ตรงเป๊ะผลสอบSFO!บันทึกบินไทย(3)ซื้อ 'B777-A340' 8 ลำ ยุค'ทนง -กนก'!
เปิดบันทึกประชุมลับการบินไทย หลักฐานมัดจัดซื้อ B777 -A340 จำนวน 8 ลำ ตรงผลสอบ SFO ช่วงสินบนก้อน3 ยุค'ทนง -กนก'!
ในการตรวจสอบข้อมูลบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีเนื้อหาสารสำคัญสอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฎผลการสอบสวนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการจ่ายสินบนของ บริษัท โรลส์รอยส์ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย เพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือการจัดซื้อเครื่องยนต์ที่ติดตั้งในเครื่องบิน
นอกเหนือจากการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบิน B777 จำนวน 8 ลำ โดยให้ใช้เครื่องยนต์ Rolls-Royce กับเครื่องบินดังกล่าวทั้ง 8 ลำ ของบริษัทการบินไทย ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาปี 2534-2535 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ประเทศอังกฤษ ตรวจสอบพบว่า บริษัท โรลส์รอยส์ มีการจ่ายเงินสินบน ก้อนแรก จำนวน 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 663 ล้านบาท) ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534-30 มิ.ย. 2535 (ในช่วงปี 2534-2535) เพื่อช่วยเหลือให้โรลส์-รอยซ์ ชนะการเสนอขายเครื่องยนต์ให้กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเงินสินบน ดังกล่าวถูกระบุว่ามีการนำไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย
ซึ่งปรากฎข้อมูลตรงกับบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 2 ครั้ง คือ การประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่8/2534 ลงวันที่ 30 ส.ค.2534 และ ครั้งที่ 4/2535 ลงวันที่ 24 เม.ย.2535 ที่มีการประชุมหารือเรื่องการอนุมัติจัดซื้อเครื่องยนต์ จากโรลส์รอยส์ และ การซื้อเครื่องบินเพิ่ม จาก 6 ลำ เป็น 8 ลำ ตามที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม)
เนื้อหาในการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ครั้งที่ 8 /2547 วันที่ 25 ส.ค.2547 ที่มีการอนุมัติดำเนินการจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบล่าสุด ก็มีข้อมูลบางส่วนที่ตรงกับเนื้อในผลการสอบสวนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ช่วงการจ่ายสินบนก้อนที่ 3 วงเงิน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 254 ล้านบาท) ในระหว่าง 1 เม.ย. 2547-28ก.พ. 2548 ซึ่งโรลส์-รอยซ์จ่ายเงินให้กับคนกลาง ซึ่งมีเงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทยด้วย
ทั้งนี้ ในรายงานการสอบสวนของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ปรากฎข้อเท็จจริงดังนี้
- การจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777 ครั้งที่สาม ของสายการบินไทย ได้เริ่มหารือตั้งแต่ต้นปี 2539 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปจนกระทั่งปลายปี 2547 ซึ่งในขณะนั้น บริษัทRR ยืนยันว่า มีงบประมาณเพียงพอสำหรับจ่ายให้นายหน้าในภูมิภาคและนายหน้า 3 ทั้งนี้ บริษัทได้ติดสินบนเงินจำนวนหนึ่งเพื่อจูงใจให้สายการบินไทยซื้อเครื่องบินพร้อมเครื่องยนต์รุ่นT800 เพิ่มเติมจากเดิม ส่วนแบ่งของเงินจำนวนนี้ได้ส่งต่อไปยัง คนในรัฐบาลไทย
- เมษายน 2547 อีเมล์ภายในของบริษัท RR ระบุว่า นายหน้าในภูมิภาคปฎิเสธค่าคอมมิสชั่น ที่บริษัทRR เสนอในการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777 และจะขอหารือกับพนักงานชั้นผู้ใหญ่ของบริษัท RR โดยตรง
- ทางนายหน้าในภูมิภาค ยื่นขอค่าคอมมิสชั่นเพิ่มเติมอีก 4% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 5 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อลำ ซึ่งทั้งนี้จะส่งผลให้มูลค่ารวมตลอดทั้งสัญญาเพิ่มถึง 8% ซึ่งถือว่า เกินกว่างบประมาณภายในของค่าคอมมิสชั่นสำหรับนายหน้า
- มีบันทึกข้อความส่งถึงพนักงานอาวุโสของบริษัทRR ระบุว่า:
“ส่วนต่างค่าคอมมิสชั่นในซื้อขายครั้งก่อนของสายการบินไทยได้ชำระเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นสองเท่าจากที่มีการเรียกร้องมา ยิ่งไปกว่านั้น ยังขัดกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำการค้าขององค์กรรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงระเบียบการใหม่ที่กำหนดไว้ การเจรจาทางการค้าที่ตกลงไว้ มีเงินทดรอง (margin) ไม่พอจ่ายให้กับข้อเรียกร้องดังกล่าว”
- พฤษภาคม 2547 บริษัทRR ส่งจดหมายชี้แจงรายละเอียดค่าคอมมิสชั่นครั้งใหม่ไปยังนายหน้าส่วนภูมิภาค ซึ่งค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าที่นายหน้าส่วนภูมิภาคร้องขอ ทั้งยังเพิ่มเงื่อนไขในส่วนของค่าคอมมิสชั่น โดยให้ทางการบินไทยตกลงให้บริษัท RR ดูเเล ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ( Total Care Agreement (“TCA”)) ตามข้อตกลงในสัญญา TCA ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวโดยขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินของเครื่องยนต์ โดยการขายสัญญาดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่บริษัทRRให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
- นอกจากนี้ ในจดหมายฉบับเดิมยังระบุไว้ว่า นายหน้าส่วนภูมิภาคอาจขอความร่วมมือไปยังนายหน้า3ด้วย
- ในเดือนมิถุนายน 2547 หลังจากการประชุมกับนายหน้าส่วนภูมิภาค บริษัทRR ได้ส่งจดหมายภายในซึ่งมีใจความว่า :
“[นายหน้าส่วนภูมิภาค] กล่าวว่า บริษัทRRมาถึงทางตันด้านการค้า กับสายการบินไทยแล้ว จากกรณีการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777 จำนวน 6 ลำ นอกจากนี้ ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า สายการบินไทย จะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ให้กับข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่องกับ TCA, และ [นายหน้าส่วนภูมิภาคบริษัท B][นายหน้า 3 บริษัท A] ทั้งนี้ การจ่ายค่าคอมมิสชั่นไม่เกี่ยวข้องกับ TCA, อย่างไรก็ดี ทางพนักงานอาวุโสของบริษัทRR ก็ยังคงยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนแปลง ข้อเสนอ ที่ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้"
- ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการส่งบันทึกข้อความไปยังพนักงานชั้นผู้ใหญ่ของบริษัทRR โดยระบุไว้ในย่อหน้าที่100 ว่า ไม่เคยมีการอนุมัติค่าคอมมิสชั่นสำหรับนายหน้าส่วนภูมิภาคและนายหน้า 3 ดังรายละเอียดต่อไปนี้ :
“[นายหน้าส่วนภูมิภาค] แนะนำว่า หากค่าคอมมิสชั่นของเครื่องยนต์ต่ำกว่า 8%ของมูลค่าสุทธิของรายได้การขาย(รวมกับ TCA)นั้น อาจมีแนวโน้มความเสี่ยงสูงว่า สายการบินจะเลือกซื้อ เครื่องบินแอร์บัส A330 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ของบริษัท PW (PW/A330's) แทนการใช้โบอิ้ง B777 เครื่องยนต์ RR (RR/777's)
อย่างไรก็ตามสายการบินมิได้ตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว ในขณะที่ นายหน้าส่วนภูมิภาคก็ปฏิเสธข้อเสนอของสายการบินเช่นกัน ทั้งนี้ ข้อสรุปรวมสุดท้ายที่แจ้งไว้ในจดหมายคือ สายการบิน กำลังอยู่ในกระบวนการหารือเลือกซื้อเครื่องยนต์ RR/777s หรือ RR/A340s”.
- กลางเดือนกรกฏาคม 2547 นายหน้าส่วนภูมิภาค เขียนบันทึกการพูดคุย เรื่องจำนวนเงินที่ทางบริษัทเสนอให้
- 28 กรกฏาคม 2547 บอร์ดการบินไทย ตัดสินใจซื้อโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส A340 จำนวน2 ลำ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า โดยที่ทางการบินไทยเลือกใช้เครื่องยนต์ของบริษัท RR สำหรับเครื่องโบอิ้ง ส่วนเครื่องแอร์บัสนั้นใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น T500 อยู่เเล้ว (sole-source)
- อย่างไรก็ตาม ในจดหมายเดือนสิงหาคม 2547 มีบันทึกถึงการทำข้อตกลง การจ่ายค่าคอมมิสชั่น (commission levels) ระหว่าง นายหน้าส่วนภูมิภาค ลูกจ้างของบริษัท RR และพนักงานอาวุโสของบริษัท RR
- ปลายเดือนกันยายน 2547 บอร์ดการบินไทยยืนยันการจัดซื้อล่วงหน้าเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 5 เครื่อง สำหรับใช้กับเครื่องแอร์บัส A340 และ T800 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับ โบอิ้ง B777
(อ่านประกอบ : แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ))
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ครั้งที่ 8/2547 ลงวันที่ 25 ส.ค.2547 ที่ประชุม เห็นชอบให้บริษัทการบินไทย ดำเนินการดังนี้
1. จัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน โบอิ้ง B777 -200ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงิน 96,355 ล้านบาท และดำเนินงานตามแผนการเงินและแผนเงินกู้ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ
2. อนุมัติให้บริษัทการบินไทย ลงนามในสัญญาMemorandum of understanding (M.O.U) เพื่อสั่งซื้อเครื่องบินจำนวน 8 ลำ กับบริษัทแอร์บัส พร้อมทั้งชำระเงินมัดจำเครื่องบิน โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทฯ สามารถเรียกเงินมัดจำเครื่องบินดังกล่าวคืนได้ถ้าบริษัทฯ ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ครั้งที่ 8/2547 ลงวันที่ 25 ส.ค.2547 มีระบุว่า ถึงจำนวนการจัดซื้อโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส A340 จำนวน 2 ลำ ตรงกับที่ปรากฎในผลการสอบของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO)
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทยครั้งนี้ อยู่ในยุคที่ นายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทการบินไทย ส่วนนายกนก อภิรดี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในรายงานการสอบสวนของ SFO ยังไม่ได้มีการระบุว่าใครเป็นผู้รับสินบนจากโรลส์รอยส์ นายทนง พิทยะ นายกนก อภิรดี รวมถึงบุคคลที่ปรากฎรายชื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการการบินไทยฯ ทุกคน จึงยังไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ในช่วงเที่ยงวันที่ 24 ม.ค.2560 นายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ช่วงปี 2545-2549 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นช่วงที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้กับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 จำนวน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 254 ล้านบาท) ได้เดินทางมาออกรายการโต๊ะข่าวเที่ยง ทางช่อง NEW) tv เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการจ่ายสินบนดังกล่าว
โดย นายกนก อภิรดี กล่าวถึงสาเหตุที่มาออกรายการครั้งนี้ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นมหากาพย์ที่เลวร้ายมาก วันนี้มาด้วยความรู้สึกทั้งเศร้าทั้งโกรธ ต้องการกู้เกียรติศักดิ์ศรีคณะบริหารการบินไทย ที่กำลังเมื่อเกิดเรื่องขึ้นทุกคนก็โยนเผือกร้อนมาให้ คณะบริหารถูกมองว่าเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม
นายกนก ยังระบุด้วยว่า งานใหญ่แบบนี้ วงเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน คณะบริหารฯ ไม่สามารถอนุมัติได้ ต้องอนุมัติโดย ครม.เท่านั้น โดยขั้นตอนการดำเนินงานจัดซื้อเครื่องบินกรณีที่มีปัญหานั้น เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด มีกรรมการบริหารบางรายที่มีความเชี่ยวชาญเป็นประธาน จากนั้นคณะกรรมการบริหารจะเข้าไปดูรายละเอียด เมื่อเรียบร้อยจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการฝ่ายองค์กรและฝ่ายช่างไปพิจารณารวมกันอีกครั้ง เมื่อเสร็จแล้วก็จะเสนอบอร์ดการบินไทยพิจารณา จากนั้นก็จะส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) พิจารณาต่อถ้าไม่มีปัญหา และก็ส่งไปที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในขั้นตอนการเสนอเรื่องรัฐมนตรี ก็มีสิทธิแก้ไขรายละเอียดได้
"อำนาจของคณะบริหาร แทบจะไม่ได้มีอะไร แค่รับรู้รายละเอียด ไม่มีสิทธิไปเปลี่ยนแปลงล็อกอะไร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น คณะบริหารถูกมองว่า มีอำนาจล้นฟ้า แต่ความจริงมันไม่ใช่ อย่างผม แม้แต่จะตั้งรองผอ.ยังทำไม่ได้เลย หรือจะอนุมัติได้วงเงินก็ไม่กี่ร้อยล้าน" นายกนกระบุ
ขณะ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีในยุคนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Watana Muangsook ระบุว่า
หลังจากผมชี้แจงเรื่องที่โรลส์รอยส์จ่ายเงินสินบนจำนวน 254 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนการซื้อเครื่องยนต์ไอพ่นล็อต 3 ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับ ครม. ทักษิณ เพราะคุณสมบัติของเครื่องยนต์เป็นเรื่องทางเทคนิคเฉพาะที่การบินไทยจะเป็นผู้กำหนดและจัดซื้อจัดจ้างเองโดยไม่ต้องเข้า ครม. แต่ยังมีคอลัมน์นิสต์และสำนักข่าวแห่งหนึ่งพยายามโยงเรื่องให้มาเกี่ยวข้องกับพวกผมให้ได้ อ้างว่า ครม. เคยมีมติเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2547 อนุมัติการจัดซื้อฝูงบินจำนวน 14 ลำ ในวงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาท นั้น ข้อเท็จจริง คือ
(1) มติ ครม. ดังกล่าวเป็นการเห็นชอบการจัดซื้อเครื่องบินจากแอร์บัสและโบอิ้งตามข้อเสนอของการบินไทย เหตุที่ต้องเข้า ครม. เพราะเป็นวงเงินสูงถึง 96,355 ล้านบาท การบินไทยน่าจะใช้เงินกู้ที่รัฐบาลต้องเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะจึงต้องเสนอเรื่องให้ ครม. เห็นชอบ (2) ส่วนสินบนเป็นเรื่องที่การบินไทยสั่งซื้อเครื่องยนต์ไอพ่น ล็อต 3 ของโรลส์รอยส์ และ (3) แผนการที่จะซื้อเครื่องบินแบบใหน รุ่นอะไร จำนวนกี่ลำ และจะใช้เครื่องยนต์ของใครจึงจะเหมาะกับภารกิจและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด เป็นเรื่องทางเทคนิคที่การบินไทยพิจารณาเองมาโดยตลอด
ผมเห็นด้วยที่สังคมจะช่วยกันตรวจสอบเรื่องการทุจริต แต่จะต้องอยู่บนข้อเท็จจริงและมีความเป็นกลาง เรื่องสินบนมีการจ่ายรวม 3 ครั้ง คือครั้งที่ 1 ปี 2534-2535 จำนวน 663 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ปี 2535-2540 จำนวน 336 ล้านบาท และครั้งที่ 3 ปี 2547-2548 จำนวน 254 ล้านบาท เหตุที่ผมชี้แจงเพียงครั้งที่ 3 เพราะเกี่ยวข้องกับผมเพียงแค่นี้และถือเป็นมารยาทที่จะไม่ไปพาดพิงถึงคนอื่น การบินไทยเป็นองค์กรที่เข้มแข็งเห็นได้จากการออกมาเป่านกหวีดกู้ชาติครั้งล่าสุด ผมจึงเชื่อว่าจะหาคนที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนได้ไม่ยาก ส่วนที่บอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับพวกผมก็คือการพูดความจริงไม่ได้กลัวการตรวจสอบ เพราะคนที่มาจากประชาชนพร้อมเสมอที่จะให้มีการตรวจสอบและไม่เคยนิรโทษกรรมตัวเองหนีความผิดครับ
อ่านประกอบ :
เจอแล้ว!ปตท.จัดซื้อ ‘โรลส์รอยซ์’ 7 สัญญารวด 254.5 ล. ช่วง 3 ปี- บ.คนไทยเอี่ยว
ถก ยธ.สหรัฐฯสัปดาห์หน้า-ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานทางการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
สั่งคมนาคมเร่งสอบสินบนโรลส์-รอยซ์! ‘บิ๊กตู่’ย้อนหาว่า รบ.โกง ไหนคดีในศาล
ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"
แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ)
หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ
เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง
ได้ชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตั้งอนุฯสอบทันที! ป.ป.ช.ขีดเส้น ‘บินไทย-ปตท.’ต้องส่งข้อมูลสัปดาห์นี้
จำกัดประเภทเครื่องยนต์!เปิดมติ ครม. ยุค รสช.ไฟเขียวซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม
เทียบชัดๆ บันทึกการบินไทย-ผลสอบSFO จุดเริ่มต้นสินบนโรลส์รอยส์ก้อนแรก?
บันทึกลับบินไทยชิ้น2 อนุมัติเปลี่ยนรุ่นโรลส์รอยส์ T-875 ช่วงรอยต่อสินบนก้อน1-2
บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์