ย้อนตำนานพรรคเสียงข้างน้อยตั้ง รบ. แต่ไม่รอด-โมเดลปูทาง‘บิ๊กตู่’นั่งนายกฯอาจซ้ำรอย?
“…2 กรณีดังกล่าวเป็นกรณี ‘คลาสสิค’ การเมืองไทย จุดตายสำคัญของ 2 กรณีนี้มาจากรัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้น ไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ หรือเสียงข้างมากในสภานั่นเอง ทำให้การต่อรองผลประโยชน์ต่าง ๆ การผ่านร่างกฎหมาย และบริหารราชการแผ่นดินทำได้ค่อนข้างลำบาก และท้ายที่สุดจำเป็นต้องยุบสภา หรือเป็นข้ออ้างให้เกิดรัฐประหาร…”
การเลือกตั้งที่ (น่า) จะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 24 ก.พ. 2562 ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าเป็นการสู้ศึกกันระหว่าง 2 ฝ่ายคือ ฝ่าย ‘เอาประยุทธ์’ นำโดย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังชล พร้อมด้วยแนวร่วมอื่น ๆ และฝ่าย ‘ไม่เอาประยุทธ์’ นำโดย ‘พรรค 3 เพื่อ’ เพื่อไทย-เพื่อธรรม-เพื่อชาติ พ่วงด้วยแนวร่วมอย่างพรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาชาติที่มีอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย-คนรู้ใจซีกสีแดงพาเหรดมาตั้งพรรคหวังฐานเสียงในจังหวัดชายแดนใต้
ส่วนตัวแปรการจัดตั้งรัฐบาลหนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังไม่ลงตัวว่าจะ ‘เลือกข้าง’ ไหน?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามสูตรการเมืองข้างต้นหรือไม่ คงต้องรอติดตามกันในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
แต่กูรูการเมืองหลายคนประเมินกันแล้วว่า ฐานเสียงจากฝ่าย ‘ไม่เอาประยุทธ์’ ค่อนข้างเหนือกว่า เนื่องจากใช้ยุทธการ ‘แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย’ โมเดล ‘พรรค 3 เพื่อ’ ปรับทัพลง ส.ส.เขต เพื่อเพิ่มโควตาให้กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามการคำนวณแบบใหม่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 นอกจากนี้ยังมีพรรค ‘ในข่าย’ อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นอาจทำให้ฝ่ายนี้ ได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล
ไม่ใช่ฝ่าย ‘เอาประยุทธ์’ ไม่รู้ แต่มีการประเมินไว้แล้วเหมือนกัน ดังนั้นจึงพยายามทุกวิถีทางในการต่อสาย ‘ดีล’ กับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อมาร่วมจัดตั้ง ว่ากันตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคประชาธิปัตย์ หนีข้อครหา ‘อิงแอบทหาร’ ไม่พ้น แต่คราวนี้แกนนำ ‘พรรคสีฟ้า’ ประเมินแล้วว่าคงได้จำนวน ส.ส. ‘ต่ำร้อย’ อีกครั้ง หากอยากจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องเข้าร่วมกับฝ่ายนี้ แต่เชื่อกันว่า คงมีคะแนนเสียงน้อยกว่าฝ่าย ‘ไม่เอาประยุทธ์’ เล็กน้อย
หากออกมาตามรูปเกมนี้ ตัวแปรสำคัญถัดมาหนีไม่พ้น ส.ว. 250 รายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ ‘เคาะ’ มากับมือ โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดช่องให้ ส.ว. สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ‘2 ขยัก’ ขยักแรกคือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ ขยักต่อมาหากยังไม่ลงตัวอีก สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีพรรคการเมือง และร่วมโหวตเลือกได้ด้วย
ดังนั้นหากท้ายที่สุดถึง ‘ทางตัน’ จำเป็นต้องให้ ส.ว. มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าตามขยักไหนก็ตาม จนผลักดัน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย อาจทำให้เกิด ‘วิกฤติ’ ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ ?
เนื่องจากต่อให้เข็น ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ แต่ภายในสภาจะทำให้ฝ่าย ‘บิ๊กตู่’ กลายเป็น ‘เสียงข้างน้อย’ คุยอะไรแทบไม่ได้เลย เวลาโหวตผ่านกฎหมายสำคัญ ๆ อาจไม่ผ่าน โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ถ้าไม่ผ่าน จะทำให้วิกฤติในสภาลุกลามมานอกสภาได้ด้วย
แม้มีการประเมินกันว่า หากเกิดวิกฤติดังกล่าวขึ้น อาจทำให้มี ‘บางฝ่าย’ ที่ถนัด ‘การเมืองบนถนน’ ออกมา ‘นำม็อบ’ เปิดช่องให้เกิดการรัฐประหารอีกก็ตาม แต่ในเมื่อยังไม่ถึงขั้นนั้น ขอให้เป็นเพียง ‘ข้อสังเกต’ ไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย ?
อย่างไรก็ดีบริบทการเมืองไทยขณะนี้ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับกรณี ‘คลาสสิค’ ในการเลือกตั้ง ช่วงทศวรรษปี 2512-2518 เป็นอย่างมาก
โดยการเมืองในทศวรรษดังกล่าว อยู่ในม่านหมอกควันของฝ่ายทหารภายหลังการรัฐประหารมาหลายครั้ง เมื่อปี 2512 มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ภายหลังอยู่ใต้อำนาจของ ‘2 จอมพล’ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร มาอย่างเนิ่นนาน รัฐธรรมนูญปี 2512 แล้วเสร็จหลังใช้เวลาร่างนานนับ 10 ปี มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2512 นำโดย 2 พรรคใหญ่ขณะนั้น ได้แก่ พรรคสหประชาไทย ที่มีจอมพลถนอม เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค
ระบบการเลือกตั้งขณะนั้น แบ่งเขต ส.ส. ออกเป็น 219 ที่นั่ง พรรคสหประชาไทย ได้ 74 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 55 ที่นั่ง และพรรคอื่นรวมถึงผู้สมัครอิสระได้ทั้งหมด 90 ที่นั่ง เท่ากับว่าพรรคสหประชาไทย แม้ไม่ได้เสียงข้างมากในสภา แต่ดีลกวาดรวมกลุ่มก้อน ส.ส. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ดีหลังบริหารราชการแผ่นดินมาได้ประมาณ 2 ปีเศษ ในห้วงเวลาดังกล่าวเกิดการต่อรองผลประโยชน์มากมายของบรรดา ส.ส. ที่เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล จนทำให้เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2514 จอมพลถนอม รัฐประหารรัฐบาลตัวเอง และยกเลิกรัฐธรรมนูญ จนบานปลายถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ปิดฉากจอมพลถนอมในทางการเมืองนั่นเอง
อีกกรณีหนึ่งถัดมาไม่นานนัก ในปี 2518 มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้เมื่อปี 2517 คราวนี้มีพรรคการเมืองถูกจัดตั้งอย่างหลากหลายในยุคที่ถูกเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ มากที่สุดยุคหนึ่ง แต่มีตัวละครทางการเมือง 2 รายที่เฉิดฉาย เป็นการต่อสู้ระหว่าง ‘หม่อมพี่-หม่อมน้อง’ ได้แก่ พรรคกิจสังคม ที่นำโดย ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย ‘หม่อมพี่’ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
การเลือกตั้งครั้งนั้น กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าในกระดานการเมืองไทย แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 72 ราย แต่ได้ร่วมกับพรรคเกษตรสังคม และแนวร่วมสังคมนิยม และกลุ่มก้อนอื่น ๆ รวมได้เสียงสนับสนุน 103 ราย เป็นเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่เสียงก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภา (135 ราย) อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.เสนีย์ ยังเชื่อมั่น และเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง
จุดตายของพรรคประชาธิปัตย์คือ รัฐธรรมนูญปี 2517 ระบุว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงวันแถลงนโยบาย รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 ราย ไม่เห็นชอบ 152 ราย ทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจให้จัดตั้งรัฐบาล ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ และคณะรัฐมนตรีต้องลาออก สละสิทธิ์การตั้งรัฐบาล
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สบช่องรวบรวมคะแนนเสียงจากบรรดาพรรคการเมืองขนาดกลางอีก 8 พรรค รวม 135 เสียง จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาสำเร็จ จากเดิมที่พรรคกิจสังคมมีเพียง 18 เสียงเท่านั้น กลายเป็นนายกรัฐมนตรีในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเสียงข้างน้อยแต่จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ
อย่างไรก็ดีการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประสบปัญหาอย่างมาก เพราะเสียงที่แท้จริงที่โหวตตามรัฐบาลมีเพียงของพรรคกิจสังคมแค่ 18 เสียงเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องต่อรองผลประโยชน์กับอีก 8 พรรค ทำให้ท้ายที่สุดบริหารแผ่นดินได้ประมาณปีเศษจึงจำเป็นต้องยุบสภาเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่
2 กรณีดังกล่าวเป็นกรณี ‘คลาสสิค’ การเมืองไทย จุดตายสำคัญของ 2 กรณีนี้มาจากรัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้น ไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ หรือเสียงข้างมากในสภานั่นเอง ทำให้การต่อรองผลประโยชน์ต่าง ๆ การผ่านร่างกฎหมาย และบริหารราชการแผ่นดินทำได้ค่อนข้างลำบาก และท้ายที่สุดจำเป็นต้องยุบสภา หรือเป็นข้ออ้างให้เกิดรัฐประหาร
ดังนั้นต้องรอดูกันว่าหากฝ่าย ‘เอาประยุทธ์’ ใช้โมเดลให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็น ‘บิ๊กตู่’ มาใช้ จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์เดิมอีกหรือไม่ ?
อ่านประกอบ :
เช็คท่าที‘พรรคปลาไหล’ วิกฤติ‘ชาติไทย’ ในวันไร้‘บรรหาร’-‘ภูมิใจไทย’ มาแรง?
พลิกปูมความขัดแย้ง นปช.-เพื่อไทย ‘ตู่’หัก‘เต้น’ เซ่นยุทธศาสตร์ ‘พรรค 3 เพื่อ’?
เช็คยอดเงินบริจาคพรรคการเมือง 4 ปี ปชป. 28 ล.-พท. 3.6 ล. ห่างกันหลายเท่าตัว?
‘ประยุทธ์-สมชาย-ชวน’ 3 แคนดิเดตนายกฯไทยในการเลือกตั้งใต้ปีก คสช.
จับสัญญาณ‘กลุ่มสามมิตร’ไม่ลงรอย ‘พลังประชารัฐ’ แตกหักจริงหรือกลการเมือง?
โมเดล‘เพื่อไทย-เพื่อธรรม’วางหมากสู้ คสช. ยุทธศาสตร์‘ชินวัตร’แยกกันเดิน-ร่วมกันตี?
พรรคเพื่อธรรมมาแล้ว! ‘สมพงษ์’นั่งหัวหน้า-‘นลินี’รอง หน.
กางแผนสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ-ความเป็นไปได้ พท.กอดคอ ปชป. ตั้ง รบ.แห่งชาติ?
เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.