Change in action(21)ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา-ตัวช่วยอำนวยความยุติธรรมแก่ปชช.
คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่จบวาระแรกแล้ว เหลือแขวนบทเฉพาะกาลบางประเด็นไว้เพื่อรอข้อมูลสุดท้าย ดังนั้นตั้งแต่การประชุมครั้งวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯจึงได้เริ่มต้นพิจารณาร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. .... อันเป็นกฎหมายกลางที่ยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์สำคัญในขั้นตอนการสอบสวนคดีอาญาของข้าราชการตำรวจ เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น
โดยหลักการสำคัญๆ ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว มีอาทิ
- ให้พนักงานสอบสวนในทุกสถานีมีหน้าที่และอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใดก็ตาม และเมื่อรับแล้วต้องสอบสวนเบื้องต้นเท่าที่จะพึงทำได้ แล้วรีบส่งคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษนั้นพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนเบื้องต้นไปยังพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเร็ว โดยต้องแจ้งให้ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยว่าจะส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจแห่งใด
- สำหรับกรณีแจ้งเรื่องเอกสารประจำตัวต่าง ๆ ซึ่งรัฐออกให้หาย ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจแล้วนำบันทึกประจำวันนั้นไปยังหน่วยงานของรัฐผู้ออกเอกสารนั้นเพื่อให้ออกเอกสารใหม่ให้อีกต่อไป แต่จะกำหนดให้สามารถไปแจ้งที่หน่วยงานของรัฐผู้ออกเอกสารนั้นที่เดียวได้เลย โดยกำหนดให้ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐนั้นที่จะต้องรับแจ้งและออกเอกสารใหม่ให้ผู้แจ้ง
- ในกรณีที่มีการกระทำความผิดอาญาในรถไฟหรือยานพาหนะขนส่งสาธารณะ ให้ผู้เสียหายหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของหรือควบคุมรถไฟหรือยานพาหนะขนส่งสาธารณะมีสิทธิร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในทุกสถานี ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่สถานีใด และเมื่อรับคำร้องทุกข์หรอกล่าวโทษแล้ว ให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการสอบสวนได้ แต่เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนหรือเพื่อประสิทธิภาพในการสอบสวน พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษนั้นไว้ ผู้บังคับการสอบสวนหรือผู้บัญชาการสอบสวนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้น หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะสั่งให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานสอบสวนอื่นเพื่อดำเนินการสอบสวนต่อก็ได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎก.ตร. ทั้งนี้เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจของตำรวจรถไฟ
- กำหนดให้มีตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานสอบสวน แต่งตั้งจากตำรวจชั้นประทวนที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่มาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อช่วยเหลือพนักงานสอบสวนถายใต้การกำกับดูแลของพนักงานสอบสวน เนื่องจากงานสอบสวนมีมาก และตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองสารวัตรสอบสวนขึ้นไปมีจำนวนจำกัด
- กำหนดให้ตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานวิชาชีพเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน และสานงานอื่น มีหน้าที่และอำนาจในการช่วยเหลือและสนับสนุนพนักงานสอบสวนในการสืบสวนสอบสวน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎก.ตร. เพราะในกระบวนการสอบสวนต้องดำเนินการทั้งแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ความรู้ความเชี่ยวชาญในสายงานอื่นจึงมีความจำเป็นด้วย
- นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปรามมีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอเป็นการเฉพาะด้วย เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจาก ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่คณะกรรมการฯเคยมีความเห็นร่วมกันไว้ อยู่ระหว่างการหารือหาข้อสรุปเพื่อบรจุไว้ในร่างฯอีก อาทิ
- กำหนดให้การสอบสวนอาจทำเป็นองค์คณะได้
- กำหนดให้ในคดีที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อาจตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษนั้น ๆ เป็นผูช่วยพนักงานสอบสวน หรือที่ปรึกษาพนักงานสอบสวน
- และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่าต้องพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานของผู้ต้องหาไว้ในสำนวนคดีตั้งแต่ต้นด้วย ไม่ใช่เฉพาะพยานหลักฐานที่ปรักปรำผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น
- ฯลฯ
จะได้ทยอยนำมารายงานในลำดับต่อไปเมื่อตัวร่างฯในแต่ละประเด็นนิ่งแล้ว
ที่มา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1805299272847352&id=100001018909881
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากแนวหน้า
อ่านประกอบ :
Change in action(20) เรียกกลับ ตร.ติดตามอดีตนักการเมือง-ผู้กว้างขวาง
Change in action (19) หัวใจอยู่ที่โรงพัก 1,482 แห่ง ต้องบรรจุให้ครบใน1ปี
Change in action (18) ก.ร.ตร. - กลไกใหม่แก้ทุกข์ประชาชน
Change in action(17) กำหนดเกณฑ์คะแนนประเมินตร.ทุกคน
Change in action(16) กำหนดเกณฑ์ละเอียด 33 ปีจากรองสว.ถึงรองผบ.ตร.
Change in action (15) ปฏิรูปใหญ่สายงานสอบสวน
Change in action (14) 'ก.พ.ค.ตร.' - องครักษ์พิทักษ์ระบบคุณธรรม !
Change in action (13) ให้กกต.ดำเนินการเลือก ก.ตร. ห้ามนายสั่งการ-ชี้นำ ฝ่าฝืนโทษคุก 6 เดือน
Change in action (11) ปฏิรูปตรงสู่โรงพัก!
Chang in action (10) ดูของจริงนอกห้องประชุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า !
Change in action (9) กม.สอบสวนใหม่แจ้งความสน.ไหนก็ได้ - เอกสารหายแจ้งที่เดียว/ สถานะ ตม.รอผลศึกษา
Change in action (8) ยกเลิกตำรวจรถไฟ /กำหนดระยะเวลาการโอนงานจรจรให้ท้องถิ่น!
Change in action (7) โอนงานจราจรบางส่วนให้กทม.
Change in action (6) ก.พ.ค.ตร. - คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ !
Change in action (5) ก.ตร. และระบบการให้คะแนน !
Change in action (4) อำนาจสั่งคดีในแต่ละสถานี
Change in action (3) แยกงานสอบสวนเป็นสายงานเฉพาะ-อิสระ
Change in action (2) ภารกิจและการถ่ายโอนภารกิจ !
Change in action ! ปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ สังคมไทยจะได้เห็นอะไรบ้าง?