คุยกับรอง ปธ.สภาคณบดีสาธารณสุขฯ ค้านแก้ กม. ‘จป.วิชาชีพ’ เปิดทางจบอะไรมาก็ทำได้
“ลองนึกภาพ จบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ เช่น คหกรรม นาฏศิลป์ แม้จะผ่านการอบรม แต่มหาวิทยาลัยมองว่า ไม่ใช่ผู้ที่จะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนทำงานได้ ยกเว้น หากว่าผลิตบัณฑิตไม่พอ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ผ่านมายืนยันผลิตบัณฑิตเพียงพอ ดังนั้นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงทำหนังสือคัดค้าน”
การเสนอแก้กฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ พ.ศ. ... ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)ที่เปิดโอกาสให้ผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา มีประสบการณ์ด้านความปลอดภัย 5 ปี และผ่านการอบรมตามหลักสูตรครบชั่วโมง สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) โดยไม่ต้องจบการศึกษาเฉพาะทางในหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งประเด็นดังกล่าวถูกคัดค้านจากมหาวิทยาลัย เพราะกังวลว่า จะขาดความรู้เฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ในการจัดประชุมรับฟังเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561 นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดี กสร. ระบุได้เชิญสภาองค์การนายจ้างและสภาลูกจ้างเข้าร่วมและส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไข เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลน จป.วิชาชีพ ในสถานประกอบการขนาดเล็ก ชั่วคราว 5 ปี เพื่อให้ปัญหาผ่อนคลาย เช่นเดียวกับนางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยที่เห็นด้วย
(อ่านประกอบ: แค่ชั่วคราว 5 ปี! กสร. เล็งเเก้ กม. ปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน-ปธ.สภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ หนุน กสร. ปลดล็อคไม่ต้องจบอาชีวอนามัยฯ เป็น จป.วิชาชีพ)
ในมุมมองของผู้แทนมหาวิทยาลัย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สัมภาษณ์ รศ.สราวุธ สุธรรมาสา คณบดีสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในฐานะรองประธานสภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทย
รศ.สราวุธ กล่าวว่า เดิมทีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ปี 2549 บัญญัติว่า ผู้เป็น จป.วิชาชีพ ต้องจบปริญญาตรีด้านอาชีวอนามัยเท่านั้น ทำให้ตั้งแต่นั้นมา มหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่ง จึงผลิตบัณฑิตออกมาป้อนตลาด แต่เมื่อ กสร. เตรียมทบทวนการออกกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ พ.ศ. ... มองว่า กฎหมายเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเปิดกว้างให้ผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา มีประสบการณ์ทำงานมา 5 ปี ผ่านการอบรม 220 ชั่วโมง สามารถเป็นจป.วิชาชีพได้แทน
มหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงทำหนังสือคัดค้านถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) เนื่องจากบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกมาเพียงพอ อีกทั้งการดูแลสภาพลูกจ้าง สภาพแวดล้อมการทำงาน ต้องใช้ความรู้ ดังนั้น การอบรมเพียง 220 ชั่วโมง เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง รวม 37 วัน จึงไม่น่าเพียงพอ
“ลองนึกภาพ จบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ เช่น คหกรรม นาฏศิลป์ แม้จะผ่านการอบรม แต่มหาวิทยาลัยมองว่า ไม่ใช่ผู้ที่จะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนทำงานได้ ยกเว้น หากว่าผลิตบัณฑิตไม่พอ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ผ่านมายืนยันผลิตบัณฑิตเพียงพอ ดังนั้นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงทำหนังสือคัดค้าน”
เมื่อถามว่า ดูท่าทีแล้วเหมือน กสร. จะเดินหน้าแก้กฎกระทรวงฉบับนี้ ใช้บังคับชั่วคราว 5 ปี รองประธานสภาคณบดีคณะสาธารณสุขฯ ตั้งคำถามถึงเหตุผลใช้ 5 ปี ทำไมไม่ 3 ปี หรือทำไมไม่ 10 ปี อะไรเป็นตัวที่บ่งชี้ว่า 5 ปีเหมาะสม ซึ่งจริง ๆ แล้ว คิดว่า ต้องศึกษาก่อนตั้งแต่ปี 2549 กฎหมายกำหนดต้องจบปริญญาตรีและอยากให้ดูภารกิจของผู้เป็น จป.วิชาชีพ
ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง ผู้จบการศึกษาหลักสูตรวารสารศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความปลอดภัย ผ่านทำงานมา 5 ปี เกี่ยวกับเรื่องขีดเขียน หากเข้ารับการอบรม 37 วัน กลายเป็น จป.วิชาชีพ ได้ อยากให้ลองนึกภาพว่า ค่อนข้างจะเป็นกฎหมายที่อันตรายมากในแง่คนดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน เพราะเวลาออกแบบการทำงานไม่ให้เกิดสภาพล้าของกล้ามเนื้อหรือเรื่องเกี่ยวกับมลพิษที่ต้องสัมผัส ไม่มีทางเลยที่ผู้ไม่จบสาขาเฉพาะทางจะเข้าใจได้
รศ.สราวุธ กล่าวด้วยว่า สำหรับเหตุผลที่ กสร. เตรียมแก้กฎกระทรวง เพราะโรงงานขนาดเล็กขาดแคลน จป.วิชาชีพ ในมมุมมองวิชาการ จะแก้ไขอย่างไรนั้น ต้องมองในเชิงข้อเท็จจริง ซึ่งมีโอกาสสอบถามกับลูกศิษย์เป็นไปได้หรือไม่ที่อาชีพนี้ขาดแคลน ลูกศิษย์ชวนคิดง่าย ๆ ทำไมโรงงานหาวิศวกรได้ ทำไมหานักบัญชีได้ ทำไมหาฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้ ฉะนั้น หาฝ่ายความปลอดภัยย่อมทำได้ เพียงแต่ว่า นายจ้างหลีกเลี่ยง เพราะเห็นว่า เรื่องความปลอดภัย เกรงจะมาป้องกันอย่างนั้นอย่างนี้ และมีเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แตกต่างจากบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ที่ถือว่าการป้องกันดีกว่าปล่อยให้เกิดเหตุร้าย ดังนั้นต้องไปวิเคราะห์กันก่อน
“มีโอกาสได้สอบถามลูกศิษย์ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยอยู่ทั่วประเทศ ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ให้ไปลองดูในประกาศหางานของบริษัท จะพบข้อมูลบริษัทเหล่านี้อยู่ตลอด ไม่ได้คนทำงานในตำแหน่งดังกล่าวเสียที ขณะเดียวกันให้ไปเจาะอัตราเงินเดือนได้รับเท่าไหร่ ขณะที่การมอบหมายงาน บางครั้ง จป.วิชาชีพต้องทำงานสารพัด เนื่องจากกฎหมายระบุว่า หน้าที่ความรับผิดชอบหรือตามที่นายจ้างมอบหมาย เพราะฉะนั้นประเด็นจึงไม่ใช่หาคนไม่ได้ แต่มีการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ทำให้คนไม่อยากเป็น จป.วิชาชีพ” รองประธานสภาคณบดีคณะสาธารณสุขฯ กล่าวในที่สุด