ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
ตามไปดู Food Bank ธนาคารอาหารแห่งสหรัฐฯ องค์กรหลักช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย-หิวโหยแห่งอเมริกา ได้เงินบริจาคปีละกว่า 5-6 ล้านเหรียญฯ นำมาจัดสรรปันส่วนแจกจ่ายให้กลุ่มเด็ก-คนแก่-ทหารผ่านศึก กระบวนการรัดกุม-โปร่งใส ล่อตาล่อใจ ‘อภิมหาเศรษฐี’ เพราะช่วยลดหย่อนภาษี-พีอาร์ภาพลักษณ์ได้
อย่างที่ผมเกริ่นในตอนที่แล้วว่า สภาพอากาศในนิวยอร์คค่อนข้างแย่ ทำให้ไฟลท์เครื่องบินผมที่จะต้องแลนดิ้งที่เมืองทัลซ่า รัฐโอกลาโฮม่า ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2018 (เวลาที่สหรัฐอเมริกา) ต้องแคนเซิล ทำให้ผมต้องกลับไปนอนในนิวยอร์คอีกหนึ่งคืน อย่างไรก็ดีเมื่อช่วงดึกคืนวันที่ 16 ก.ค. 2018 เครื่องบินนำพาผมเข้าสู่เมืองทัลซ่าเสียที แม้จะผ่านอุปสรรคจากสภาพอากาศย่ำแย่อีกครั้ง เกิดอาการดีเลย์หลายชั่วโมงก็ตาม
เมืองทัลซ่า ขณะนี้มีสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้น อุณหภูมิช่วงกลางวันประมาณ 28-33 องศา กลางคืนประมาณ 20 องศา ภายในเมืองค่อนข้างเงียบมาก รถไม่พลุกพล่าน แทบไร้สิ่งมีชีวิต เห็นคนเดินบนท้องถนนน้อยมาก เนื่องจากเมืองมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หากเทียบกับปริมาณประชาชนที่มีแค่ 4 แสนคนเศษเท่านั้น นอกจากนี้ร้านรวงต่าง ๆ หากหลัง 5 โมงเย็นจะทยอยปิด แตกต่างจากเมืองใหญ่อื่น ๆ ที่ผมไปมา เช่น วอชิงตัน ดี.ซี. หรือนิวยอร์ค ที่เปิดให้บริการดึกดื่นค่อนคืน
เข้าประเด็นเลยดีกว่า ช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2018 (เวลาในไทยคงประมาณช่วงก่อนรุ่งสางวันที่ 18 ก.ค. 2018) ผมมีโอกาสแวะไปทำความรู้จักกับ Food Bank หรือแปลตรงตัวคือ ธนาคารอาหาร เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อแบ่งปันอาหารให้กับผู้ยากไร้ และผู้มีรายได้ต่ำในสหรัฐฯ (เฉพาะในสหรัฐฯเท่านั้น ไม่ได้แบ่งปันประเทศอื่น)
Food Bank มีสาขาทั่วสหรัฐฯ อย่างน้อยแต่ละรัฐต้องมี Food Bank 2 แห่ง นั่นหมายความว่าทั่วสหรัฐฯมี Food Bank ประมาณ 100 สาขาขึ้นไป องค์กรแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 35-40 ปีก่อน หรือราวช่วงปลาย 1970-ต้น 1980 โดยกลุ่มบุคคลที่ใช้โมเดลจากโบสถ์ในสหรัฐฯ ที่รับบริจาคอาหารไว้ปันคนในชุมชน
แต่ Food Bank เป็นการขยายโครงสร้าง ทำเป็นระบบภาพรวมขนาดใหญ่ โดยรับบริจาคสิ่งของจากบรรดากลุ่มนายทุน บรรษัทยักษ์ใหญ่ ไล่ไปถึงบริษัทขนาดเล็ก หรือปัจเจกบุคคล มีทั้งบริจาคเป็นเงิน และสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นของสด ของแห้ง อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ หรือแม้แต่อาหารสัตว์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม กระดาษชำระ เป็นต้น
ปัจจุบัน Food Bank มีพนักงานประจำประมาณ 75 ราย ไม่นับอาสาสมัครที่ปีหนึ่งมีมากหลายพันรายทั่วสหรัฐฯ โดยได้เงินจากการบริจาคทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง รวมถึงบริษัทเอกชนต่าง ๆ เนื่องจากการบริจาคให้ที่นี่ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ อย่างไรก็ดีไม่มีข้อมูลว่าสามารถลดหย่อนได้กี่เปอร์เซ็นต์
(โกดังสินค้าใน Food Bank ประจำเมืองทัลซ่า ปริมาณของแจกจ่ายได้ราว 2 เดือน หากไม่มีใครบริจาคเพิ่ม)
Meghana Rao สาวรุ่น ตำแหน่ง Valunteer Coordinator หรือเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานกลุ่มอาสาสมัคร เล่าว่า แต่ละปี Food Bank ได้รับเงินบริจาคจากภาคเอกชน และปัจเจกบุคคลประมาณ 5-6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งหมดนำมาจัดสรรปันส่วนในการซื้ออาหาร และจ่ายเงินค่าตอบแทนพนักงานประจำ เนื่องจากอาหารที่มีการบริจาคมาให้บางครั้งไม่เพียงพอ เพราะเฉลี่ยแล้ว Food Bank จะแจกจ่ายอาหารให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั่วสหรัฐฯอเมริกาประมาณ 376,000 มื้อต่อสัปดาห์ ในพื้นที่ 24 Counties* กลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และทหารเกษียณผ่านศึก เป็นต้น
“Food Bank พยายามเข้าถึงอภิมหาเศรษฐีในประเทศหลายราย เพื่อขอให้บริจาคเงิน หรือสิ่งของให้กับองค์กร เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย โดยที่ผ่านมามีอภิมหาเศรษฐีในประเทศหลายคน สนใจบริจาคเงินเป็นจำนวนไม่น้อย”
*หมายเหตุ : ต้องเข้าใจก่อนว่า ประเทศสหรัฐฯใหญ่มาก มีถึง 50 รัฐ จึงแบ่งระบบการปกครองออกเป็นรัฐบาลกลาง (Federal Government) ที่ดูแลเรื่องระดับชาติ และรัฐบาลท้องถิ่นที่ปกครอง และออกกฎหมายในแต่ละรัฐ โดยแต่ละรัฐจะแบ่งย่อยเขตการปกครองเป็นแบบ Counties (อารมณ์ประมาณจังหวัดที่ไทย) แต่ละ Counties แบ่งย่อยไปอีกเป็นประเภท Town หรือเมืองต่าง ๆ เป็นต้น
(ป้ายโปสเตอร์โชว์ชื่อหน่วยงานในเครือข่ายที่เป็นผู้กระจายสินของให้คนยากไร้ บางป้ายเป็นบุคคลที่บริจาคเงินให้ Food Bank)
เธอเล่าอีกว่า ปัจจุบัน Food Bank มีเครือข่ายมากกว่า 400 แห่งทั่วสหรัฐฯ โดยเฉพาะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำเกี่ยวกับเรื่องบริจาคอาหาร คือ Feeding America ที่เป็นหัวเรือหลักในการขนอาหารที่เก็บไว้ในโกดังสินค้าของเรา ไปแจกจ่ายให้กับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารสำเร็จรูป หรือทำเป็นเซ็ตอาหาร หรือเป็นอาหารสด แจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย
สำหรับอาหารที่รับบริจาคนั้น เธออธิบายว่า ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุแล้ว แต่หมดอายุในที่นี้หมายถึงหมดในทางเทคนิค เพราะในสหรัฐฯบริษัทที่ผลิตอาหารต่าง ๆ จะเขียนวันหมดอายุไว้ล่วงหน้าประมาณ 3 เดือนถึง 2 ปี นั่นหมายความว่าอาหารเหล่านี้ปลอดภัย สามารถนำไปบริโภคได้ หรือบางครั้งมีผู้บริจาคเป็นเงินมา เราก็เอาไปซื้ออาหารสด หรืออาหารแห้งต่าง ๆ มาเก็บไว้ในโกดังของเรา
“สำหรับบริษัทที่บริจาคให้เราบ่อยครั้ง หรือบอกเราว่าจะให้เฉลี่ยเดือนละครั้ง หรือปีละครั้ง มีอย่างน้อยนับ 100 บริษัท ไม่มีเจ้าไหนผูกขาดอยู่เจ้าเดียว”
(สินค้ามะเขือเทศกระป๋องแบรนด์ดังในสหรัฐฯ ผู้บริจาคให้ Food Bank บ่อยครั้ง)
ผมถามเธอว่า ภาครัฐได้เข้ามาดูแลหรือแก้ไขปัญหากลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้หรือไม่ เพราะการให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรมาดำเนินการแบบนี้ มันค่อนข้างปลายเหตุ
เธอระบุว่า จากการหารือขององค์กรต่อเครือข่ายต่าง ๆ พบข้อเท็จจริงว่า อาหารที่บริจาคให้กลุ่มคนเหล่านั้น ไม่ได้เป็นการบริจาคตลอดชีพ แต่เป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เวลากลุ่มคนเหล่านั้นบริหารจัดการรายได้ที่ได้มาอย่างไม่เพียงพอ เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เราจำเป็นต้องช่วยเหลือ เพราะพวกเขาไม่สามารถมีรายได้เลี้ยงชีพตัวเองได้ ขณะเดียวกันภาครัฐมีนโยบายนำสินค้าเกษตรที่ล้นปริมาณการผลิตมาบริจาคให้เราเพื่อช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
(ห้องคัดแยกสิ่งของ เช่น ของแห้ง ของสด เพื่อบรรจุแพ็ก เตรียมกระจายให้เครือข่ายต่าง ๆ นำไปแจกจ่าย)
ประเด็นที่ผมสนใจเป็นอย่างมากคือเรื่องบรรษัทยักษ์ใหญ่บริจาคเงินให้เพื่อลดหย่อนภาษี ผมถามเธอไปตรง ๆ ว่า องค์กรลักษณะนี้ในประเทศไทย ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงว่า อาจมีบรรษัทบางแห่งใช้เป็นที่หลบเลี่ยงภาษี หรือฟอกเงินได้ Food Bank ได้มีการตรวจสอบเงินบริจาคที่ไหลเข้ามาหรือไม่ว่า มาจากไหน ได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่
เธอยิ้ม พยักหน้าเข้าใจ ก่อนตอบว่า องค์กรเรามีการว่าจ้างผู้สอบบัญชีที่ได้มาตรฐาน ดำเนินการตรวจสอบยอดเงินบริจาคว่า บริษัทไหนเป็นคนให้ เงินเหล่านั้นได้มาอย่างไร เพื่อความรัดกุมรอบคอบ ป้องกันปัญหาการคอร์รัปชั่นในภายหลังด้วย
แล้วพวกอภิมหาเศรษฐี-บรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เขาจะบริจาคเพื่อหวังผลอะไรกัน ?
เธอตอบได้น่าสนใจว่า นอกจากจะช่วยเรื่องการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังถือเป็นการโฆษณาบริษัท และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรอีกทางหนึ่งด้วย โดยแทบไม่ต้องลงทุนค่าเงินโฆษณาอะไรเลย
นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่น่าสนใจมากในสหรัฐฯ เพราะตั้งแต่ผมมาอยู่สหรัฐฯเข้าวันที่ 10 แล้ว ทั้งในวอชิงตัน ดี.ซี. นิวยอร์ค หรือแม้แต่ทัลซ่า ล้วนมี Homeless หรือคนไร้บ้าน รวมถึงกลุ่มคนที่มาขอเงินเพื่อนำไปซื้อข้าวกินตามถนนค่อนข้างมาก ไม่ต่างอะไรกับไทยนัก เพียงแต่ที่นี่มีระบบบริหารจัดการกลุ่มคนเหล่านี้ได้ดีกว่าไทยอย่างมาก เช่น องค์กร Food Bank ที่ผมเขียนมาข้างต้น
แต่ถ้าไทยจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สิ่งแรกที่ต้องทำไม่ใช่การบริหารจัดการเรื่องอาหาร แต่คือจะทำอย่างไรให้การบริจาคเงินรัดกุม โปร่งใส ป้องกันการเลี่ยงภาษี-ฟอกเงิน-คอร์รัปชั่น ที่ ‘ล่อตาล่อใจ’ พวก ‘หัวเหลี่ยมหัวใส’ มากเหลือเกิน ?
อ่านประกอบ :
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์