ส่องเฟช-เกาะติด 25 คณาจารย์ไทย บินสัมมนา 'รถไฟเร็วสูง' 20 วันที่จีน (คลิป)
ส่องเฟซบุ๊ก เกาะติด 25 ชีวิต คณะบุคลากรไทย ไปฝึกอบรมเเละสัมมนา "รถไฟความเร็วสูง" ณ มหาวิทยาลัย Beijing Jiaotong กรุงปักกิ่ง กับ 20 วัน บนผืนเเผ่นดินจีน
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 23 มิ.ย. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เเถลงข่าวชี้เเจงโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางเเรก กรุงเทพ-นครราชสีมา มูลค่า 1.79 เเสนล้านบาท โดยยืนยันจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเเน่นอน เเละขณะนี้ได้ส่งบุคลากรไทยไปเรียนรู้ฝึกอบรมแล้ว 250 คน
ขณะที่สำนักงานสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุจะมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งหนึ่งในกระบวนการคือการส่งบุคลากรด้านระบบรางของไทยไปฝึกอบรม
ทั้งนี้ ได้พิจารณาคัดเลือกผู้แทนไทยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงานด้านระบบราง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ารับการฝึกอบรมและสัมมนาในหัวข้อ “2017 Seminar on Railway for Thai Lecture” จำนวน 25 คน ระหว่างวันที่ 17 มิ.ย.-6 ก.ค. 2560 ณ มหาวิทยาลัย Beijing Jiaotong กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
หนึ่งในนั้น มีดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมด้วย และการจัดสัมมนาในครั้งนี้ฝ่ายจีนยังเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ฝ่ายไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายดังกล่าว ไม่ได้นำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน แต่อย่างใด
(อ่านประกอบ:สนข.ยันจีนเปิดคอร์สอบรมรถไฟเร็วสูงให้บุคลากรไทยฟรี)
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจสงสัยว่า นอกจาก ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน์ แล้ว ยังมีบุคลากรไทยคนใดที่เดินทางไปครั้งนี้อีกบ้าง และมีกิจกรรมการฝึกอบรมและสัมมนาอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมมานำเสนอ
โดยพบว่า บุคลากรไทยที่เดินทางไปฝึกอบรมและสัมมนาครั้งนี้ ต่างพากันโพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพและวิดีโอระหว่างฝึกอบรมและสัมมนา ยกตัวอย่าง
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Theerapong Wanwong ตำแหน่งวิศวกร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้โพสต์รูปภาพคณะบุคลากรไทย 25 คน ในมหาวิทยาลัย Beijing Jiaotong กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และในห้องสัมมนา พร้อมข้อความว่า Seminar on Railway เริ่มเรียนได้ ในวันที่ 17 มิ.ย.
ขณะที่วันที่ 21 มิ.ย. ได้ศึกษาดูงานที่ Exhibition hall : History of China's Railway ซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดระบบรางครั้งแรกในโลกและครั้งแรกในจีน โดยมีนายจางเทียนโยว เป็นผู้นำระบบรางเข้ามา และภายหลังได้รับการยกย่องเป็นบิดาด้านระบบรางของจีน
นอกจากนี้ยังเข้าเยี่ยมชม Lab civil ของ BJTU เกี่ยวกับแลปการวิเคราะห์และประเมินผลการทำงานหน้างานที่เกี่ยวกับกับ Track work ทั้งหมด
ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย. ได้ร่วมทดลองแบบจำลองการขับรถในจีน ล่าสุด 25 มิ.ย. ได้ฝึกอบรมรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่เช้าจรดเย็น เป็นต้น
ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Sutus Khamsawat ได้โพสต์กิจกรรมการฝึกอบรมและสัมมนามากมาย หนึ่งในนั้นคือคลิปวิดีโอการสอนขับรถไฟความเร็วสูง
ขณะที่ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพการสอนขับรถไฟความเร็วสูงว่า “คลิปวิดีโอที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการสัมมนาพิเศษ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลจีนเชิญผู้แทนจากประเทศไทยไปศึกษาดูงาน ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเทคโนโลยี”
อย่างไรก็ตาม ยังแสดงความเป็นห่วง หากจะต้องมีกระบวนการฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟความเร็วสูงของไทย โดยผู้ฝึกสอนชาวจีน สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการ คือ ฝึกภาษาจีนมาก่อน เพราะการใช้ล่ามแปลจะไม่สามารถสื่อสารศัพท์เทคนิคทางวิศวกรรมรถไฟได้ทั้งหมด
"การมีโอกาสได้มาสัมผัสบรรยากาศศูนย์ฝึกอบรมเทคนิครถไฟฟ้าความเร็วสูงที่หวู่ฮั่น (Wuhan) ทำให้ผมรู้สึกย้อนไปในอดีตราว 20 ปีที่แล้ว เมื่อถูกส่งไปเข้ารับการอบรมทักษะด้าน PLC pneumatic และ hydraulic ที่ศูนย์ฝึกอบรม TGI (Thai-German Institute) ในนิคมอุตสาหกรรมอมตนคร วิชาละ 1 สัปดาห์ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการฝึกอบรมที่ดี จนทำให้ผมสามารถร่วมมือกับคณาจารย์ท่านอื่นๆ ที่จุฬาฯ พัฒนารายวิชาเกี่ยวกับ Automation ขึ้นมาได้
เราต่อยอดความรู้ที่ได้เรียนจาก TGI ด้วยการพัฒนาชุดฝึกไว้สอนนิสิตของเราเอง
น่าเสียดายว่าหลังจากผมเดินทางไปศึกษาต่อ และอาจารย์ที่เป็นต้นคิดถึงแก่กรรมไป รายวิชานี้ก็ค่อยๆ ลดระดับความสำคัญลง จากวิชาบังคับ กลายเป็นวิชาเลือกเพื่อพัฒนาทักษะช่างฝีมือ และวิศวกรชาวไทย หากจะต้องทำโครงการไทย-จีน เราควรจะต้องไปไกลถึงการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรม รวมทั้งการมีระบบรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนเราสามารถพัฒนาชุดฝึกต่อยอดได้เองด้วย
ระบบ driving simulator เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่ดีที่ต้องไม่เพียงซื้อเข้ามาใช้งาน หากแต่ต้องส่งเสริมให้วิศวกรไทยพัฒนาขึ้นเองด้วย
ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยในไทย เช่น ที่พระนครเหนือ และลาดกระบัง รวมถึงเอกชนไทย (ผมเคยแวะไปดู) มีโครงการพัฒนาแบบจำลองที่ว่า แม้อาจจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ควรได้รับโอกาสนี้ในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการลงทุนของรัฐในครั้งนี้ ช่างและวิศวกรไทยทำได้ ถ้ารัฐบาลให้การส่งเสริม"
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า “2017 Seminar on Railway for Thai Lecture” อาจไม่ใช่การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เเก่ไทย อย่างที่ รมว.คมนาคม เเละสนข.เเถลง เนื่องจากมีบุคลากรอีกหลายประเทศ เช่น กัมพูชา เข้าร่วมในกิจกรรมแบบนี้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย .
อ่านประกอบ:รถไฟความเร็วสูง กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี "ชัวร์" หรือ "มั่วนิ่ม"
รัฐส่งบุคลากร 250 คน อบรมรถไฟเร็วสูงที่จีน -ไม่เปิดเผยรายชื่อ ‘ปลัด คค.’ อ้างไม่เหมาะสม
เรียบร้อยโรงเรียนจีน รถไฟความเร็วสูงกับคำสั่ง ม.44
วสท. แนะรถไฟเร็วสูงไทย-จีน ต้องคำนึง ศก.ยั่งยืน ไม่เฉพาะรายได้จากค่าโดยสาร
สภาวิศวกร-สถาปนิก เเถลงร่วม ยัน "จีน" ต้องผ่านอบรม ก่อนลุยรถไฟเร็วสูง
เลี่ยงจุดบอดลงทุนรถไฟเร็วสูง สภาคณบดีวิศวะ จี้รัฐให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยี - ดึงมหาวิทยาลัยร่วม
ขอให้ทบทวน มาตรา 44 ในการโครงการรถไฟไทยจีน-ผลเสียหายต่อประเทศไทย
ข้อสังเกตการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - นครราชสีมา
งัด ม.44 เร่งรัดรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช-วสท.หวั่นใช้วิศวกรจีน เสี่ยงความปลอดภัย