบิน B777-200 ที่บริษัท การบินไทยฯ สั่งซื้อไปก่อนหน้านี้ โดยมีการเจรจาต่อรองให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ดังกล่าวปรับปรุงข้อเสนอเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท การบินไทยฯ ต่อไป โดยในช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏชื่อ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย มี พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
(อ่านประกอบ : เทียบชัดๆ บันทึกการบินไทย-ผลสอบSFO จุดเริ่มต้นสินบนโรลส์รอยส์ก้อนแรก?, เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม)
ทั้งนี้การจัดซื้อเครื่องยนต์ใส่เครื่องบินดังกล่าวของบริษัท การบินไทยฯ สืบเนื่องจากแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทยฯ ที่นำเสนอ รมว.คมนาคม (นายมนตรี พงษ์พานิช) เมื่อปี 2533 ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) อนุมัติเมื่อเดือน พ.ค. 2533 โดยเป็นการจัดซื้อเครื่องบิน 23 ลำ จัดซื้ออะไหล่ รวมถึงลงทุนในสินทรัพย์ถาวร รวมมูลค่าประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท
(อ่านประกอบ : ชื่อ‘มนตรี’โชว์หรายุค‘ชาติชาย’คนชง ครม.ซื้อเครื่องบินปี 34-38 '5.3 หมื่นล.')
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นมติคณะรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534-30 มิ.ย. 2535 พบว่า บริษัท การบินไทยฯ นำเสนอเรื่องผ่านกระทรวงคมนาคม เพื่อให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้กู้เงินกับต่างชาติ เพื่อชำระค่าเครื่องบินจำนวนหลายลำ แบ่งเป็น
การกู้เงินในรูปแบบ Japanese Leverage Lease เพื่อชำระค่าจัดซื้อเครื่องบิน
-BAE ลำที่ 2 วงเงิน 25.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
-B737-400 ลำที่ 3 วงเงิน 34.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
-MD11 ลำที่ 1 และ 2 วงเงิน 188 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ลำละ 94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
การกู้เงินในรูปแบบ German Leverage Lease เพื่อชำระค่าจัดซื้อเครื่องบิน
-A300-600R ลำที่ 12-14 วงเงิน 259.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ลำแรก 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีก 2 ลำ 87.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
กู้เงินระยะสั้นกับสถาบันทางการเงินต่างประเทศ 6 แห่ง (Sanwa Bank, Bankers Trust, Bayerische Landesbank, BOT International, DKB Asia และ Dresdner) วงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเตรียมพร้อมตามแผนการลงทุนระยะยาวในการจัดซื้อเครื่องบินช่วงปี 2535 จำนวน 12 ลำ วงเงิน 775.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดีประเด็นที่ต้องโฟกัสในช่วงเวลาดังกล่าวคือ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2535 การบินไทยจัดแผนวิสาหกิจใหม่เสนอแก่กระทรวงคมนาคม
จากเดิมตามที่เสนอและคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ พ.ค. 2533 คือ ระหว่างปี 2534-2538 วงเงินรวม 7.5 หมื่นล้านบาท เป็นระหว่างปี 2534-2541 และเพิ่มการจัดซื้อเครื่องบินจากเดิมรวม 23 ลำ เป็น 42 ลำ (เพิ่มขึ้น 19 ลำ) พร้อมอะไหล่เครื่องบิน และการลงทุนในทรัพย์สินถาวรอื่น รวมวงเงิน 102,685 ล้านบาท
โดยให้เหตุผลว่า บริษัท การบินไทยฯ ได้ทำการปรับปรุงแผนการลงทุนระยะยาว ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2534-2538) เป็นแผนการลงทุนระยะ 7 ปี (แผนวิสาหกิจ พ.ศ.2535-2541) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจของโลก แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแนวทางในการพัฒนากิจการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งแผนวิสาหกิจดังกล่าวเป็นการส่งเสริมแผนการลงทุนระยะยาวเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
กล่าวคือจะมีการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ จำนวน 19 ลำ เข้ามาในฝูงบินหลังจากสิ้นสุดแผนเดิม (พ.ศ.2538) และจะทยอยปลดเครื่องบินขนาดเล็ก และเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานนานประมาณ 17-18 ปี ออกจากฝูงบินรวม 23 ลำ เพื่อให้บริษัท การบินไทยฯ สามารถแข่งขันจากสายการบินอื่น ๆ ในธุรกิจการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สรุปได้ ดังนี้
1.จัดซื้อเครื่องบินรวม 19 ลำ เป็นเงิน 69,556 ล้านบาท แบ่งเป็น เครื่องบินขนาด 400 ที่นั่ง จำนวน 4 ลำ เครื่องบินขนาด 380 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ เครื่องบินขนาด 300 ที่นั่ง จำนวน 7 ลำ จัดหาและจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินวงเงินลงทุนรวม 10,230 ล้านบาท ลงทุนในทรัพย์สินถาวรอื่น ๆ เป็นเงินรวม 22,899 ล้านบาท
(สำหรับการจัดซื้อเครื่องบิน ขนาด 380 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลตามบันทึกคณะกรรมการบริษัท การบินไทยฯ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2535 ที่ยกเลิกความในของเดิม แล้วใส่ข้อความต่อไปนี้แทนว่า "ที่ประชุมฯ รับทราบและมอบหมายให้บริษัทฯ บริหารกิจการให้เป็นไปตามแนวข้อสังเกตท้ายมติครม.ดังกล่าว หลังจากได้รับแจ้งมติเป็นทางการแล้ว และเนื่องจากตามแผนวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วดังกล่าว ได้กำหนดให้บริษัทฯ จัดซื้อเครื่องบินขนาด 380 ที่นั่งจำนวน 8 ลำ และขนาด 400 ที่นั่ง อีกจำนวน 4 ลำ จึงมีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ดำเนินการจัดซื้อเครื่องบิน”
โดยในส่วนของเครื่องบินขนาด 380 ที่นั่งดังกล่าว บันทึกการประชุมระบุให้บริษัท การบินไทย ดำเนินการสั่งซื้อเครื่องบิน B777 จำนวน 6 ลำ และทำสัญญาซื้อเพิ่มอีก 2 ลำ โดยให้ใช้เครื่องยนต์ Rolls-Royce กับเครื่องบินดังกล่าวทั้ง 8 ลำด้วย)
กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เห็นชอบกับข้อเสนอของบริษัท การบินไทยฯ ด้วยเหตุผล ดังนี้
หนึ่ง แผนวิสาหกิจดังกล่าว เป็นการปรับปรุงแผนการตลาด แผนการบิน และผนการพัฒนาฝูงบินตามแผนการลงทุนเดิมที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
สอง บริษัท การบินไทยฯ เคยได้รับการยกย่อง ชมเชย จากนานาประเทศว่า เป็นสายการบินที่เป็นเลิศในสายการบินหนึ่งในด้านการบริการ และความปลอดภัย อันเป็นเกียรติภูมิของประเทศชาติ ดังนั้นแผนการลงทุน และแผนการบินที่บริษัท การบินไทยฯ ทำการปรับปรุง และเสนอมานี้ เป็นการรักษามาตรฐานของการให้บริการ และความปลอดภัยให้คงอยู่ต่อไป เพื่อสามารถแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล
สาม แผนการลงทุนในการจัดซื้อเครื่องบินพร้อมอะไหล่เครื่องบินตามแผนวิสาหกิจดังกล่าว มีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมีผลตอบแทนต่อการลงทุนโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 16.15
ที่น่าสนใจคือ กระทรวงคมนาคมแนบความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ระบุว่า เนื่องจากการทำแผนวิสาหกิจดังกล่าว บริษัท การบินไทยฯ ได้ดำเนินการจัดทำอย่างเป็นระบบ มีการศึกษาโดยผู้บริหารของบริษัท และมีการพิจารณาในระดับคณะกรรมการที่มีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว ทั้งในคณะกรรมการวางแผนระยะยาวของบริษัท และคณะกรรมการบริษัทด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ลงนามอนุมัติข้อเสนอของบริษัท การบินไทยฯ และนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขณะนั้น คือ นายนุกูล ประจวบเหมาะ ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.คมนาคม ในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 47 (ระหว่างวันที่ 6 มี.ค. 2534-7 เม.ย. 2535) มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดนี้ เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก และพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เมื่อปี 2534
อย่างไรก็ดีในผลการสอบสวนของ SFO ไม่ได้มีการระบุถึงรายชื่อผู้รับสินบน แต่อย่างใด
(ดูรายนามคณะรัฐมนตรีชุดที่ 47 ที่นี่ : http://www.soc.go.th/cab_47.htm)
อ่านประกอบ :
ถ้า รบ.ใช้ ม.44 ทำได้เร็วขึ้น! ป.ป.ช. ยันได้ชื่อคนเอี่ยวตั้งอนุฯสอบทันที
พบ บ.ตัวแทน‘โรลส์รอยซ์’คนไทย คู่ค้า ปตท. 755 ล.- กก.ยันไม่เกี่ยว‘สินบน’
เจอแล้ว!ปตท.จัดซื้อ ‘โรลส์รอยซ์’ 7 สัญญารวด 254.5 ล. ช่วง 3 ปี- บ.คนไทยเอี่ยว
ถก ยธ.สหรัฐฯสัปดาห์หน้า-ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานทางการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
สั่งคมนาคมเร่งสอบสินบนโรลส์-รอยซ์! ‘บิ๊กตู่’ย้อนหาว่า รบ.โกง ไหนคดีในศาล
ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"