เครือข่ายต้านสารพิษยื่นนายกฯ แบนพาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส
เครือข่ายหนุนต้านสารพิษยื่น 4 ข้อ ถึง ‘ประยุทธ์’ แบนพาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส เตรียมรณรงค์ ปชช.ไม่ซื้อสินค้า
วันที่ 19 ก.ย. 2560 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง รวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายสาธิต พุทธิเสริม ผู้แทนสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการต่อทะเบียนและยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส รวมถึงจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
น.ส.ภาวิณี วัตถุสินธุ ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ กล่าวว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ ได้เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการดำเนินการ 4 ข้อ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีตัวแทนจาก 4 กระทรวงหลักเข้าร่วม ดังนี้
1) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย ไม่ต่ออายุใบอนุญาตแก่สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
2) ในระหว่างที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมยังมิได้ดำเนินการจัดประเภทให้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นการแบนสารทั้งสองชนิด ให้กรมวิชาการเกษตรอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพิ่มเติมเงื่อนไขลดจำนวนการนำเข้าสารทั้งสองชนิดลงเป็นลำดับ ตามกำหนดเวลา (Road map) ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ
3) สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยนำเอาข้อมูล เหตุผล และมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส จำกัดการใช้ไกลโฟเซตตามข้อเสนอโดยเร็ว
4) ในระหว่างที่การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่แล้วเสร็จ ให้มีการพิจารณาสั่งการในผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นห้ามหรือจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดตามความเหมาะสม เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน
ด้านน.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายที่ร่วมเคลื่อนไหววันนี้จะดำเนินการผลักดันต่อเนื่องให้มีการแบนสารพิษมีผล โดยอาจพิจารณารณรงค์ให้ประชาชนไม่ซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่สนับสนุนการใช้สารพิษดังกล่าว
ขณะที่นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์เกษตรกรรมและอาหารเชิงนิเวศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า 48 ประเทศทั่วโลก ได้มีการยกเลิกใช้พาราควอตแล้ว แม้แต่ประเทศอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตก็ประกาศยกเลิกการใช้แล้ว จึงไม่สมควรที่รัฐบาลไทยจะเอาใจกลุ่มธุรกิจสารเคมี โดยเอาสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศเข้าแลก การแบนสารเคมีเหล่านี้จะทำให้เป็นเกราะป้องกันความปลอดภัยของอาหารได้ดีขึ้น
อ่านประกอบ:เปิดตัวเลข 3 ปี ย้อนหลัง นำเข้าสารเคมีอันตราย พบ ‘ไกลโฟเซต’ สูงสุด มูลค่ารวม 1 หมื่นล.
องค์กรผู้บริโภคจี้ รมว.เกษตรฯ เพิกถอน ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ หลาย จว.เคลื่อนไหวหนุนแบน
กรมวิชาการเกษตรขอหารือ คกก.วัตถุอันตราย ก่อนเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’
เอ็นจีโอยกงานวิจัยโต้กลุ่มค้านยกเลิก ‘พาราควอต’ ยันมีพิษเฉียบพลัน ไม่มียาถอน
นักวิชาการชี้ “พาราควอต” มีอันตรายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ยันไม่ซึมผ่านผิวหนัง ยกเว้นมีแผล
ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงโต้ ยัน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' อันตราย จี้เพิกถอนพ้นทะเบียน
ขีดเส้น 1 เดือน กษ.เพิกถอนทะเบียน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์
สองมาตรฐาน ยูเอ็นประณามบริษัทสวิสฯ ส่งออกพาราควอตไปประเทศกำลังพัฒนา