‘รมว.เเรงงาน’ เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัย หารือร่างกฎกระทรวง จป.วิชาชีพ 18 ต.ค.
‘พล.ต.อ.อดุลย์’ เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัย หารือร่างกฎกระทรวง จป.วิชาชีพ 18 ต.ค. 61 ที่ก.แรงงาน หลังถูกค้าน ข้อ 13 (4) เปิดโอกาสให้ผู้จบทุกสาขาเป็น จนท.ความปลอดภัยในสถานประกอบการ
ภายหลังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน จัดรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง ต่อร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ... ประเด็นคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ซึ่งข้อ 13 (4) ในร่างกฎกระทรวงเปิดโอกาสให้ผู้จบสาขาใดก็ได้สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ โดยไม่ต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทำให้ทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในหลักสูตรดังกล่าวคัดค้าน พร้อมเรียกร้องให้ตัดเนื้อหาออกไป
(อ่านประกอบ: มหาวิทยาลัยจุดยืนไม่เอากม.ใหม่ ปลดล็อคปริญญาตรีทุกสาขาเป็น จป.วิชาชีพ)
นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในวันที่ 18 ต.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เชิญผู้แทนของมหาวิทยาลัยเข้าพบ เวลา 07.00 น. ณ ห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน เข้าสอบถาม พูดคุย และขอความคิดเห็น เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยฯ หลังจากมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัยคัดค้าน ข้อ 13 (4) เพื่อจะได้ส่งข้อมูลกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป แต่น่าจะยังไม่ตัดสินใจทันทีว่า จะทบทวนใหม่หรือไม่
สำหรับร่างกฎกระทรวงถูกคัดค้านในเรื่องความเหมาะสมของคุณสมบัติผู้จะมาเป็น จป.วิชาชีพ ข้อ 13 บัญญัติว่า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพต้องมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1)สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยหรือเทียบเท่า
(2) “สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพและผ่านการประเมิน”
(3) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549
(4) “สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามข้อ 2 (1) (2) หรือ (3) ไม่น้อยกว่า 5 ปี”
(5)เป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างลงวันที่ 31 มี.ค. 2540 และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 5 ปี
(6)เป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 6 พ.ค. 2528 หรือเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน ลงวันที่ 12 ก.ย. 2528
กรณีตาม (4) (5) และ (6)ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพและผ่านการประเมิน ทั้งนี้ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
การประเมินตาม (2) (4) (5) และ (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
อ่านประกอบ:กาง กม. ไฉนสถาบันอุดมศึกษา ผนึกค้าน ร่างกฎกระทรวง ‘จป.วิชาชีพ’ จุดไหนเป็นปัญหา
นศ.อาชีวอนามัย ม.วลัยลักษณ์ แสดงพลังชูจุดยืนค้านร่าง กม.จป.วิชาชีพ ปลดล็อคทุกสาขาทำได้
แค่ชั่วคราว 5 ปี! กสร. เล็งเเก้ กม. ปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน
คุยกับรอง ปธ.สภาคณบดีสาธารณสุขฯ ค้านแก้ กม. ‘จป.วิชาชีพ’ เปิดทางจบอะไรมาก็ทำได้
ปธ.สภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ หนุน กสร. ปลดล็อคไม่ต้องจบอาชีวอนามัยฯ เป็น จป.วิชาชีพ