รมว.เเรงงาน รับฟังข้อค้าน ร่างกฎหมาย จป.วิชาชีพ – สั่ง อธิบดี กสร. พิจารณาภายใน 2 สัปดาห์
รมว.เเรงงาน เชิญมหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเพิ่ม หลังเรียกร้องตัดข้อ 13 (4) ร่างกฎหมาย จป.วิชาชีพ สั่งการ อธิบดี กสร. นำไปพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ ด้านผู้เเทนสถาบันศึกษายันบัณฑิตจบมาเพียงพอ เเนะทางเลือกสถานประกอบการส่งลูกจ้างเรียนทางไกลหลักสูตรอาชีวอนามัยฯ กับ มสธ.
วันที่ 18 ต.ค. 2561 ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชิญผู้แทนของมหาวิทยาลัยเข้าพบ เพื่อพูดคุย หารือ และรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ... ประเด็น คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ภายหลังมหาวิทยาลัย เรียกร้องให้ตัดข้อ 13 (4) ที่เปิดโอกาสให้ผู้จบสาขาใดก็ได้ สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ โดยไม่ต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ภายหลังการเข้าพบ รมว.แรงงาน ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ค่อนข้างเปิดรับฟังข้อมูลและเข้าใจประเด็นที่มหาวิทยาลัยเรียกร้องร่วมกัน โดยได้สั่งการให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) นำข้อเสนอที่ได้รับไปพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หลังจากประชุมเสร็จ ผู้แทนของมหาวิทยาลัยได้พูดคุยหารือกันต่อร่วมกับที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ในประเด็นหลักถึงเหตุผลต้องรวมตัวคัดค้านให้มีข้อ 13 (4) ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว
“เราไม่ได้กังวลบัณฑิตที่จบมาจะตกงาน แต่สิ่งที่กังวลคือ การเปิดช่องมีข้อ 13 (4) ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ดังนั้น เราจะไม่ให้เกิดความเสี่ยงนี้ขึ้น”
คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า ในอดีตเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุกสาขาเป็น จป.วิชาชีพได้ เพราะมหาวิทยาลัยผลิตไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันยืนยันว่า เพียงพอ โดยข้อมูลจาก กสร. เมื่อ 8 ต.ค. 2561 แสดงจำนวนสถานประกอบการทุกประเภทกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมี จป.วิชาชีพตามกฎหมาย ทั้งสิ้น 15,357 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ได้มีบัณฑิตจบหลักสูตรเฉพาะทางจากมหาวิทยาลัย 26 แห่ง 20,577 คน (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 2561) จะเห็นว่า เกิดเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว
“ในอนาคตยังมีแผนปี พ.ศ. 2561-64 ระยะ 5 ปี ในการเตรียมผลิตบัณฑิต จากเดิมที่มีมหาวิทยาลัย 26 แห่ง เป็น 28 แห่ง คาดว่าจะสามารถผลิตบัณฑิตได้ 10,834 คน ส่วนสถานประกอบการขนาดเล็กขาด จป.วิชาชีพ มีจำนวนเท่าไหร่นั้น ยังไม่ได้รับข้อมูล” รศ.ดร.สสิธร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สภาคณบดีคณะสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดทำการหลักสูตรระดับปริญญาตรี วิชาเอกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีข้อเสนอในที่ประชุมในครั้งนี้ด้วยว่ากระทรวงแรงงานต้องรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานการให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ด้วยการคงไว้ซึ่งผู้ที่จะเป็น จป.วิชาชีพ ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ส่วน กสร.ต้องศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงที่สถานประกอบการไม่สามารถว่าจ้างผู้ที่จะเป็น จป.วิชาชีพได้ และสภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ยินดีที่จะร่วมมือกับ กสร. ในการทำโครงการความร่วมมือการผลิตบัณฑิตทางด้านนี้ให้กับสถานประกอบการที่มีปัญหาไม่สามารถหาผู้ที่จะมาเป็นจป.วิชาชีพ และเห็นว่า สถานประกอบการยังมีทางเลือกที่สามารถส่งลูกจ้างเข้าศึกษาต่อวิชาเอกด้านนี้ผ่านระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ .
อ่านประกอบ:‘รมว.เเรงงาน’ เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัย หารือร่างกฎกระทรวง จป.วิชาชีพ 18 ต.ค.
กาง กม. ไฉนสถาบันอุดมศึกษา ผนึกค้าน ร่างกฎกระทรวง ‘จป.วิชาชีพ’ จุดไหนเป็นปัญหา
นศ.อาชีวอนามัย ม.วลัยลักษณ์ แสดงพลังชูจุดยืนค้านร่าง กม.จป.วิชาชีพ ปลดล็อคทุกสาขาทำได้
แค่ชั่วคราว 5 ปี! กสร. เล็งเเก้ กม. ปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน
คุยกับรอง ปธ.สภาคณบดีสาธารณสุขฯ ค้านแก้ กม. ‘จป.วิชาชีพ’ เปิดทางจบอะไรมาก็ทำได้
ปธ.สภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ หนุน กสร. ปลดล็อคไม่ต้องจบอาชีวอนามัยฯ เป็น จป.วิชาชีพ
มหาวิทยาลัยจุดยืนไม่เอากม.ใหม่ ปลดล็อคปริญญาตรีทุกสาขาเป็น จป.วิชาชีพ
ที่มาภาพ:เว็บไซต์คมชัดลึก