Change in action ! ปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ สังคมไทยจะได้เห็นอะไรบ้าง?
"...ในการปฏิบัติภารกิจนั้น ไม่ใช่กระทำด้วยเพียงการพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เฉพาะบางประเด็น ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเสนอมาเท่านั้น แต่อาจพิจารณายกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ด้วยก็ได้และจะกระทำให้เสร็จพร้อมกันในคราวเดียว หรือเริ่มต้นเลือกเฉพาะประเด็นที่มีความสำคัญเฉพาะหน้าขึ้นมาพิจารณาให้เห็นผลโดยเร็วที่สุดก่อน ก็สามารถกระทำได้.."
Change in action !
คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่มีท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์เป็นประธาน จะไม่ได้ทำหน้าที่เพียงพิจารณาร่างกฎหมายที่ส่งมาจากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์เท่านั้น แต่จะพิจารณาให้ครอบคลุมสารัตถะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจทั้งหมด เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดให้สมกับที่ประชาชนคาดหวังและรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน องค์ประกอบผสมผสานระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษกับบุคคลภายนอก
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ
จะมีการประชุมเร่งด่วนแบบต่อเนื่องทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลา 16.30 - 20.00 น.โดยประมาณ ณ ห้องปรีดี พนมยงค์ ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ประชุมนัดแรกไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน
ในการปฏิบัติภารกิจนั้น ไม่ใช่กระทำด้วยเพียงการพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เฉพาะบางประเด็น ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเสนอมาเท่านั้น แต่อาจพิจารณายกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ด้วยก็ได้
และจะกระทำให้เสร็จพร้อมกันในคราวเดียว หรือเริ่มต้นเลือกเฉพาะประเด็นที่มีความสำคัญเฉพาะหน้าขึ้นมาพิจารณาให้เห็นผลโดยเร็วที่สุดก่อน ก็สามารถกระทำได้
เพื่อตอบโจทย์ 2 ประการ
1. ความทุกข์ของประชาชน - ทั้งที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และความคาดหวังที่ต้องการจากตำรวจ
2. ความทุกข์ของตำรวจ - ทั้งที่ไม่อาจใช้เพียงความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เติบโตไปตามสายงานได้อย่างปกติ และความไม่พร้อมหรือขาดแคลนในด้านต่าง ๆ
ในการตอบโจทย์ทั้ง 2 ข้อนี้จะพิจารณาผ่าน 6 กรอบตามดำริของนายกรัฐมนตรี
1. โครงสร้าง - ทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่งานตำรวจแท้ออกไปให้หน่วยงานอื่นด้วย
2. อำนาจสอบสวน - ควรอยู่กับตำรวจเต็มเหมือนเดิม หรือควรมีหน่วยงานอื่นมาร่วมในกระบวนการด้วย
3. การแต่งตั้งโยกย้าย - รวมถึงการแต่งตั้งผบ.ตร. จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์การพิจารณาไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลัก ไม่ใช่อยู่แต่ในกฎหมายลำดับรองหรืออนุบัญญัติเท่านั้น โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะให้มาจากหลักอาวุโสเป็นสัดส่วนเท่าไร รวมทั้งจะต้องบัญญัติกฎเกณฑ์ของการคิดคำนวณหลักอาวุโสที่มิใช่อาศัยเพียงเกณฑ์อายุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลักด้วย
4. ความพร้อมในการทำหน้าที่ของตำรวจ - ยังมีความขาดแคลนงบประมาณและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่เพียงใด
5. ระบบนิติวิิทยาศาสตร์ - ควรขึ้นตรงต่อตำรวจ หรือเป็นอิสระในระดับหนึ่ง และควรมีกี่หน่วย โดยพิจารณาถึงโอกาสที่จะได้รับความเป็นธรรมสูงสุดของประชาชน
6. สวัสดิการ - หมายรวมถึงระบบร้องเรียน ร้องทุกข์ ภายในของตำรวจเองด้วย
โดยจะพิจารณาจากข้อเสนอจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ศึกษาและเสนอไว้แล้วประกอบด้วย
เมื่อได้ข้อสรุป ก็จัดทำเป็นร่างกฎหมายและตรวจร่างกฎหมายได้พร้อมสรรพในคณะกรรมการชุดเดียว เพราะมีสัดส่วนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษอยู่ด้วยแล้ว
คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญประการใดจะทยอยนำมารายงาน
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1701938939850053&id=100001018909881