ปธ.สภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ หนุน กสร. ปลดล็อคไม่ต้องจบอาชีวอนามัยฯ เป็น จป.วิชาชีพ
ปธ.สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน เห็นด้วย กสร. เตรียมแก้กฎกระทรวงปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน เชื่อฝึกอบรมกันได้ โดยไม่ต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าสืบเนื่องจากมีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยให้ข้อมูลกับทีมข่าว ไม่เห็นด้วยกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน แก้ปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ในสถานประกอบการ โดยการเสนอแก้กฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ พ.ศ. ... เปิดโอกาสให้ผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา มีประสบการณ์ด้านความปลอดภัย 5 ปี และผ่านการอบรมตามหลักสูตร 222 ชม. สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ โดยไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาเฉพาะทางในหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
(อ่านประกอบ:แค่ชั่วคราว 5 ปี! กสร. เล็งเเก้ กม. ปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน)
นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวเห็นด้วยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีที่ กสร. เตรียมแก้กฎกระทรวงฯ เปิดโอกาสให้ผู้จบปริญญาตรีทุกสาขาเป็น จป.วิชาชีพ เพราะฝ่ายคนงานหรือหัวหน้างานสามารถฝึกอบรมกันเองได้ แต่หากยังจำกัดเฉพาะผู้จบหลักสูตรอาชีวอนามัยฯ เราจะไม่รู้เลยว่า เมื่อจบออกมาแล้ว คนกลุ่มนี้จะเข้ามาทำงานในสายงานนี้มากน้อยเพียงใด
“ปัจจุบันโรงงานขนาดเล็กขาดแคลน จป.วิชาชีพ มาก และบางแห่งใช้วิธีการให้ จป.วิชาชีพ ไปทำงานอย่างอื่นควบคู่กันด้วย เช่น มีหน้าที่ประจำอยู่แล้ว ส่วน จป.วิชาชีพเป็นงานอดิเรก ไม่ได้เป็นงานหลัก ทำให้การดูแลความปลอดภัย อย่างเต็มที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เงินเดือนมีผลทำให้ไม่ค่อยมีคนสมัครอาชีพนี้ ประกอบกับนายจ้างไม่อยากจะจ้าง คนไหนเคร่งครัดความปลอดภัยมากเกินไป นายจ้างไม่อยากจ้างไว้ หลายคนจึงเลือกไปทำในโรงงานใหญ่แทน”
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ามาทำงานเป็น จป.วิชาชีพ ประธานสภาเครือข่ายฯ กล่าวว่า ต้องมีคุณสมบัติรักด้านสุขภาพ ตระหนักถึงความปลอดภัยตลอดเวลา เพราะการทำงานในโรงงานต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ใช่นึกถึงสวัสดิการหรือค่าครองชีพ แต่อยากให้มองว่า ถ้าเราทำงานในที่ปลอดภัยแล้ว จะมีสุขภาพที่ดี และสามารถทำงานต่อไปในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงแรงงานยังแก้ปัญหาขาดแคลน จป.วิชาชีพ ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากติดปัญหาบุคลากรดูแลมีจำนวนน้อย
ภาพประกอบ:sootinclaimon.wordpress.com