Change in action (6) ก.พ.ค.ตร. - คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ !
คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯประชุมครั้งที่ 6 เมื่อเย็นวานนี้ เห็นควรให้จัดตั้ง 'คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ' อาจใช้ชื่อย่อว่า 'ก.พ.ค.ตร.' ขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยประยุกต์มาจากรูปแบบของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ชื่อย่อ 'ก.พ.ค.' ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทำหน้าที่เป็นองค์กรวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งเรื่องร้องทุกข์ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้แก่บรรดาข้าราชการตำรวจ ซึ่งหากผู้ร้องไม่พอใจในคำวินิจฉัยก็สามารถใช้สิทธิไปฟ้องยังศาลปกครองสูงสุดได้ต่อไป
ที่มาของ ก.พ.ค.ตร.ให้มาจากกระบวนการคัดเลือก โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกมีที่มาจากองค์กรฝ่ายต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นอิสระ เป็นกลาง มีความรู้ และประสบการณ์สูง
ก.พ.ค.ตร. เป็นคณะกรรมการประจำ ทำงานเต็มเวลา มีวาระชัดเจน และให้ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว
ที่ประชุมยังได้พิจารณาระบบการประเมินข้าราชการตำรวจโดยคะแนนที่ได้รับจากการถ่วงน้ำหนัก 3 ปัจจัย คือ อาวุโส 50 % ผลงานมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ 30 % และความพึงพอใจของประชาชน 20 % จากมติเบื้องต้นในการประชุมครั้งที่แล้ว ว่าจะต้องดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีขีดความสามารถและเที่ยงธรรมเพียงพอ รวมทั้งมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนชัดเจน
โดยผลการประเมินดังกล่าวจะนำมาใช้ทั้งในการแต่งตั้งโยกย้าย และการเลื่อนขั้นเงินเดือน
ส่วนองค์ประกอบและที่มาของคณะบุคคลที่ทำหน้าที่ประเมินนี้จะได้พิจารณาในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีการทบทวนโครงสร้างของก.ตร.ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เห็นควรปรับลดกรรมการผู้ทรงคุณประเภทที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจเหลือเพียง 3 คน เพิ่มกรรมการที่มาจากตำแหน่งรองผบ.ตร.และจเรตร.เป็น 4 คน และเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่งจากภายนอกเข้ามาอีก 2 คน คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงยุติธรรม
สรุปแล้ว โครงสร้างก.ตร.ใหม่จะมีทั้งสิ้น 16 คน
อ่านประกอบ :
Change in action (5) ก.ตร. และระบบการให้คะแนน !
Change in action (4) อำนาจสั่งคดีในแต่ละสถานี
Change in action (3) แยกงานสอบสวนเป็นสายงานเฉพาะ-อิสระ
Change in action (2) ภารกิจและการถ่ายโอนภารกิจ !
Change in action ! ปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ สังคมไทยจะได้เห็นอะไรบ้าง?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากไทยรัฐ