'ชาติศิริ-วิโรจน์' ไม่เข้าประชุม!เปิดชื่อบอร์ดบินไทยซื้อ'B777-A340' ช่วงสินบนก้อน3
เปิดครบรายชื่อบอร์ดการบินไทย อนุมัติซื้อ'B777-A340' 8 ลำ ตรงเป๊ะผลสอบSFO ช่วงสินบนก้อน3 ยุค'ทนง -กนก' เผย 'ชาติศิริ-วิโรจน์' ติดภารกิจไม่เข้าประชุม!
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เนื้อหาในการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ครั้งที่ 8 /2547 วันที่ 25 ส.ค.2547 ในยุคที่ นายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทการบินไทย ส่วนนายกนก อภิรดี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ที่มีการอนุมัติดำเนินการจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน โบอิ้ง B777 -200ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงิน 96,355 ล้านบาท
ปรากฎข้อมูลบางส่วนที่ตรงกับเนื้อหาในผลการสอบสวนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ช่วงการจ่ายสินบนก้อนที่ 3 วงเงิน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 254 ล้านบาท) ในระหว่าง 1 เม.ย. 2547-28ก.พ. 2548 ซึ่งโรลส์-รอยซ์จ่ายเงินให้กับคนกลาง ซึ่งมีเงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทยด้วย
โดยเฉพาะข้อมูลการอนุมัติจัดซื้อโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส A340 จำนวน 2 ลำ นั้น
(อ่านประกอบ : ตรงเป๊ะผลสอบSFO!บันทึกบินไทย(3)ซื้อ 'B777-A340' 8 ลำ ยุค'ทนง -กนก'!)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ครั้งที่ 8 /2547 วันที่ 25 ส.ค.2547 ดังกล่าว พบว่า มีรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 13 ราย ดังนี้
1. นายทนง พิทยะ ประธานกรรมการ
2. นายศรีสุข จันทรางศุ รองประธานกรรมการ
3. นายสมใจนึก เองตระกูล รองประธานกรรมการ
4. พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา กรรมการ
5. นายชัยอนันต์ สมุทวณิช กรรมการ
6. นายถิรชัย วุฒิธรรม กรรมการ
7. นายธัชชัย สุมิตร กรรมการ
8. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการ
9. นายวิชิต สุรพงษ์ชัย กรรมการ
10. พลตำรวจเอก สันต์ ศรุตานนท์ กรรมการ
11. ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุชัย เจริญรัตนกุล
12. นายโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการ
13 นายกนก อภิรดี กรรมการ
ผู้ไม่มาประชุม ได้แก่
1. นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการ (ติดภารกิจ)
2. นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการ (ติดภารกิจ) (อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทยปัจจุบันถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาโทษจำคุก 18 ปี ฐานอนุมัติสินเชื่อกว่า 8,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทในเครือกฤษฎามหานคร ที่นำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว)
สำหรับรายละเอียดการพิจารณาเรื่องนี้ อยู่ในวาระที่ 3.2 เรื่อง แผนเส้นทางบินและฝูงบินระยะยาว (2548/49-2552/53)
โดยเรื่องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เพื่อให้ความเห็นชอบให้บริษัทการบินไทยฯ ดำเนินการดังนี้
1. จัดหาเครื่องบิน A380 จำนวน 6 ลำ , เครื่องบิน A340-500 จำนวน 1 ลำ , เครื่องบิน A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท ในระหว่างปี 2547/48-2552/53 และดำเนินงานตามแผนการเงินและแผนเงินกู้ตามที่บริษัทการบินไทยฯ เสนอ
2. อนุมัติให้บริษัทการบินไทยฯ ลงนาม Memorandum of understanding (M.O.U) เพื่อสั่งซื้อเครื่องบิน A 380 จำนวน 6 ลำ , เครื่องบิน A 340 -500 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน A340-600 จำนวน 1 ลำ กับบริษัท แอร์บัส โดยมีเงื่อนไขผลบังคับใช้เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งชำระเงินมัดจำเครื่องบินเรียกคืนได้ สำหรับ A380 จำนวน 6 ลำ ๆ ละ 500,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมเป็นเงิน 3,000,000 เหรียญสหรัฐฯ และสำหรับ A340-500/600 จำนวน 2 ลำๆ ละ 300,000 เหรียญสหรัฐ รวมเป็นเงิน 600,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,600,000 เหรียญสหรัฐฯ ภายใน 3 วันทำการ หลังลงนามใน M.O.U
3. ลงนาม Letter of Intent (L.O.I) เพื่อสั่งซื้อเครื่องบิน B777-200 ER จำนวน 6 ลำ กับบริษัท โบอิ้ง โดยมีเงื่อนไขผลบังคับใช้เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทและคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งชำระเงินมัดจำเครื่องบินเรียกคืนได้ จำนวนลำละ 200,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมเป็นเงิน 1,200,000 เหรียญสหรัญฯ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2547
ขณะที่ในผลการสอบสวนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ระบุว่า
- 28 กรกฏาคม 2547 บอร์ดการบินไทย ตัดสินใจซื้อโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส A340 จำนวน2 ลำ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า โดยที่ทางการบินไทยเลือกใช้เครื่องยนต์ของบริษัท RR สำหรับเครื่องโบอิ้ง ส่วนเครื่องแอร์บัสนั้นใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น T500 อยู่เเล้ว (sole-source)
- อย่างไรก็ตาม ในจดหมายเดือนสิงหาคม 2547 มีบันทึกถึงการทำข้อตกลง การจ่ายค่าคอมมิสชั่น (commission levels) ระหว่าง นายหน้าส่วนภูมิภาค ลูกจ้างของบริษัท RR และพนักงานอาวุโสของบริษัท RR
- ปลายเดือนกันยายน 2547 บอร์ดการบินไทยยืนยันการจัดซื้อล่วงหน้าเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 5 เครื่อง สำหรับใช้กับเครื่องแอร์บัส A340 และ T800 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับ โบอิ้ง B777
-13 ตุลาคม 2547 มีบันทึกถึงพนักงานอาวุโสของบริษัท RR เสนอที่จะจ่ายค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่นจากการจัดซื้อเครื่องยนต์รุ่น T800 ให้กับนายหน้า 3 เป็น 4% และในส่วนของนายหน้าส่วนภูมิภาครับ 2%
-15 ตุลาคม 2547 มีบันทึกส่งถึงพนักงานอาวุโสและผู้ดูเเลจัดการสั่งซื้อ แสดงถึงข้อกังวลจากสิ่งที่ทางนายหน้าส่วนภูมิภาคเรียกร้อง บันทึกระบุชัดเจนว่า
...ข้อเสนอส่วนแบ่งจำนวน 6% จากยอดสั่งซื้อทั้งหมดของเครื่องยนต์รุ่น T800 ที่จะแบ่งให้กับตัวกลางสองคน รวมไปถึงค่าคอมมิสชั่นเพิ่มเติมในการซื้อสัญญาTCA อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิสชั่นที่เพิ่มเข้ามานั้น ทางพนักงานอาวุโสคนหนึ่งได้ทาบทามพนักงานอาวุโสอีกคนให้ติดต่อ สื่อสารเรื่องดังกล่าวไปนายหน้าภูมิภาค
- มีจดหมายแนบลงวันที่ 22 ตุลาคม 2547 ตกลงการจ่ายสินบนให้แก่นายหน้า3 เป็นจำนวน 2% จากการค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่นของการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งค่าคอมมิสชั่นครั้งนี้ถูกแบ่งเป็นสองงวด (payable in two parts)
- อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีข้อตกลงการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองทั้งหมด 7 เครื่อง แต่ไม่ได้มีการจัดซื้อดังกล่าวในทันทีในล็อตเดียว โดยที่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น มีการซื้อขายเครื่องยนต์ในรุ่น T500 จำนวนสองเครื่อง หลังจากนั้นจึงมีการสั่งซื้อเครื่องยนต์สำรองเพิ่มอีกห้าเครื่องจากฝั่งไทย ซึ่งเป็นการตัดสินใจในช่วงหนึ่งเดือนก่อนที่จะมีข้อตกลงจ่ายค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น ซึ่งค่าคอมมิสชั่นดังกล่าวถูกระบุว่า เป็นเงินซื้อขายเครื่องยนต์สำรองทั้ง 7 (seven spare engines)
- ค่าคอมมิสชั่นของนายหน้า3 จากการสั่งซื้อเครื่องยนต์รุ่น T800 แบ่งจ่ายเป็นทั้งหมด 3 ช่วง ใช้เวลา 7- 10 เดือน โดยที่สองครั้งแรกเกิดขึ้นทันทีภายใน 1-2 เดือน หลังจากรัฐบาลไทยอมุมัติการสั่งซื้อ และงวดสุดท้ายถูกจ่ายถัดจากนั้นอีก 6 เดือน
- มีการประชุมในวันที่ 11 พฤจิกายน 2547 โดยที่ทางนายหน้าส่วนภูมิภาคแสดงความผิดหวังในการจ่ายเงินค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น โดยเขาระบุว่า เขาต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อให้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวด้วยตัวเขาเอง
-ทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาคและนายหน้า 3 เรียกร้องให้มีการจ่ายค่าคอมมิสชั่นล่วงหน้า (up front) ตามการสั่งซื้อเครื่องยนต์ T800 และ T500 (spare engines) ซึ่งการยื่นคำร้องครั้งนี้จำเป็นต้องรอให้ทางพนักงานอาวุโสของบริษัท RR เป็นคนอนุมัติ
- มีจดหมายส่งต่อมายังนายหน้า 3 โดยตกลงจ่ายค่าคอมมิสชั่นใน 3ส่วน ภายใน 7 มกราคม 2548 โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และอีกส่วนนั้นยังคงรอให้มีการส่งมอบเครื่องบินให้เสร็จสิ้นก่อน จดหมายทำนองเดียวกันอีกฉบับหนึ่งระบุด้วยว่า ส่วนแบ่ง 2% ของการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จะให้มีการจ่ายในวันเดียวกัน
-จดหมายภายในบริษัทRR ฉบับลงวันที่ 19 พฤจิกายน 2547 บันทึกการประชุมซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง นายหน้า 3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค และคนในรัฐบาลไทย (the Thai Government) ซึ่งระบุบรรยากาศการประชุมครั้งนั้นว่า
“ช่างเป็นการประชุมที่ดีเหลือเกิน การจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A340 และ โบอิ้ง 777 กำลังอยู่ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤจิกายนนี้ (2547)”
-อีเมล์ฉบับเดียวกันยังพูดถึงเรื่องข้อตกลงค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น โดยที่นายหน้า3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค ได้ปฏิเสธข้อเสนอของบริษัท RR โดยทั้งสองยื่นข้อเสนอใหม่ว่า
“ต้องการส่วนแบ่งเป็น 4% จากการอนุมัติของรัฐบาลในครั้งนี้ ลงวันที่ ธันวาคม 2547” ("4% on Government approval, i.e. Dec 04".)
-มีการบันทึกว่า นายหน้าส่วนภูมิภาค ได้ข่มขู่ว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับเวลาในการชำระเงินไปบอกแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสของ RR ซึ่งต่อมาในวันเดียวกัน อีเมล์ภายในของ RR ได้มีการบันทึกไว้ว่า
“พวกเราคิดว่าจำนวนเงินทั้งหมด 4% (ของบริษัท A ที่เป็น คนกลาง 3) ได้โอนไปยัง... หรือเปล่า? ฉันคาดว่าไม่น่าจะโอนไปทั้งหมด”
-วันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ได้มีจดหมายอีกฉบับถูกส่งไปให้กับ นายหน้า 3 เพื่อเสนอที่จะจ่ายเงินทั้งหมด ยกเว้น 12.5% จากค่าคอมมิสชั่นที่จ่ายในวันที่ 7 มกราคม 2548 ทั้งนี้ เชื่อว่า (assume) รัฐบาลไทยอนุมัติแล้ว
-วันถัดมา (23 พฤศจิกายน 2547 ) เมื่อ คณะรัฐมนตรีของไทย (the Cabinet of the Government of Thailand) มีกำหนดที่ประชุม ได้มีจดหมายฉบับสุดท้ายส่งถึงนายหน้า 3 ซึ่งระบุว่าจะจ่ายค่าคอมมิสชั่น T 800 เต็มจำนวนในวันที่ 7 มกราคม 2548 ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลไทยได้ทำการอนุมัติแล้วเช่นกัน
-วันที่ 4 ธันวาคม 2547 อีเมล์ภายในของ RR ฉบับหนึ่งระบุว่า คำสั่งซื้อ/ออเดอร์ของการบินไทย ได้รับการอนุมัติแล้ว
"มีสายตรงระหว่าง (รัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลไทยกับพนักงานการบินไทย) เป็นไปด้วยดี ทางสายการบินยังไม่ได้รับทราบข่าวดีใดๆ และยังไม่มีท่าทีแน่ชัดถึงการเซ็นสัญญา POs (นายหน้า 3รวมทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาค ) ได้รับคำมั่นสัญญา จากรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทย ซึ่งพวกเขาได้พบก่อนหน้านี้ ว่าจะเรื่องราวดังกล่าวจะถูกไล่เรียงความชัดเจนภายในวันรุ่งขึ้น"
"Calls between [certain Thai Government ministers and a Thai Airways employee] yada, allpositive. Airline still not heard the good word yet and not clear if POs signed. [Intermediary 3 and the Regional Intermediary] have commitment from [the Thai Government deputy minister whom they had met] that it will be sorted by tomorrow."
- อย่างไรก็ตาม นายหน้า 3 ได้เรียกร้องให้ชำระค่าคอมมิสชั่น T800 จำนวนครึ่งหนึ่งภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2547 ซึ่งอีเมล์ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2547 ลงท้ายว่า
“- นายหน้าส่วนภูมิภาค กับ คนกลาง 3 ได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำด้วยกันในวันที่ 18 ธันวาคม กับรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทยคนหนึ่งที่เคยพบกันมาก่อน และถ้าเป็นอย่างนั้น นายหน้าส่วนภูมิภาคอาจตัดสินใจกะทันหันเพื่อสนับสนุนคำขอของนายหน้า 3 ก็ได้”[ ] “พวกเราควรทำตามข้อเสนอ คิดเห็นว่ายังไง?”
"WARNING:-[the Regional Intermediary and Intermediary 3] have dinner with [the Thai Government deputy minister whom they had met] on 18th Dec and hence [the Regional Intermediary] may suddenly decide to support [Intermediary 3]'s request." […] "we should be firm in my view. Comments?"
ขณะที่จากการสืบค้นมติการประชุม ครม.ย้อนหลัง ของสำนักข่าวอิศรา พบว่า ในการประชุมครม. วันที่ 23 พ.ย.2547 มีวาระการพิจารณาโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2548/49 -2552/53 ของบริษัทการบินไทย ของกระทรวงคมนาคม (ข้อมูลตรงกับบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทยฯ และผลการสอบสวน SFO) ลงนามโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ลงนามในเอกสารเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม. มีสาระสำคัญอยู่ที่การขออนุมัติดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 -2552/53 จำนวน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่มาก แบบ A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ แบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท โดยจะลงทุนในปี 2547/2548 จำนวน 7,818 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการนำเสนอครม.ขออนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2548/49 -2552/53 จำนวน 14 ลำ ดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากมติ ครม. เดิม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 ที่ให้ การบินไทย ดำเนินโครงการจัดซื้อเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2545/2546-2549/2550 เพื่อจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม จำนวน 15 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินใช้แล้ว แบบ B747-400 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ จำนวน 7 ลำ เครื่องบิน แบบ A340-500 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบA340-600 จำนวน 5 ลำ แต่การบินไทยไม่สามารถรับมอบเครื่องบินใช้แล้วแบบ B747-400 จำนวน 7 ลำ ทำให้การบินไทย ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตในปี 2546/2547 -2547/2548 การบินไทย จึงได้เลื่อนการรับมอบเครื่องบิน แบบ A340-500/600 ให้เร็วขึ้น และปรับปรุงแผนวิสาหกิจฉบับเดิม (ปี 2545/46-2549/50)เป็นแผนวิสาหกิจฉบับใหม่ ปี 2548/49 -2552/53 ตามที่นำเสนอครม. เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547
จึงเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 -2552/53 จำนวน 14 ลำ ดังกล่าว ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่มาก แบบ A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ แบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท ดังกล่าว
โดบผลการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547 มีมติอนุมัติหลักการให้การบินไทย ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี พ.ศ. 2548/49-2552/53 ของการบินไทย จำนวน 14 ลำ วงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาท และดำเนินงานตามแผนการเงินและแผนเงินกู้ของการบินไทย ส่วนการจัดทำข้อตกลง หรือลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบิน ให้การบินไทยรายงานความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าวและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในผลการสอบสอนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ระบุว่า การจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777 ครั้งที่สามของสายการบินไทย ได้เริ่มหารือตั้งแต่ต้นปี 2539 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปจนกระทั่งปลายปี 2547 ซึ่งในขณะนั้น บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยืนยันว่า มีงบประมาณเพียงพอสำหรับจ่ายให้นายหน้าในภูมิภาคและนายหน้า 3 ทั้งนี้ บริษัทได้ติดสินบนเงินจำนวนหนึ่งเพื่อจูงใจให้สายการบินไทยซื้อเครื่องบินพร้อมเครื่องยนต์รุ่นT-800 เพิ่มเติมจากเดิม ส่วนแบ่งของเงินจำนวนนี้ได้ส่งต่อไปยัง คนในรัฐบาลไทย และมีการระบุถึงการนำเรื่องเข้าเสนอที่ประชุมครม. ในวันที่ 23 พ.ย.2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายสุริยะ ดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม และเป็นผู้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม ส่วนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ในช่วงเวลาดังกล่าว คือ นายกนก อภิรดี (2545-2549) นายทนง พิทยะ เป็น ประธานบอร์ด ตั้งแต่ช่วงมิ.ย. 2545 - มี.ค. 2548
อย่างไรก็ตาม ในรายงานการสอบสวนมิได้มีการระบุชื่อ ของนายสุริยะ นายกนก นายทนง รวมถึงคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ว่าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของสินบนหรือไม่ และบุคคลทั้งหมดยังไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้
(อ่านประกอบ : หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ, เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง)
อ่านประกอบ :
เจอแล้ว!ปตท.จัดซื้อ ‘โรลส์รอยซ์’ 7 สัญญารวด 254.5 ล. ช่วง 3 ปี- บ.คนไทยเอี่ยว
ถก ยธ.สหรัฐฯสัปดาห์หน้า-ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานทางการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
สั่งคมนาคมเร่งสอบสินบนโรลส์-รอยซ์! ‘บิ๊กตู่’ย้อนหาว่า รบ.โกง ไหนคดีในศาล
ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"
แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ)
หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ
เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง
ได้ชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตั้งอนุฯสอบทันที! ป.ป.ช.ขีดเส้น ‘บินไทย-ปตท.’ต้องส่งข้อมูลสัปดาห์นี้
จำกัดประเภทเครื่องยนต์!เปิดมติ ครม. ยุค รสช.ไฟเขียวซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม
เทียบชัดๆ บันทึกการบินไทย-ผลสอบSFO จุดเริ่มต้นสินบนโรลส์รอยส์ก้อนแรก?
บันทึกลับบินไทยชิ้น2 อนุมัติเปลี่ยนรุ่นโรลส์รอยส์ T-875 ช่วงรอยต่อสินบนก้อน1-2
บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
ตรงเป๊ะผลสอบSFO!บันทึกบินไทย(3)ซื้อ 'B777-A340' 8 ลำ ยุค'ทนง -กนก'!