Change in action (17) กำหนดเกณฑ์คะแนนประเมินตร.ทุกคน
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ได้พิจารณาลงรายละเอียดในเรื่องหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้่ายนายตำรวจทุกระดับทุกสายงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
หนึ่งในประเด็นสำคัญคือให้นายตำรวจทุกคนมีคะแนนการประเมินประจำตัว และจัดเรียงลำดับไว้
การแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมา นอกเหนือจากเกณฑ์เฉพาะต่าง ๆ ของแต่ละระดับและแต่ละสายงานแล้ว จะต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การประเมิน 100 คะแนน ดังนี้
1. ความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง มีคะแนนเต็ม 60 คะแนน
โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด ได้รับคะแนนเต็ม 60 คะแนน ผู้ดำรงตำแหน่งนานในลำดับถัดลงไปให้ได้รับคะแนนลดลงปีละ 6 คะแนน ในกรณีที่ดำรงตำแหน่งนานเท่ากัน ให้ได้รับคะแนนเท่ากัน
ทั้งนี้ ผู้ใดอยู่ในเขตมลทิน เช่น อยู่ในระหว่างการถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง จะไม่ได้รับการพิจารณา
ผูใดทำผิด แต่โทษไม่ถึงกับออกจากราชการ ให้หักระยะเวลาที่ถูกสอบสวนออกจากอาวุโส ในทางตรงกันข้ามถ้าสอบสวนแล้วไม่ผิด ให้นับเวลาตลอดช่วงที่ถูกสอบสวนไว้ในอาวุโสด้วย
2. ความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน มีคะแนนเต็ม 20 คะแนน
ให้ประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ตร.กำหนด
3. ความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ มีคะแนนเต็ม 20 คะแนน
ในประการนี้ที่ประชุมได้ใช้เวลาหารือกันมากเป็นพิเศษ เพราะมีปัญหา 2 ด้าน
ด้านหนึ่งคือทำอย่างไรจะให้ผู้ถูกประเมินจะได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด เนื่องจากตำรวจบางหน่วยงานไม่ได้สัมผัสกับประชาชนโดยตรงหรืออยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนเท่ากับตำรวจที่ประจำอยู่ในสถานีตำรวจ 1,482 แห่งทั่วประเทศ เช่น สันติบาล ต่างประเทศ
อีกด้านหนึ่งคือจะให้ใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ประเมิน
ผลการพิจารณาสรุปเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
1. ให้มีการประเมินความพึงพอใจฯจากสถานีตำรวจ กองกำกับการ หรือหน่วยงานอื่นที่เทียบเท่า และเมื่อหน่วยงานได้รับคะแนนความพึงพอใจฯเป็นจำนวนเท่าใด ให้ถือว่าผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานนั้นได้รับคะแนนเท่ากัน
2. คะแนนความพึงพอใจฯของหน่วยงานในระดับกองบังคับการใด ให้ถือเอาคะแนนความพึงพอใจฯของทุกสถานีตำรวจ กองกำกับการ หรือหน่วยงานเทียบเท่าที่อยู่ในสังกัด มาเฉลี่ย ได้จำนวนเท่าใดให้ถือเป็นคะแนนความพึงพอใจฯของกองบังคับการนั้น และให้ถือว่าผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกองบังคับการนั้นได้รับคะแนนนั้นเท่ากัน
3. คะแนนความพึงพอใจฯของหน่วยงานในระดับกองบัญชาการใด ให้ถือเอาคะแนนความพึงพอใจฯของทุกกองบังคับการที่อยู่ในสังกัด มาเฉลี่ย ได้จำนวนเท่าใดให้ถือเป็นคะแนนความพึงพอใจฯของกองบัญชาการนั้น และให้ถือว่าผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกองบัญชาการนั้นได้รับคะแนนนั้นเท่ากัน
ในการประเมินความพึงพอใจฯข้างต้น ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้สำรวจความคิดเห็นประชาชน โดนอย่างน้อยต้องครอบคลุมมิติต่าง ๆ ดังนี้
- ความมีประสิทธิภาพ
- ความเป็นธรรม
- การไม่เลือกปฏิบัติ
- ความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ตร.กำหนด
และเมื่อมีผลการสำรวจเป็นประการใด ให้ประกาศให้ประชาชนและแจ้งให้หน่วยงานที่ถูกประเมินทราบด้วย
ข้าราชการตำรวจผู้ใดเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อก.พ.ค.ตร.
อ่านประกอบ :
Change in action (16) กำหนดเกณฑ์ละเอียด 33 ปีจากรองสว.ถึงรองผบ.ตร.
Change in action (15) ปฏิรูปใหญ่สายงานสอบสวน
Change in action (14) 'ก.พ.ค.ตร.' - องครักษ์พิทักษ์ระบบคุณธรรม !
Change in action (13) ให้กกต.ดำเนินการเลือก ก.ตร. ห้ามนายสั่งการ-ชี้นำ ฝ่าฝืนโทษคุก 6 เดือน
Change in action (11) ปฏิรูปตรงสู่โรงพัก!
Chang in action (10) ดูของจริงนอกห้องประชุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า !
Change in action (9) กม.สอบสวนใหม่แจ้งความสน.ไหนก็ได้ - เอกสารหายแจ้งที่เดียว/ สถานะ ตม.รอผลศึกษา
Change in action (8) ยกเลิกตำรวจรถไฟ /กำหนดระยะเวลาการโอนงานจรจรให้ท้องถิ่น!
Change in action (7) โอนงานจราจรบางส่วนให้กทม.
Change in action (6) ก.พ.ค.ตร. - คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ !
Change in action (5) ก.ตร. และระบบการให้คะแนน !
Change in action (4) อำนาจสั่งคดีในแต่ละสถานี
Change in action (3) แยกงานสอบสวนเป็นสายงานเฉพาะ-อิสระ
Change in action (2) ภารกิจและการถ่ายโอนภารกิจ !
Change in action ! ปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ สังคมไทยจะได้เห็นอะไรบ้าง?