ห้ามอารักขาอดีตนายกฯถูกศาลลงโทษ!เปิดเหตุผล-มาตราสำคัญร่าง พ.ร.บ.ตำรวจใหม่
เปิดมาตราสำคัญร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ ระบุชัดถ้า ผบ.ตร. จะตั้ง ตร. คนไหนไปอารักขาบุคคลสำคัญ ต้องย้ายเข้าหน่วยสันติบาล หากพ้นตำแหน่งต้องคืนตัวใน 180 วัน ห้ามอารักขาอดีตนายกฯที่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษเด็ดขาด
จากกรณีคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.การสืบสวนคดีอาญา ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ได้ยกร่างกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เสร็จในวาระแรก และนำขึ้นเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทำประชาพิจารณ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อนนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไปนั้น (อ่านประกอบ : Change in action (23) จบรอบแรกแล้วทั้ง 2 ร่างฯ / ขึ้นเว็บทันทีพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. เกี่ยวกับเหตุผลในการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงสาระสำคัญในประเด็นการส่งตำรวจไปอารักขาบุคคลสำคัญ หรือนักการเมือง พบรายละเอียด ดังนี้
มาตราสำคัญที่สังคมสนใจคือ มาตรา 7 ที่บัญญัติถึงการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ให้ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในการออกคำสั่งแต่งตั้ง โดยในการออกคำสั่งแต่งตั้งให้ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญดังกล่าวนั้น ให้เป็นไปตามความสมัครใจของข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้ข้าราชการตำรวจดังกล่าวออกจากส่วนราชการเดิม ไปดำรงตำแหน่งในกองบังคับการตำรวจสันติบาล โดยในคำสั่งดังกล่าวต้องออกคำสั่งย้ายข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งในส่วนราชการนั้นแทนข้าราชการตำรวจผู้ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นการทดแทนด้วย
เมื่อบุคคลสำคัญดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ให้ ผบ.ตร. ส่งตัวข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยนั้นคืน สตช. ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พ้นตำแหน่ง เว้นแต่ในกรณีบุคคลสำคัญนั้นเป็นผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มิเคยถูกศาลมีคำพิพากษาลงโทษ จะสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีหน้าที่อารักขาความปลอดภัยต่อไปได้
สำหรับเหตุผลในการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. โดยที่มาตรา 258 ง. (4) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้เกิดผลในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง โยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้ สตช. ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจหลัก และบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ แบ่งออกเป็นสายงานต่าง ๆ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานสามารถเจริญเติบโตไปตามสายงาน โดยความรู้ความเชี่ยวชาญในสายงานของตน การกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งไว้ชัดเจน คำนึงถึงความอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนดระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา
ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เป็นกลไกสำหรับประชาชนในการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่มิชอบข้างข้าราชการตำรวจอันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการกระทำของตำรวจ ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีนั้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวนสอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้
อ่านประกอบ :
Change in action (22) ปฏิรูปการสอบสวน-ให้อัยการเข้าร่วมตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญ-อุกฉกรรจ์
Change in action(21)ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา-ตัวช่วยอำนวยความยุติธรรมแก่ปชช.
Change in action(20) เรียกกลับ ตร.ติดตามอดีตนักการเมือง-ผู้กว้างขวาง
Change in action (19) หัวใจอยู่ที่โรงพัก 1,482 แห่ง ต้องบรรจุให้ครบใน1ปี
Change in action (18) ก.ร.ตร. - กลไกใหม่แก้ทุกข์ประชาชน
Change in action(17) กำหนดเกณฑ์คะแนนประเมินตร.ทุกคน
Change in action(16) กำหนดเกณฑ์ละเอียด 33 ปีจากรองสว.ถึงรองผบ.ตร.
Change in action (15) ปฏิรูปใหญ่สายงานสอบสวน
Change in action (14) 'ก.พ.ค.ตร.' - องครักษ์พิทักษ์ระบบคุณธรรม !
Change in action (13) ให้กกต.ดำเนินการเลือก ก.ตร. ห้ามนายสั่งการ-ชี้นำ ฝ่าฝืนโทษคุก 6 เดือน
Change in action (11) ปฏิรูปตรงสู่โรงพัก!
Chang in action (10) ดูของจริงนอกห้องประชุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า !
Change in action (9) กม.สอบสวนใหม่แจ้งความสน.ไหนก็ได้ - เอกสารหายแจ้งที่เดียว/ สถานะ ตม.รอผลศึกษา
Change in action (8) ยกเลิกตำรวจรถไฟ /กำหนดระยะเวลาการโอนงานจรจรให้ท้องถิ่น!
Change in action (7) โอนงานจราจรบางส่วนให้กทม.
Change in action (6) ก.พ.ค.ตร. - คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ !
Change in action (5) ก.ตร. และระบบการให้คะแนน !
Change in action (4) อำนาจสั่งคดีในแต่ละสถานี
Change in action (3) แยกงานสอบสวนเป็นสายงานเฉพาะ-อิสระ
Change in action (2) ภารกิจและการถ่ายโอนภารกิจ !
Change in action ! ปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ สังคมไทยจะได้เห็นอะไรบ้าง?