- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- กาง กม. ไฉนสถาบันอุดมศึกษา ผนึกค้าน ร่างกฎกระทรวง ‘จป.วิชาชีพ’ จุดไหนเป็นปัญหา
กาง กม. ไฉนสถาบันอุดมศึกษา ผนึกค้าน ร่างกฎกระทรวง ‘จป.วิชาชีพ’ จุดไหนเป็นปัญหา
กาง กม. ไฉนสถาบันอุดมศึกษา ผนึกกำลังค้าน ร่างกฎกระทรวง ‘จป.วิชาชีพ’ จุดไหนเป็นปัญหา ฝ่ายกรมสวัสดิการฯ เชิญ 37 มหาวิทยาลัย 10 ชมรมจนท.ความปลอดภัย 1 สมาคมฯ ร่วมหารือ 28 ก.ย. ที่ กสร. ตลิ่งชัน
วันที่ 28 ก.ย. ที่จะถึงนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มีหนังสือเชิญไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 37 แห่ง ที่เปิดสอนในหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย 10 แห่ง และสมาคมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย 1 แห่ง เข้าร่วมประชุมหารือร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ พ.ศ. ... ตามที่ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยมีหนังสือขอให้ทบทวน เกี่ยวกับประเด็นคุณสมบัติการเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) เปิดโอกาสให้ทุกสาขาเป็นได้ โดยไม่ต้องจบหลักสูตรเฉพาะทาง ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 กองความปลอดภัยแรงงาน กสร. ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
โดยร่างกฎกระทรวงถูกคัดค้านในเรื่องความเหมาะสมของคุณสมบัติผู้จะมาเป็น จป.วิชาชีพ ข้อ 13 ซึ่งบัญญัติว่า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพต้องมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1)สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยหรือเทียบเท่า
(2) “สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพและผ่านการประเมิน”
(3) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549
(4) “สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามข้อ 2 (1) (2) หรือ (3) ไม่น้อยกว่า 5 ปี”
(5)เป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างลงวันที่ 31 มี.ค. 2540 และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 5 ปี
(6)เป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 6 พ.ค. 2528 หรือเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน ลงวันที่ 12 ก.ย. 2528
กรณีตาม (4) (5) และ (6)ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพและผ่านการประเมิน ทั้งนี้ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
การประเมินตาม (2) (4) (5) และ (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ประเด็นปัญหาอยู่ที่ ข้อ 13 (4) (สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามข้อ 2 (1) (2) หรือ (3) ไม่น้อยกว่า 5 ปี) ซึ่งมหาวิทยาลัยตีความว่า เปิดช่องให้ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ ขอเพียงมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ อาจทำให้อาจสร้างปัญหามากขึ้นกว่าเดิม
แตกต่างจากข้อ 13 (2) ถึงแม้จะไม่ได้ระบุเช่นกันว่า ต้องจบปริญญาตรีสาขาเฉพาะทางเช่นเดียวกับข้อ 13 (4) แต่ร่างกฎหมายระบุต่อว่า ต้องได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง (จป.เทคนิคขั้นสูง) ไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรและผ่านการประเมินด้วย
ด้วยเหตุนี้ ปัญหาอยู่เฉพาะข้อ 13 (4) จึงเสนอให้ตัดออกไป .
อ่านประกอบ:นศ.อาชีวอนามัย ม.วลัยลักษณ์ แสดงพลังชูจุดยืนค้านร่าง กม.จป.วิชาชีพ ปลดล็อคทุกสาขาทำได้
แค่ชั่วคราว 5 ปี! กสร. เล็งเเก้ กม. ปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน
คุยกับรอง ปธ.สภาคณบดีสาธารณสุขฯ ค้านแก้ กม. ‘จป.วิชาชีพ’ เปิดทางจบอะไรมาก็ทำได้
ปธ.สภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ หนุน กสร. ปลดล็อคไม่ต้องจบอาชีวอนามัยฯ เป็น จป.วิชาชีพ