- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- ข้อมูลใหม่!มติบอร์ดบินไทยยุค'ทนง' ซื้อเครื่องสำรองโรลส์รอยซ์-น.ท.เจรจาต่อราคา
ข้อมูลใหม่!มติบอร์ดบินไทยยุค'ทนง' ซื้อเครื่องสำรองโรลส์รอยซ์-น.ท.เจรจาต่อราคา
เปิดบันทึกการประชุมบินไทย ฉบับ 4 พบข้อมูลชัดบอร์ด ยุค 'ทนง' อนุมัติลงนามสัญญาซื้อเครื่องอะไหล่โรลส์รอยส์ 7 เครื่อง ช่วงเวลาตรงสำนวนสอบ SFO -เผยชื่อ 'นาวาโท' ช่วยเจรจาต่อรองราคา เหลือ 87.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นับจนถึงเวลานี้ สาธารชน คงได้รับทราบข้อมูลตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอไปแล้วว่า
เนื้อหาในการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ครั้งที่ 8 /2547 วันที่ 25 ส.ค.2547 ในยุคที่ นายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทการบินไทย ส่วนนายกนก อภิรดี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ที่มีการอนุมัติดำเนินการจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน โบอิ้ง B777 -200ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงิน 96,355 ล้านบาท
ปรากฎข้อมูลบางส่วนที่ตรงกับเนื้อหาในผลการสอบสวนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ช่วงการจ่ายสินบนก้อนที่ 3 วงเงิน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 254 ล้านบาท) ในระหว่าง 1 เม.ย. 2547-28ก.พ. 2548 ซึ่งโรลส์-รอยซ์จ่ายเงินให้กับคนกลาง ซึ่งมีเงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทยด้วย
โดยเฉพาะข้อมูลการอนุมัติจัดซื้อโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส A340 จำนวน 2 ลำ
(อ่านประกอบ : ตรงเป๊ะผลสอบSFO!บันทึกบินไทย(3)ซื้อ 'B777-A340' 8 ลำ ยุค'ทนง -กนก'!, 'ชาติศิริ-วิโรจน์' ไม่เข้าประชุม!เปิดชื่อบอร์ดบินไทยซื้อ'B777-A340' ช่วงสินบนก้อน3)
ขณะที่ นายทนง พิทยะ อดีตคณะกรรมการการบินไทย ให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกับสำนักข่าวอิศรา ยอมรับว่า การจัดซื้อโบอิ้ง 777 และ แอร์บัส A340 เกิดขึ้นในยุคที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการบินไทยจริง ส่วนในช่วงแรกที่มีข่าวเรื่องสินบนโรลส์รอยส์เกิดขึ้นใหม่ และตนปฏิเสธว่าไม่ได้มีการจัดซื้อเครื่องบิน เพราะจำข้อมูลไม่ได้ เนื่องจากเวลาผ่านมานานแล้ว
แต่สำหรับเรื่องการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์รอยส์ นั้น ยืนยันว่าไม่เคยมีการนำเสนอให้บอร์ดได้รับทราบว่าใช้เครื่องยนต์อะไร บอร์ดมีหน้าที่อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ในการใช้เครื่องบินและเจรจาต่อรองให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดตามที่มีการเสนอมา และยืนยันความเห็นว่า กรณีที่สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) เปิดเผยผลการสอบสวนกรณีการจ่ายเงินสินบนโรลส์รอยส์ นั้น ถือเป็นเรื่องดี ที่จะได้มีการกำจัด คนที่รับสินบนให้หมดไป และเรื่องนี้องค์กรตรวจสอบน่าจะหาข้อมูลได้ไม่ยาก เพราะตัวแทนในประทศไทย ในการขายเครื่องบิน มีอยู่ไม่กี่ราย เครื่องบินโบอิ้งมีรายเดียว โรลส์รอยส์ มีอยู่2-3 ราย แอร์บัสมีรายเดียว ซึ่งตนพร้อมจะให้ความร่วมมือในการปราบคอร์รัปชันกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถ้ามีการเชิญไปให้ปากคำก็ยินดีที่จะเปิดเผย เล่าข้อมูลทุกอย่างเท่าที่ทราบให้
(อ่านประกอบ : เชื่อมีนักการเมืองแทรกแซง!'ทนง' ลั่นพร้อมร่วมมือป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยส์)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบหลักฐานชิ้นใหม่ พบว่า คณะกรรมการการบินไทย ชุดที่มี นายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้มีมติอนุมัติให้การบินไทย ลงนามในสัญญาซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ (สำรอง) ซึ่งแยกส่วนกับเครื่องที่ติดมากับเครื่องบินของบริษัท โรลส์รอยส์ ด้วย
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ครั้งที่ 8 /2547 วันที่ 25 ส.ค.2547 ในยุคที่ นายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทการบินไทย ส่วนนายกนก อภิรดี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ที่มีการอนุมัติดำเนินการจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน โบอิ้ง B777 -200ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงิน 96,355 ล้านบาท
โดยเรื่องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เพื่อให้ความเห็นชอบให้บริษัทการบินไทยฯ ดำเนินการดังนี้
1. จัดหาเครื่องบิน A380 จำนวน 6 ลำ , เครื่องบิน A340-500 จำนวน 1 ลำ , เครื่องบิน A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท ในระหว่างปี 2547/48-2552/53 และดำเนินงานตามแผนการเงินและแผนเงินกู้ตามที่บริษัทการบินไทยฯ เสนอ
2. อนุมัติให้บริษัทการบินไทยฯ ลงนาม Memorandum of understanding (M.O.U) เพื่อสั่งซื้อเครื่องบิน A 380 จำนวน 6 ลำ , เครื่องบิน A 340 -500 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน A340-600 จำนวน 1 ลำ กับบริษัท แอร์บัส โดยมีเงื่อนไขผลบังคับใช้เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งชำระเงินมัดจำเครื่องบินเรียกคืนได้ สำหรับ A380 จำนวน 6 ลำ ๆ ละ 500,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมเป็นเงิน 3,000,000 เหรียญสหรัฐฯ และสำหรับ A340-500/600 จำนวน 2 ลำๆ ละ 300,000 เหรียญสหรัฐ รวมเป็นเงิน 600,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,600,000 เหรียญสหรัฐฯ ภายใน 3 วันทำการ หลังลงนามใน M.O.U
3. ลงนาม Letter of Intent (L.O.I) เพื่อสั่งซื้อเครื่องบิน B777-200 ER จำนวน 6 ลำ กับบริษัท โบอิ้ง โดยมีเงื่อนไขผลบังคับใช้เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทและคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งชำระเงินมัดจำเครื่องบินเรียกคืนได้ จำนวนลำละ 200,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมเป็นเงิน 1,200,000 เหรียญสหรัญฯ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2547
จากการตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่อมา เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2547 คณะกรรมการการบินไทย ได้มีการประชุมครั้งที่ 9 /2547 ซึ่งมีวาระที่ 6.2 เรื่อง Memorandum of Agreement เพื่อสั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT-500 และ TRENT -892 จากบริษัท โรลส์รอยส์
โดยมีการนำเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการบินไทย ตอบรับ Memorandum of Agreement (MOA) ของบริษัท โรลส์รอยส์ เพื่อสั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT-500 จำนวน 5 เครื่องยนต์ และ TRENT -892 จำนวน 2 เครื่องยนต์ (รวมจำนวน 7 เครื่อง) และชำระเงินมัดจำจำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่องยนต์อะไหล่ โดยเงินมัดจำนี้ สามารถชำระคืนได้ในกรณีที่แผนวิสาหกิจปี 2545/46 -2549/50 ของบริษัทฯ ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
เบื้องต้นที่ ประชุมคณะกรรมการการบินไทย มีมติอนุมัติตามเสนอ และมีมติให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD =นายกนก อภิรดี) ร่วมกับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและบัญชี (DE) ลงนามใน MOA ดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ในระหว่างการอนุมัติ ที่ประชุมยังได้ชมเชย นาวาอากาศโท รายหนึ่ง ที่สามารถเจรจาต่อรองราคาเครื่องยนต์อะไหล่ ที่การบินไทย จะสั่งซื้อจากบริษัทโรลส์รอยส์ ดังกล่าว จากราคาเดิมรวมทั้งสิ้นประมาณ 102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเหลือประมาณ 87.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้การบินไทย ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนี้เป็นจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเปรียบเทียบข้อมูลในบันทึกการประชุมคณะกรรมการการบินไทย ครั้งที่ 9 / 2547 กับ สำนวนการสอบสวนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) พบว่า มีการปรากฎข้อมูลการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ ระหว่างการบินไทย กับบริษัทโรลส์รอยส์เช่นกัน
โดยในสำนวนการสอบสวนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ระบุว่า ปลายเดือนกันยายน 2547 บอร์ดการบินไทยยืนยันการจัดซื้อล่วงหน้าเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 5 เครื่อง สำหรับใช้กับเครื่องแอร์บัส A340 และ T800 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับ โบอิ้ง B777 (สำนักข่าวอิศรา : ช่วงเวลาตรงกับการประชุมคณะกรรมการการบินไทยครั้งที่ 9/2547 วันที่ 29 ก.ย.2547)
-13 ตุลาคม 2547 มีบันทึกถึงพนักงานอาวุโสของบริษัท RR เสนอที่จะจ่ายค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่นจากการจัดซื้อเครื่องยนต์รุ่น T800 ให้กับนายหน้า 3 เป็น 4% และในส่วนของนายหน้าส่วนภูมิภาครับ 2%
- 15 ตุลาคม 2547 มีบันทึกส่งถึงพนักงานอาวุโสและผู้ดูเเลจัดการสั่งซื้อ แสดงถึงข้อกังวลจากสิ่งที่ทางนายหน้าส่วนภูมิภาคเรียกร้อง บันทึกระบุชัดเจนว่า
...ข้อเสนอส่วนแบ่งจำนวน 6% จากยอดสั่งซื้อทั้งหมดของเครื่องยนต์รุ่น T800 ที่จะแบ่งให้กับตัวกลางสองคน รวมไปถึงค่าคอมมิสชั่นเพิ่มเติมในการซื้อสัญญาTCA อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิสชั่นที่เพิ่มเข้ามานั้น ทางพนักงานอาวุโสคนหนึ่งได้ทาบทามพนักงานอาวุโสอีกคนให้ติดต่อ สื่อสารเรื่องดังกล่าวไปนายหน้าภูมิภาค
- มีจดหมายแนบลงวันที่ 22 ตุลาคม 2547 ตกลงการจ่ายสินบนให้แก่นายหน้า3 เป็นจำนวน 2% จากการค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่นของการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งค่าคอมมิสชั่นครั้งนี้ถูกแบ่งเป็นสองงวด (payable in two parts)
- อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีข้อตกลงการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองทั้งหมด 7 เครื่อง แต่ไม่ได้มีการจัดซื้อดังกล่าวในทันทีในล็อตเดียว โดยที่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น มีการซื้อขายเครื่องยนต์ในรุ่น T500 จำนวนสองเครื่อง หลังจากนั้นจึงมีการสั่งซื้อเครื่องยนต์สำรองเพิ่มอีกห้าเครื่องจากฝั่งไทย ซึ่งเป็นการตัดสินใจในช่วงหนึ่งเดือนก่อนที่จะมีข้อตกลงจ่ายค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น ซึ่งค่าคอมมิสชั่นดังกล่าวถูกระบุว่า เป็นเงินซื้อขายเครื่องยนต์สำรองทั้ง 7 (seven spare engines)
- ค่าคอมมิสชั่นของนายหน้า3 จากการสั่งซื้อเครื่องยนต์รุ่น T800 แบ่งจ่ายเป็นทั้งหมด 3 ช่วง ใช้เวลา 7- 10 เดือน โดยที่สองครั้งแรกเกิดขึ้นทันทีภายใน 1-2 เดือน หลังจากรัฐบาลไทยอมุมัติการสั่งซื้อ และงวดสุดท้ายถูกจ่ายถัดจากนั้นอีก 6 เดือน
- มีการประชุมในวันที่ 11 พฤจิกายน 2547 โดยที่ทางนายหน้าส่วนภูมิภาคแสดงความผิดหวังในการจ่ายเงินค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น โดยเขาระบุว่า เขาต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อให้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวด้วยตัวเขาเอง
- ทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาคและนายหน้า 3 เรียกร้องให้มีการจ่ายค่าคอมมิสชั่นล่วงหน้า (up front) ตามการสั่งซื้อเครื่องยนต์ T800 และ T500 (spare engines) ซึ่งการยื่นคำร้องครั้งนี้จำเป็นต้องรอให้ทางพนักงานอาวุโสของบริษัท RR เป็นคนอนุมัติ
- มีจดหมายส่งต่อมายังนายหน้า 3 โดยตกลงจ่ายค่าคอมมิสชั่นใน 3ส่วน ภายใน 7 มกราคม 2548 โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และอีกส่วนนั้นยังคงรอให้มีการส่งมอบเครื่องบินให้เสร็จสิ้นก่อน จดหมายทำนองเดียวกันอีกฉบับหนึ่งระบุด้วยว่า ส่วนแบ่ง 2% ของการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จะให้มีการจ่ายในวันเดียวกัน
- จดหมายภายในบริษัทRR ฉบับลงวันที่ 19 พฤจิกายน 2547 บันทึกการประชุมซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง นายหน้า 3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค และคนในรัฐบาลไทย (the Thai Government) ซึ่งระบุบรรยากาศการประชุมครั้งนั้นว่า
“ช่างเป็นการประชุมที่ดีเหลือเกิน การจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A340 และ โบอิ้ง 777 กำลังอยู่ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤจิกายนนี้ (2547)”
- อีเมล์ฉบับเดียวกันยังพูดถึงเรื่องข้อตกลงค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น โดยที่นายหน้า3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค ได้ปฏิเสธข้อเสนอของบริษัท RR โดยทั้งสองยื่นข้อเสนอใหม่ว่า
“ต้องการส่วนแบ่งเป็น 4% จากการอนุมัติของรัฐบาลในครั้งนี้ ลงวันที่ ธันวาคม 2547” ("4% on Government approval, i.e. Dec 04".)
- มีการบันทึกว่า นายหน้าส่วนภูมิภาค ได้ข่มขู่ว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับเวลาในการชำระเงินไปบอกแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสของ RR ซึ่งต่อมาในวันเดียวกัน อีเมล์ภายในของ RR ได้มีการบันทึกไว้ว่า
“พวกเราคิดว่าจำนวนเงินทั้งหมด 4% (ของบริษัท A ที่เป็น คนกลาง 3) ได้โอนไปยัง... หรือเปล่า? ฉันคาดว่าไม่น่าจะโอนไปทั้งหมด”
- วันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ได้มีจดหมายอีกฉบับถูกส่งไปให้กับ นายหน้า 3 เพื่อเสนอที่จะจ่ายเงินทั้งหมด ยกเว้น 12.5% จากค่าคอมมิสชั่นที่จ่ายในวันที่ 7 มกราคม 2548 ทั้งนี้ เชื่อว่า (assume) รัฐบาลไทยอนุมัติแล้ว
-วันถัดมา (23 พฤศจิกายน 2547 ) เมื่อ คณะรัฐมนตรีของไทย (the Cabinet of the Government of Thailand) มีกำหนดที่ประชุม ได้มีจดหมายฉบับสุดท้ายส่งถึงนายหน้า 3 ซึ่งระบุว่าจะจ่ายค่าคอมมิสชั่น T 800 เต็มจำนวนในวันที่ 7 มกราคม 2548 ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลไทยได้ทำการอนุมัติแล้วเช่นกัน
-วันที่ 4 ธันวาคม 2547 อีเมล์ภายในของ RR ฉบับหนึ่งระบุว่า คำสั่งซื้อ/ออเดอร์ของการบินไทย ได้รับการอนุมัติแล้ว
"มีสายตรงระหว่าง (รัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลไทยกับพนักงานการบินไทย) เป็นไปด้วยดี ทางสายการบินยังไม่ได้รับทราบข่าวดีใดๆ และยังไม่มีท่าทีแน่ชัดถึงการเซ็นสัญญา POs (นายหน้า 3รวมทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาค ) ได้รับคำมั่นสัญญา จากรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทย ซึ่งพวกเขาได้พบก่อนหน้านี้ ว่าจะเรื่องราวดังกล่าวจะถูกไล่เรียงความชัดเจนภายในวันรุ่งขึ้น"
"Calls between [certain Thai Government ministers and a Thai Airways employee] yada, allpositive. Airline still not heard the good word yet and not clear if POs signed. [Intermediary 3 and the Regional Intermediary] have commitment from [the Thai Government deputy minister whom they had met] that it will be sorted by tomorrow."
- อย่างไรก็ตาม นายหน้า 3 ได้เรียกร้องให้ชำระค่าคอมมิสชั่น T800 จำนวนครึ่งหนึ่งภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2547 ซึ่งอีเมล์ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2547 ลงท้ายว่า
“- นายหน้าส่วนภูมิภาค กับ คนกลาง 3 ได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำด้วยกันในวันที่ 18 ธันวาคม กับรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทยคนหนึ่งที่เคยพบกันมาก่อน และถ้าเป็นอย่างนั้น นายหน้าส่วนภูมิภาคอาจตัดสินใจกะทันหันเพื่อสนับสนุนคำขอของนายหน้า 3 ก็ได้”[ ] “พวกเราควรทำตามข้อเสนอ คิดเห็นว่ายังไง?”
"WARNING:-[the Regional Intermediary and Intermediary 3] have dinner with [the Thai Government deputy minister whom they had met] on 18th Dec and hence [the Regional Intermediary] may suddenly decide to support [Intermediary 3]'s request." […] "we should be firm in my view. Comments?"
ขณะที่ช่วงเวลาการนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมครม.นี้ ก็ตรงกับข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นมติการประชุม ครม.ย้อนหลัง และพบว่า ในการประชุมครม. วันที่ 23 พ.ย.2547 มีวาระการพิจารณาโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2548/49 -2552/53 (ตรงกับแผนฯ ที่ปรากฎในบันทึกการประชุมคณะกรรมการการบินไทย ครั้งที่ 9 /2547) ของบริษัทการบินไทย ของกระทรวงคมนาคม ลงนามโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ลงนามในเอกสารเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม. มีสาระสำคัญอยู่ที่การขออนุมัติดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 -2552/53 จำนวน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่มาก แบบ A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ แบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท โดยจะลงทุนในปี 2547/2548 จำนวน 7,818 ล้านบาท ตามที่นำข้อมูลมาเสนอไปก่อนหน้านี้
(อ่านประกอบ : หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ, เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง)
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับ นาวาอากาศโท ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้เจรจาต่อรองราคาซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ กับบริษัทโรลส์รอยส์ รายนี้ และรายชื่อบอร์ดที่เข้าร่วมประชุมลงมติครั้งนี้ จะเป็นใครนั้น
สำนักข่าวอิศรา จะนำข้อมูลมาเสนอในตอนต่อๆไป
อ่านประกอบ :
เจอแล้ว!ปตท.จัดซื้อ ‘โรลส์รอยซ์’ 7 สัญญารวด 254.5 ล. ช่วง 3 ปี- บ.คนไทยเอี่ยว
ถก ยธ.สหรัฐฯสัปดาห์หน้า-ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานทางการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
สั่งคมนาคมเร่งสอบสินบนโรลส์-รอยซ์! ‘บิ๊กตู่’ย้อนหาว่า รบ.โกง ไหนคดีในศาล
ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"
แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ)
หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ
เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง
ได้ชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตั้งอนุฯสอบทันที! ป.ป.ช.ขีดเส้น ‘บินไทย-ปตท.’ต้องส่งข้อมูลสัปดาห์นี้
จำกัดประเภทเครื่องยนต์!เปิดมติ ครม. ยุค รสช.ไฟเขียวซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม
เทียบชัดๆ บันทึกการบินไทย-ผลสอบSFO จุดเริ่มต้นสินบนโรลส์รอยส์ก้อนแรก?
บันทึกลับบินไทยชิ้น2 อนุมัติเปลี่ยนรุ่นโรลส์รอยส์ T-875 ช่วงรอยต่อสินบนก้อน1-2
บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
ตรงเป๊ะผลสอบSFO!บันทึกบินไทย(3)ซื้อ 'B777-A340' 8 ลำ ยุค'ทนง -กนก'!
ชาติศิริ-วิโรจน์' ไม่เข้าประชุม!เปิดชื่อบอร์ดบินไทยซื้อ'B777-A340' ช่วงสินบนก้อน3