ผบช.ปส.หนุนใช้ ‘เมทแอมเฟตามีน’ บำบัดผู้ติดยา-เข้าหารือ รมว.ยุติธรรม 22 มิ.ย.
ผบช.ปส.เเจงเเนวคิดรัฐยกเลิก 'เมทเเอมเฟตามีน' พ้นบัญชียาเสพติด ประเภท 1 เพื่อใช้บำบัดผู้ติดยา หลังพบที่ผ่านมา 'ล้มเหลว' ยันหลายประเทศประสบความสำเร็จ ส่วนนโยบายปราบปรามยาบ้ายังมีเหมือนเดิม ด้านกรณ์ จาติกวณิช โพสต์เฟซบุ๊ก ชม พล.อ.ไพบูลย์ กล้าคิด
กรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เตรียมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีน ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบของยาบ้า ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยบางส่วนกังวลว่าปัญหายาเสพติดจะกลับมาระบาดมากขึ้น
พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สังคมกำลังเข้าใจผิดในสิ่งที่ พล.อ.ไพบูลย์ ต้องการนำเสนอ ทั้งที่เราไม่เคยมีนโยบายลดการป้องกันปราบปรามยาเสพติดเลย แต่แนวคิดในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 นั้น เพราะต้องการนำมาใช้ในกระบวนการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันพบว่า ล้มเหลว เนื่องจากผู้เคยผ่านการบำบัดหลายคน กลับไปเสพยาอีก จึงมีการพูดคุยปรึกษากัน
(อ่านประกอบ:ตัวเลขสูงขนาดไหน ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ-สังคม จากนโยบายยาเสพติด 17 ปี)
“กระทรวงสาธารณสุขในต่างประเทศใช้เมทแอมเฟตามีนบำบัดผู้ป่วยติดยา อย่างเช่นโปรตุเกส ออสเตรเลีย ที่ประสบความสำเร็จ” ผบช.ปส.กล่าว และว่า สมัยก่อน สารมอร์ฟีน เคยเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เช่นกัน แต่ภายหลังได้ยกเลิกและใช้ในการรักษา
พล.ต.ท.เรวัช ยังกล่าวว่า เราไม่ได้นำเม็ดยาบ้าหรือเม็ดเมทแอมเฟตามีนมาให้ผู้ติดยากินฟรี แต่จะแพทย์จะต้องวิเคราะห์ วิจัย โดยอาจนำมาสกัดเป็นยาน้ำฉีดผ่านเข้าร่างกายทางสายน้ำเกลือ เพื่อทำการบำบัด ทั้งนี้ ในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 จะเข้าพบ พล.อ.ไพบูลย์ เพื่อหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij ระบุถึงแนวคิดของ พล.อ.ไพบูลย์ ว่า ชอบความกล้าคิดของท่านรมต. ยุติธรรมในเรื่องยาบ้า บางคนมองว่าทำไมถึง 'ยอมแพ้' ในการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่มีใครเถียงว่าไม่ดี จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าผู้เสนอแนวคิดที่สุดทันสมัยกลับกลายเป็นอดีตนายทหาร (ซึ่งวันนี้ยังมีไม่กี่ประเทศที่กล้าใช้นโยบายในแนวที่ท่านนำเสนอ)
เรื่องนี่จริง ๆ แล้วยังคงต้องคุยกันอีกในรายละเอียด และสุดท้ายจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ไม่แน่ แต่สนับสนุนให้มีการศึกษาและทดลอง เพราะเราฆ่าตัดตอนก็แล้ว จับคนเป็นหมื่นเป็นแสนเข้าคุกก็แล้ว วันนี้ปัญหายาเสพติดกลับแย่ลง น่าคิดจริงๆว่าถ้ายาเสพติดไม่มีราคา ทำให้การค้ายาไม่มีกำไร ปัญหาสังคมจะมากขึ้นหรือลดลง ลองกล้าคิดกันสักนิดดีแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้เมทแอมเฟตามีนเคยเป็นวัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)วัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2518 แต่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 135 พ.ศ.2539 กำหนดให้ แอมเฟตามีน (Amphetamine) และเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) เป็นยาเสพติดประเภท 1 เช่นเดียวกับ เฮโรฮีน หากผู้ให้ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก ตั้งแต่ปริมาณ 100 กรัม หรือประมาณ 2,000 เม็ดขึ้นไป ต้องระวางโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 (2).
อ่านประกอบ:ค้นงานวิจัย รื้อมุมมอง ‘ยาเสพติด’ ด้วยความหมายใหม่
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ
ภาพประกอบ:พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร เว็บไซต์คมชัดลึก