มหาวิทยาลัยจุดยืนไม่เอากม.ใหม่ ปลดล็อคปริญญาตรีทุกสาขาเป็น จป.วิชาชีพ
กรมสวัสดิการฯ จัดรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวง จป.วิชาชีพ มหาวิทยาลัยแสดงจุดยืน ไม่เอาข้อ 13 (4) ปลดล็อคปริญญาตรีทุกสาขาเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยฯ หวั่นสร้างผลกระทบด้านความปลอดภัยในโรงงาน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 28 ก.ย. 2561 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ... ประเด็นคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ซึ่งได้เชิญผู้แทนจากมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ชมรม และสมาคม ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยทุกแห่งแสดงจุดยืนคัดค้านข้อ 13 (4) ที่เปิดโอกาสให้ผู้จบสาขาใดก็ได้สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ โดยไม่ต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.ไชยนันต์ แท่งทอง ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ภาควิชาอาชีวอนามัยฯ ม.มหิดล มีจุดยืนไม่เห็นด้วยที่จะให้ จป.วิชาชีพ มาจากผู้จบการศึกษาปริญญาตรีทุกสาขา มีประสบการณ์ทำงานในสถานประกอบการ 5 ปี และผ่านการอบรม เนื่องจากการเป็น จป.วิชาชีพนั้น ต้องใช้ประสบการณ์จากการเรียนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ หรือความปลอดภัย ซึ่งการเรียนในมหาวิทยาลัยจะมีความสมบูรณ์มากกว่ามาจากสาขาอื่น ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ทำในอาชีพนี้ได้โดยไม่จบตรงกับสายงานอาจทำให้โรงงานประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยได้มากขึ้น
รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวคัดค้านข้อ 13 (4) ด้วยเหตุผลว่า มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า การที่ภาครัฐจะตรากฎหมายฉบับใด ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ขณะที่กระทรวงแรงงานทำงานด้านความปลอดภัย เชื่อว่า จะรับฟังความคิดเห็นจากไตรภาคีด้วยน้ำหนักเท่าเทียมกัน ไม่เอนไปทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น เชื่อว่ากระทรวงแรงงานจะมีเจตนารมณ์หรืปรัชญาในการคุ้มครองการทำงานของลูกจ้างเป็นหลัก
“ในกฎหมายระบุว่า การตราหรือปรับเปลี่ยนกฎหมายต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านจากการรับฟังความคิดเห็นทั้งสามฝ่ายและต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อไม่ให้กระทบใด ๆ วันนี้มีประโยคสวยหรู ค่อนข้างเห็นภาพเหมือนกันว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เพราะหากปล่อยให้กฎหมายคลอดออกมาจะกระทบวงการทั้งประเทศ ไม่ใช่กระทบเพียงจุดใดจุดหนึ่ง” คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าว
ขณะที่ผศ.ทนงศักดิ์ ยิ่งรัตนสุข ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย ม.บูรพา กล่าวถึงการเปิดโอกาสให้ผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา เป็นจป.วิชาชีพ โดยผ่านการอบรม 222 ชั่วโมง เห็นว่าไม่น่าเพียงพอ เนื่องจากหากศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย เฉพาะการฝึกงานใช้เวลานาน 4 เดือน อย่างไรก็ตาม การอบรมอย่างเดียว พบว่า การคงอยู่ของความรู้จะเหลืออยู่ 5% แต่หากมีการฝึกปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในหลักสูตรระดับปริญญาตรีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงาน แล็ป การคงอยู่ของความรู้จะอยู่ที่ 75% ดังนั้น การออกกฎกระทรวงลักษณะนี้สังคมจะเกิดความปั่นป่วนเนื่องจากมาตรฐานการประกอบวิชาชีพแตกต่างกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนเริ่มการประชุมได้มีการเดินขบวนและปราศรัยหน้าอาคารกองความปลอดภัยแรงงาน กสร. เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อ 13 (4) ด้วย .
อ่านประกอบ:กาง กม. ไฉนสถาบันอุดมศึกษา ผนึกค้าน ร่างกฎกระทรวง ‘จป.วิชาชีพ’ จุดไหนเป็นปัญหา
นศ.อาชีวอนามัย ม.วลัยลักษณ์ แสดงพลังชูจุดยืนค้านร่าง กม.จป.วิชาชีพ ปลดล็อคทุกสาขาทำได้
แค่ชั่วคราว 5 ปี! กสร. เล็งเเก้ กม. ปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน
คุยกับรอง ปธ.สภาคณบดีสาธารณสุขฯ ค้านแก้ กม. ‘จป.วิชาชีพ’ เปิดทางจบอะไรมาก็ทำได้
ปธ.สภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ หนุน กสร. ปลดล็อคไม่ต้องจบอาชีวอนามัยฯ เป็น จป.วิชาชีพ