ทำความเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ จ้าง‘ล็อบบี้ยิสต์’ทำไม-ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง?
“…กรอบกฎหมายของสหรัฐฯค่อนข้างรัดกุม และป้องกันการคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ดีด้วยจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าคอร์รัปชั่นนัก เพราะประชาชนที่นี่ค่อนข้างตื่นตัวกับเรื่องนี้ และเกลียดการทุจริตเข้ากระดูกดำ และไม่ใช่แค่เรื่องทุจริตเท่านั้น หากคณะกรรมการผู้บริหารระดับ County หรือผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ไม่สามารถทำงานตอบโจทย์ประชาชนได้ ก็อาจมีความผิดเช่นกัน และหากท้ายสุดพ้นผิด ก็อาจหมดศรัทธาจากประชาชน กลับเข้ามานั่งในตำแหน่งยากแน่นอน…”
หลายตอนที่แล้ว ช่วงที่ผมอยู่วอชิงตัน ดี.ซี. เคยเขียนเกี่ยวกับบทบาทของ ‘ล็อบบี้ยิสต์’ (Lobbyist) ให้ทราบเบื้องต้นไปแล้วว่า มีต้นกำเนิดมาจากยูลิสซิส แกรนด์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 18 ‘เกรงใจ’ ภรรยา ออกมาสูบบุหรี่-จิบเบอร์เบิ้นนอกทำเนียบขาว ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มประชาชนมาเรียกร้องความต้องการทางการเมืองตัวเอง จนกลายเป็นอาชีพ ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ในที่สุด
สำหรับกระบวนการทำงานของ ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ในสหรัฐฯนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองที่ศึกษาการเมืองระดับชาติในวอชิงตัน ดี.ซี. มายาวนานกว่า 40 ปี เคยอธิบายว่า ล็อบบี้ยิสต์มีทั้งคนที่ดี และไม่ดี โดยมีล็อบบี้ยิสต์บางกลุ่มที่ได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ เพื่อให้ไปล็อบบี้บรรดาผู้มีอำนาจ เช่น ส.ส. ส.ว. หรือนักการเมือง ให้เปลี่ยนแปลง-แก้ไขกฎหมาย เอื้อต่อบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้น (อ่านประกอบ : ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?, เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์)
คราวนี้มาทำความเข้าใจกระบวนการล็อบบี้ระหว่างนักการเมืองกันบ้างว่าเป็นอย่างไร ?
เบื้องต้น ต้องทำความเข้าใจระบบการปกครอง และระบบการเมืองในสหรัฐฯ ก่อนว่า แบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ ได้แก่ รัฐบาลกลาง (Federal Government) และรัฐบาลท้องถิ่น โดยในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่น จำแนกย่อยลงได้อีกหลายระดับ คือ ระดับ County (ประมาณจังหวัด) เรียกว่า คณะกรรมการผู้บริหารระดับ County (หากไม่เข้าใจให้ลองนึกถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ในไทย) ย่อยลงไปอีกเป็นระดับ Town หรือ City (ประมาณองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. เป็นต้น) อย่างไรก็ดี ระบบการปกครองที่นี่ไม่สามารถเทียบเคียงกับไทยได้ 100% ผมแค่ยกตัวอย่างมาเทียบให้เข้าใจง่ายเท่านั้น
ถัดมาอีกหลายวัน ผมมีโอกาสพูดคุยกับคณะกรรมการผู้บริหารระดับ County แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ตอนหนึ่งเธอเล่าว่า การบริหาร County หลายแห่ง จำเป็นต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์ เพื่อวิ่งเต้นกับนักการเมืองระดับชาติ เช่น ส.ส. หรือ ส.ว. เพื่อขอให้ถ่ายโอนงบประมาณกลางมาให้กับ County นั้น ๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น
ประเด็นเรื่องล็อบบี้ยิสต์ เลยกลายเป็นหนึ่งในบทสนทนาหลักในวันนั้นแทนการพูดคุยถึงระบบการปกครองสหรัฐฯ (ฮา)
ผมขอให้เธออธิบายว่า การว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ในทางการเมือง ดำเนินการกันอย่างไร ใช้งบประมาณจากไหนมาว่าจ้าง และนักการเมืองระดับชาติได้ผลตอบแทนอะไร ?
เธอเล่าว่า แต่ละรัฐในสหรัฐฯ จะมีการแบ่งการปกครองเป็น County บางรัฐมีเกินกว่า 50 County ดังนั้น การเทงบลงมาจากรัฐบาลกลางไม่ทั่วถึงทั้งหมด จำเป็นต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์เพื่อวิ่งเต้นให้นักการเมืองของบจากรัฐบาลกลางให้เทงบลงมาที่ County ของเขา แม้ว่างบส่วนนี้จากรัฐบาลกลางจะไม่มากหากเทียบกับการเก็บภาษีภายใน County ตัวเองก็ตาม แต่ก็ช่วยเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณให้คล่องตัวยิ่งขึ้น บางครั้งงบส่วนนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับ County มหาศาล แล้วแต่สถานการณ์
ก่อนที่จะมีการจ้างล็อบบี้ยิสต์ จะมีการตั้ง Project ขึ้นมาอภิปรายกันภายในคณะกรรมการผู้บริหาร County เพื่อถกเถียงกันว่า จะขอบประมาณแบบไหนมาใช้ประโยชน์ ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมาก เธอใช้คำว่า “เป็นความเป็นความตาย” เลยทีเดียวหากการตั้ง Project ไม่มีคุณภาพพอที่รัฐบาลกลางจะเห็นค่า
หลังจากกำหนด Project เรียบร้อยแล้ว จึงว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ให้ไปวิ่งเต้นกับนักการเมืองระดับชาติ เพื่อของบจากรัฐบาลกลาง แม้จะล็อบบี้ไม่สำเร็จทุก Project แต่ส่วนมากจะสำเร็จ คำนวณอย่างหยาบ ๆ สำเร็จประมาณ 70-80% เลยทีเดียว
ผมย้ำคำถามสำคัญคือ งบประมาณในส่วนการว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์มาจากไหน ?
เธออธิบายว่า สำหรับงบประมาณของแต่ละ County จะมาจากการเก็บภาษีจากประชาชน เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีสินค้าต่าง ๆ ภายใน County และจะเจียดเงินส่วนหนึ่งในนี้มาว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ อย่างไรก็ดีก่อนจะจัดทำ Project และจ้างล็อบบี้ยิสต์นั้น จะบอกประชาชนก่อนว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็ต้องล้มเลิกไป โดยเฉลี่ยจะใช้เงินจ้างล็อบบี้ยิสต์ประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ/ปี หรือมากกว่านั้น ขณะที่แต่ละ Project ต้องการเงินตั้งแต่หลักร้อยล้าน-พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งภาษีที่เก็บใน County ไม่เพียงพอ
“เงินเท่านี้มันคุ้มค่าที่จะต้องจ่าย เพราะแต่ละ County ต่างก็แย่งกันล็อบบี้เพื่อให้งบประมาณเทลงไปยัง County ตัวเอง ซึ่งเงินในส่วนนี้อย่างที่บอกไปแล้วว่า บางครั้งมันค่อนข้างสำคัญ เพราะงบประมาณจากการเก็บภาษีอาจไม่เพียงพอในการพัฒนาท้องถิ่น หรือพัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ” เธอเล่า
แล้วการล็อบบี้ครั้งนี้ ส.ส. ส.ว. หรือนักการเมืองระดับชาติได้ผลประโยชน์อะไร ?
เธอครุ่นคิดสักพัก ก่อนตอบว่า นักการเมืองระดับชาติคือตัวแทนของประชาชน ได้รับเงินเดือนจากประชาชน เพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้กับประชาชน ดังนั้นเขาจึงจำเป็นต้องทำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องหวังผลประโยชน์
ผมยิ้มเล็กน้อย ก่อนถามไปตรง ๆ ว่า ไม่มีผลประโยชน์จริงหรือ พร้อมยกตัวอย่างนักการเมืองในประเทศไทยให้เขาฟังว่า การเมืองในไทยคือการตอบกันซึ่งผลประโยชน์เสมอ และเชื่อว่า ระบบการเมืองทั้งโลกนี้ก็เป็นเช่นนั้นเช่นกัน ?
เธอยิ้มตอบ และบอกว่า การทำตามล็อบบี้ยิสต์ อาจหมายความว่า เป็นการกดดันทางการเมืองต่อพวกเขาเหล่านั้น หากไม่ทำตาม ประชาชนใน County นั้น ๆ อาจไม่เลือกเขาให้เป็นผู้แทนในสภาครองเกรสอีกก็เป็นไปได้
ผมเล่าให้เธอฟังว่า คำว่า ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ในไทย มักเป็นคำประเภทสีเทา ๆ หรือผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นคำเชิงลบ และมักมีการทุจริต และคอร์รัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ
เธอบอกว่า “ใช่ ที่นี่ก็มีเหมือนกัน”
ก่อนขยายความว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า ล็อบบี้ยิสต์ มีทั้งประเภทที่ดี และไม่ดี และประเภทไม่ดีมักเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง หรือทางธุรกิจ รวมถึงการคอร์รัปชั่นต่าง ๆ อย่างไรก็ดีล็อบบี้ยิสต์ที่ไม่ดี มักไม่ได้รับความไว้วางใจจากนักการเมือง เนื่องจากกังวลว่า อาจเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวฉาวโฉ่ในภายหลัง
เธอเล่าด้วยว่า กรอบกฎหมายของสหรัฐฯค่อนข้างรัดกุม และป้องกันการคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ดีด้วยจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าคอร์รัปชั่นนัก เพราะประชาชนที่นี่ค่อนข้างตื่นตัวกับเรื่องนี้ และเกลียดการทุจริตเข้ากระดูกดำ และไม่ใช่แค่เรื่องทุจริตเท่านั้น หากคณะกรรมการผู้บริหารระดับ County หรือผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ไม่สามารถทำงานตอบโจทย์ประชาชนได้ ก็อาจมีความผิดเช่นกัน และหากท้ายสุดพ้นผิด ก็อาจหมดศรัทธาจากประชาชน กลับเข้ามานั่งในตำแหน่งยากแน่นอน
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลังเกี่ยวกับการขบวนการ ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะการล็อบบี้กันระหว่างฝ่ายการเมือง ที่หลายคนในประเทศไทยยังไม่ทราบ หรือไม่ค่อยสนใจ แต่ผมใคร่รู้เอง จึงนำมาฝาก เพราะไม่รู้หลายคนทราบกันหรือไม่ว่า มีอดีตนายกรัฐมนตรีชื่อดังรายหนึ่ง ว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐฯอย่างน้อย 5 แห่ง เพื่อปั่นหัวประชาชน และบอกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อทางการเมือง แต่ข้อเท็จจริงคือ อดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ถูกตรวจสอบว่าทุจริต และคอร์รัปชั่น เป็นต้น
ในคราวหน้ามีประเด็นเรื่องบทบาทการเรียนการสอนวิชาวารสารศาสตร์ในสหรัฐฯ เทียบกับประเทศไทย ประสบปัญหาแบบเดียวกันหรือไม่ โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://sonomasun.com/wp-content/uploads/2018/02/BRIBE.jpg